เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมรับฟังข้อมูลและรับมอบเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชา จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
สมศักดิ์กล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการที่ได้รับในวันนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของกัญชาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ทั้งในเรื่องของพัฒนาการทางสมอง ความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ลดลง ที่น่ากังวลคือ พบเด็กที่ติดเฮโรอีนประมาณ 40% มีจุดเริ่มต้นมาจากการเสพกัญชา
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เสพกัญชาจะมีอาการหลงผิด วิตกกังวล หวาดระแวง เกิดภาพหลอน ซึมเศร้า และมีความคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น
ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ในช่วงปี 2562-2564 ก่อนมีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกัญชา 3.2-3.8 พันล้านบาท แต่หลังปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2.1 หมื่นล้านบาท เป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น 5-6 เท่า
“ที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มองให้รอบด้านครอบคลุมถึงความเสียหายทั้งหมด ข้อมูลในวันนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ช่วยให้กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาตัดสินใจต่อไป สำหรับผู้ที่มีมุมมองต่างจากนี้ หากต้องการที่จะนำเสนอข้อมูลก็พร้อมรับฟัง เพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อคิดเห็นที่รอบด้าน” สมศักดิ์กล่าว
ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พยายามที่จะยกเลิกนโยบายกัญชาเสรีที่เป็นหนึ่งในจุดขายของไทย โดยจะจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกครั้ง และจำกัดการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น
กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ‘ประเภท 5’ อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การครอบครองและบริโภคสมุนไพรนี้เป็นความผิดทางอาญา
อ้างอิง: