ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งานออกแบบตกแต่งบ้านในเมืองไทยถือว่าหมุนเวียนเปลี่ยนไปเร็วมาก สิ่งที่มาพร้อมกับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านคือ การแข่งขันกันทั้งรูปลักษณ์ ราคา และการนำเสนอ ซึ่งเมื่อตลาดขยาย มีของขายมากขึ้น ประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้เราสามารถสนุกกับการแต่งบ้านได้เหมือนกับการแต่งตัว เลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายพอๆ กับซื้อนาฬิกาหรือรองเท้า
เมื่อกระบวนการคิดเปลี่ยน จึงนำไปสู่พฤติกรรมการซื้อและวิธีการตกแต่งที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ลองมาดูกันดีกว่าว่าเมื่อเกิดไอเดียในการออกแบบเหล่านี้ขึ้นมา มันทำให้มีอะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาบ้าง เผื่อจะเก็บไว้เป็นไอเดียตั้งต้นสำหรับการแต่งบ้านของคุณ
1. Small Living
ความหมาย – พื้นที่เล็ก แคบ หรือค่อนข้างจำกัด ส่วนมากใช้นิยามการอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม
สิ่งที่เกิดขึ้น – ผู้อาศัยอยู่ในบ้านขนาดมาตรฐาน แต่ห้องหรือพื้นที่ส่วนตัวอาจลดขนาดลงมา เป็นการลดขนาดเพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตจริง เช่น คุณไม่จำเป็นต้องใช้เตียงขนาดใหญ่ที่สุด อาจแค่ควีนไซส์ หรือสั่งทำไซส์พิเศษที่เหมาะกับห้อง โซฟาแอลเชป (L-Shape) ในห้องนั่งเล่นอาจกลายเป็นแค่โซฟา 2 ที่นั่ง แล้วมีเก้าอี้แบบพับซ้อนได้มาช่วยเสริม
2. Multifunction
ความหมาย – เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงให้ใช้งานได้มากขึ้น เช่น เตียงที่พับเก็บเป็นโต๊ะได้
สิ่งที่เกิดขึ้น – แทนที่จะเลือกเฟอร์นิเจอร์แบบทรานส์ฟอร์เมอร์ คุณก็เลือกเฟอร์นิเจอร์หน้าตาปกติแต่ปรับวิธีการใช้ เช่น โต๊ะใหญ่ๆ ที่เป็นทั้งที่กินข้าว ทำงาน นั่งประชุม เดย์เบดแบบมีพนักสำหรับนั่งพักผ่อนโดยไม่ต้องยก ต้องพับให้เหนื่อย หรือชั้นวางของโล่งๆ ที่ใช้วาง ใช้โชว์ และใช้กั้นพื้นที่ห้องในคราวเดียว
3. Private and Public Spaces
ความหมาย – การแยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนกลางอย่างชัดเจน แบ่งห้องและใช้งานตามแบบแผน
สิ่งที่เกิดขึ้น – แม้ทุกคนจะมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ก็พยายามสร้างกิจกรรมระหว่างกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน คอนโดมิเนียมที่เป็นทั้งห้องนอน ห้องทำงาน ห้องกินข้าว ทาวน์เฮาส์ที่ใช้นอนหลับพักผ่อนบนชั้นสอง ในขณะเดียวกันก็เปิดบริษัทเล็กๆ ไว้ต้อนรับลูกค้าด้านล่าง
4.Craftsmanship
ความหมาย – งานพื้นถิ่น งานจักสาน อาจใช้ได้กับบางพื้นที่หรือสไตล์ตกแต่งบางแบบ
สิ่งที่เกิดขึ้น – ต้องชื่นชมดีไซเนอร์รุ่นใหม่หลายคนที่เริ่มสนใจงานฝีมือมากขึ้น พวกเขาศึกษาเรื่องวัสดุ กรรมวิธี เทคนิค มาผสมผสานกับความต้องการของตลาดทำให้ craftsmanship มีมิติมากกว่าแค่ของพื้นถิ่น คุณจะเห็นโคมไฟลายปักมือที่ทำให้ห้องนอนโมเดิร์นสีขาวดูเด่นขึ้น หรือโซฟาหวายแนวทรอปิคัลที่กลายเป็นที่นั่งเสริมสำหรับโต๊ะทำงานตัวยาว
5. DIY (Do It Yourself)
ความหมาย – งานประดิดประดอยที่ใช้ทั้งเวลาและแรงงาน อาจดูไม่คุ้มค่าที่ต้องลงมือทำ
สิ่งที่เกิดขึ้น – คุณจะมีโอกาสเลือก หยิบจับ ปรับ ขยับ ทำให้มันเหมาะกับคุณและพื้นที่ของคุณจริงๆ ถึงแม้มันต้องใช้ทั้งแรงและเวลา แต่คุณจะสนุกกับมันในขณะที่ลงมือทำ แต่หากถามว่าเสียเงินน้อยกว่าซื้อของสำเร็จรูปไหม…อาจจะไม่ แต่มันมีคุณค่าและคุ้มกับทุกบาทที่คุณเสียไปเลยล่ะ
6. ECO Friendly
