แผน PDP ถือเป็นแผนแม่บทในการจัดหาและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะกำหนดเป็นแผนระยะยาวราว 15-20 ปี วันนี้อาจเป็นวาระร้อนที่ภาครัฐอาจต้องเร่ง ‘ปัดฝุ่น’ เขย่าแผนให้สะเด็ดน้ำ เนื่องจากถนนทุกสายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ทว่าการที่จะกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงแต่ละประเภทต้องผ่านความคิดเห็น การประชาพิจารณ์ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ให้ครบทุกมิติ!
วันนี้ (6 มิถุนายน) ที่กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กางไทม์ไลน์ เร่งผลักดันแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan: PDP 2024) และจะประชาพิจารณ์ในวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อนำความเห็นหลายๆ ฝ่ายเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกันยายนนี้
โดยเบื้องต้นจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 51% เพิ่มกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ถึง 30% มากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งควบคุมค่าไฟเฉลี่ยของประชาชนไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย
เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 51% แสงอาทิตย์มากสุด 30%
วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมประชาพิจารณ์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) ซึ่งเบื้องต้นร่างแผน PDP ฉบับใหม่นี้จะแตกต่างไปจากแผนเดิมมากขึ้น
โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเป็น 51% จากแผนเดิม (PDP 2018) อยู่ที่ราวๆ 36% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และในบรรดาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจน อาจให้นำ้หนักไปที่พลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุดถึง 30% ด้วยกำลังผลิต 20,000 เมกะวัตต์ โดยแผนดังกล่าวกำหนดภายใต้กรอบประมาณการเศรษฐกิจ GDP 3.1% ซึ่งคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงปลายแผนในปี 2580 จะอยู่ที่ระดับ 55,000-56,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ราว 36,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้แผน PDP ฉบับใหม่นี้จะกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ราวๆ 30-40% ในปี 2573 และตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ฝันใหญ่ของไทยและฟิลิปปินส์… ทำไมถึงต้องเลือกกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งในรอบหลายสิบปี
- ส่องค่าไฟไทยเทียบเพื่อนบ้าน ปี 2024 ไทยอยู่ตรงไหน สัดส่วนผลิตไฟฟ้ามาจากไหนบ้าง
- ‘เศรษฐา’ รับปากขุดขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- สั่ง ปตท. ศึกษาธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจะต้องพิจารณาความต้องการใช้เป็นรายภาค โดยภาคตะวันออกนั้นเป็นภาคที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุด ซึ่งมีการใช้ค่อนข้างเยอะ ส่วนภาคใต้และภาคเหนือยังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอความต้องการใช้
เพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ และไฮโดรเจน
อีกทั้งจะบรรจุกำลังการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ขนาด 600 เมกะวัตต์ และการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในก๊าซธรรมชาติ ในสัดส่วนการใช้ 5% ของการใช้ก๊าซทั้งหมดเข้าไปด้วย
ส่วนการกำหนดสำรองไฟฟ้าของประเทศจะใช้เกณฑ์โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง มาแทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)
“ที่สำคัญแผน PDP 2024 นี้ เราจะพยายามรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้เกิน 4 บาทต่อหน่วย จากแผน PDP เดิมที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เข้ามามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นไปบ้าง ต้องมาระดมความคิดเห็นกันทุกฝ่าย” วีรพัฒน์กล่าว
ยังไม่มีแผนนำก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาอยู่ในแผน PDP 2024
วีรพัฒน์ระบุอีกว่า สำหรับแผนก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) เบื้องต้นคาดว่า ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติจะยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการใช้ก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าเริ่มลดลงและหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อีกทั้งการใช้ก๊าซสำหรับยานยนต์ (NGV) ก็ลดลง สวนทางการก๊าซภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากก๊าซถือเป็นพลังงานสะอาดที่ผู้ผลิตประกอบการหันมาให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น แม้ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง แต่อนาคตอาจมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทนมากขึ้น
วีรพัฒน์ระบุอีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนำแผนการผลิตไฟฟ้าจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาบรรจุในแผน PDP 2024 เนื่องจากต้องใช้เวลาพิจารณาระยะยาว
แผน PDP สำคัญอย่างไร ทำไมคนไทยต้องรู้
ระยะหลัง 2-3 ปี รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีแผนผลักดันแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ประกอบไปด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2567-2580)
- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
- แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)
- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
หนึ่งในนั้นคือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan หรือ PDP 2024) ฉบับนี้ผ่านการหารือมาแล้วหลายครั้ง และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแผนล่าช้าจากหลายๆ ปัจจัย และการจะกำหนดสัดส่วนใดๆ นั้นต้องผ่านการประชาพิจารณ์ เหตุผลหลักๆ ก็เพราะมีผลต่อการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะพิจารณาภายใต้กรอบ 3 ด้านหลัก
- เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security)
- ด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy)
- ด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) และยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ณ วันนี้ แผน PDP 2024 ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) รวมไปถึงจะมีโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้นในไทยด้วย