×

ต่างชาติ ‘จับตา’ ปมรัฐบาลพยายามคุมแบงก์ชาติ หวั่นกดดันเงินบาททรุด

06.06.2024
  • LOADING...

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ หลังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลไทยพยายามคุมแบงก์ชาติผ่านการส่งคนนั่งตำแหน่งบอร์ด ธปท. เงินบาทก็อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เหตุหวั่นรัฐบาลแทรกแซงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมองว่า นักลงทุนต่างชาติยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยมากกว่าความขัดแย้งดังกล่าว

 

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีกระแสข่าวที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่ารัฐบาลไทยพยายามหาทางควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากขึ้น ได้ส่งผลกดดันให้ค่าเงินบาทในวันเดียวกัน ช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. อ่อนค่าลงทันทีจากระดับ 36.50 บาท อ่อนค่าไปสู่ระดับ 36.70 บาท เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติประเทศมีความกังวลและตกใจจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ว่าอาจเป็นปัจจัยที่จะเข้าสร้างแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการลดดอกเบี้ยนโยบาย

 

อย่างไรก็ดีความเห็นจากตัวแทนของรัฐบาลไทยที่ออกมายังไม่ได้ออกมายืนยันข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มคลายกังวลลง ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มทรงตัวได้ 

 

ทั้งนี้ยังต้องติดตามต่อว่า ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ ธปท. คนปัจจุบัน กำลังจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายนนี้ จะมีการแต่งตั้งบุคคลใดเข้ามารับตำแหน่งแทน

 

“เรื่องความเห็นของนโยบายการเงินที่ไม่ตรงกันระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลก็มี Noise มาเรื่อยๆ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่ารัฐบาลต้องการขยายกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อ ล่าสุดก็เรื่องการตั้งประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนใหญ่ไทม์ไลน์น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้” ดร.ทิม กล่าว

 

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (YTD) เงินบาทอ่อนค่าไปแล้วกว่า 6.7% เคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 36.4236.60 บาทต่อดอลลาร์ในวันนี้ (6 มิถุนายน)

 

ตลท. เชื่อ ต่างชาติเทน้ำหนักไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ส่วน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มองว่า ความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของภาครัฐบาลกับ ธปท. สถานการณ์ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2.5% ถือว่าต่ำมาก ดังนั้นทั้งการปรับขึ้นหรือลงจากปัจจุบัน มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นที่มากนัก หากเปรียบกับในช่วงที่มีภาวะดอกเบี้ยที่สูง 

 

ดังนั้นความขัดแย้งหรือความเห็นที่ไม่ตรงของรัฐบาลกับ ธปท. ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจะมีน้ำหนักที่น้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในช่วงแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน Bloomberg รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ฝ่ายบริหารของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังหารือถึงแนวทางที่จะใช้อำนาจควบคุมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากขึ้น หลังก่อนหน้านี้มีความเห็นไม่ตรงกันต่อนโยบายเศรษฐกิจหลายนโยบาย ตัวอย่างเช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

โดยหนึ่งในแผนการคือ การนำคนที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยเข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแม้ตำแหน่งนี้จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่ก็สามารถประเมินการทำงานของผู้ว่าการ ธปท. รวมถึงสามารถเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินได้

 

เนื่องจาก ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังจะหมดวาระในเดือนกันยายนนี้ หลังได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกันที่แต่งตั้ง เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน ที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนกันยายนปี 2568

 

Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตนว่า กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในการพิจารณารับตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.

 

ขณะที่ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวกับ Bloomberg ว่าไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องนี้ได้ เนื่องจากไม่ทราบถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่วนกิตติรัตน์และศุภวุฒิก็ไม่ได้ตอบรับการขอความเห็นในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้

 

แบงก์ชาติปัดตอบปมสรรหาประธานบอร์ด

 

ขณะที่วันนี้ (6 มิถุนายน) รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในงาน UNLOCK ESG VALUE FOR BUSINESS SUCCESS ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย เกี่ยวกับกระบวนการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ   

 

โดยระบุว่า ตนไม่สามารถตอบเรื่องนี้ได้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนของกระทรวงการคลังที่ต้องเริ่มกระบวนการสรรหา ซึ่งขั้นตอนนี้ ธปท. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X