ความหมาย – งานออกแบบที่ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นหัวข้อที่ดูไกลตัวและดูยิ่งใหญ่
สิ่งที่เกิดขึ้น – เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นหัวข้อที่อาจฟังดูยิ่งใหญ่และไกลตัว แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ ECO Friendly ถูกทำให้ใกล้ตัวมากขึ้นด้วยตัวเลือกต่างๆ คุณไม่จำเป็นต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถ้าคุณยังไม่พร้อม แต่คุณเลือกปลูกไม้เลื้อยเกาะกำแพงเพื่อลดอุณหภูมิให้ตัวบ้านได้ หรือลองปลูกไม้ใหญ่ไว้ใช้ร่มเงา กรองเสียงกรองฝุ่นก็ช่วยให้คุณได้ใช้ช่องเปิดของบ้านเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติมากขึ้น ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟหรือเครื่องปรับอากาศ
7. Modular System
ความหมาย – การออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำมาประกอบ หรือใช้งานได้สะดวก
สิ่งที่เกิดขึ้น – คุณอาจนึกถึงบ้านถอดประกอบหรือบ้านน็อกดาวน์ แต่จริงๆ โมดูลาร์แทรกซึมอยู่ในทุกระบบการออกแบบ อย่างเฟอร์นิเจอร์ในแพ็กเกจแบนๆ ที่ให้คุณยกกลับมาประกอบเองที่บ้านนั่นก็ใช่ ประโยชน์ของมันอยู่ที่การประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าขนส่ง ส่งผลให้ราคาสินค้าลดลงด้วย
8. Aesthetic Senses
ความหมาย – สุนทรียศาสตร์หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยความงามอันจะสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก
สิ่งที่เกิดขึ้น – สุนทรียศาสตร์ตั้งอยู่บนหลักการของสัดส่วน คุณคงไม่ทาสีผนังด้วยสีขาวครึ่งหนึ่งหรือสีดำครึ่งหนึ่ง แต่คุณอาจจะผสมให้เป็นสีเทา ทาสับหว่างขาว เทา ดำ หรือวางแจกันดอกไม้เพื่อช่วยให้มุมต่างๆ ดูนุ่มนวล ไม่แข็งทื่อ สุนทรียศาสตร์จึงเป็นเรื่องประสบการณ์ คลังข้อมูลที่คุณจะดึงออกมาใช้โดยอัตโนมัติ เพื่อหาจุดที่สมดุลสำหรับตัวเองมากที่สุด
9. Ergonomic Design
ความหมาย – งานออกแบบที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคน สิ่งของ และสถานที่ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน
สิ่งที่เกิดขึ้น – นิยาม ergonomic อาจดูเป็นสิ่งที่เข้าถึงยาก แต่จริงๆ มันใกล้ตัวเรามาก การที่คุณนั่งบนเก้าอี้ทำงานที่ไม่ได้ออกแบบมาตามหลัก ergonomic วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย สามารถทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปได้ง่ายๆ เลยนะ ต้องขอบคุณดีไซเนอร์ที่ออกแบบงานโดยยึดหลักนี้ และลงทุนกับเฟอร์นิเจอร์ที่จะถนอมสุขภาพของคุณไว้เถอะ มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
10. Context
ความหมาย – สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงเมื่อทำการออกแบบ
สิ่งที่เกิดขึ้น – ในอดีต context หรือบริบทนั้นชวนให้นึกถึงองค์รวมของงานออกแบบในแง่รูปลักษณ์ แต่ปัจจุบันทั้งนักออกแบบ ผู้ผลิต และเจ้าของบ้าน ต่างคำนึงถึงบริบทแบบรอบด้าน เช่น ถ้าคุณอยากสร้างบ้านที่ต่างจังหวัด คุณก็คงไม่แค่ออกแบบบ้านไม้ แต่คุณจะนึกถึงว่าไม้ที่ใช้ควรเป็นไม้และวัสดุในท้องถิ่น เพื่อลดการขนส่ง จ้างช่างท้องถิ่นเพื่อลดค่าแรงและสร้างรายได้ หรือออกแบบและสร้างตามทิศทางลมและแดดเพื่อลดปริมาณการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นการได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทางจนสุดปลายทาง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อออกแบบโดยคำนึงถึงบริบททั้งหมด
Photo: Shutterstock/IKEA