ท่ามกลางกระแสโลก ภูมิศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามการค้า (Trade War) ที่เข้มข้นมากขึ้น ตลอดจนการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจเป็นโจทย์ที่ไทยจะต้องแสดงท่าทีและจุดยืนในการพิจารณารับข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยจะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ในปลายเดือนตุลาคม 2567
นี่จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายใต้ความร่วมมือ 3 เสา ดังนี้
- การเมืองและความมั่นคง
- เศรษฐกิจและการเงิน
- ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ
ท่าทีของรัฐบาลในวันนี้จึงทำให้นานาประเทศจับตามายังไทย เพราะในแง่ของการค้า วัตถุประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS นั้น แต่ละประเทศต้องการรักษาสมดุลของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว
BRICS คืออะไร ทำไมหลายประเทศสนใจเข้าร่วม?
THE STANDARD WEALTH สรุปที่มาของ BRICS ให้เข้าใจง่ายๆ โดยตั้งต้นที่คำว่า BRIC เป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ
- บราซิล
- รัสเซีย
- อินเดีย
- จีน
ศัพท์นี้ถูกบัญญัติขึ้นโดย จิม โอนีลล์ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจาก Goldman Sachs
ซึ่งคำว่า BRIC ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการ ‘ย้ายอำนาจเศรษฐกิจโลก’ จากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
หากพูดถึงขนาดของประเทศทั้ง 4 ประเทศ มีพื้นที่รวมกันมากกว่า 1 ใน 4 และมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของประชากรโลก มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้แม้ว่ากลุ่ม BRIC ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจหรือสมาคมการค้า FTA อย่างเป็นทางการเหมือนสหภาพยุโรป (EU) แต่ก็มีข้อบ่งชี้บางอย่างว่า กลุ่ม BRIC พยายามที่จะสร้างสมาคมหรือพันธมิตรทาง การเมือง รวมถึงเปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตให้เป็นอำนาจการเมืองระดับภูมิภาค
ต่อมาปี 2553 ประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วม จึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น BRICS ซึ่งอักษรย่อ ‘S’ ที่เพิ่มต่อท้ายเข้ามาหมายถึง South Africa หรือแอฟริกาใต้นั่นเอง
กระทั่งในช่วงต้นปี เดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่ม BRICS ก็ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการประกอบด้วย อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 9 ประเทศ (ซาอุดีอาระเบียยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่อาร์เจนตินาขอถอนตัว)
นาเลดี แพนดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ปีนี้แอลจีเรีย, บาห์เรน, บังกลาเทศ, เบลารุส, โบลิเวีย, เวเนซุเอลา, เวียดนาม, คิวบา, ฮอนดูรัส, อินโดนีเซีย, คาซัคสถาน, คูเวต และประเทศอื่นๆ ได้สมัครเข้าร่วม BRICS
และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งหากได้เข้าร่วมขบวนนี้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน!
BRICS มาพร้อมขั้วอำนาจใหม่ มีบทบาทต่อการค้าโลก
จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า BRICS มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 36% ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรประมาณ 3.5 พันล้านคน หรือ 45% ของทั้งหมดของโลก นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มที่ครองสัดส่วน 44% ของการผลิตน้ำมันของโลก
“ที่สำคัญมีการประเมินว่า ในแง่ของอำนาจซื้อ (PPP) เทียบเท่าหรือมากกว่า 30% กว่า G7”
ดิลมา รูส์เซฟฟ์ หัวหน้าธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) บอกอีกว่า BRICS ตั้งเป้าที่จะแซงหน้า G7 ในด้าน GDP โลกในอีก 4 ปีข้างหน้า
รายงานบทวิเคราะห์ยังระบุอีกว่า การเพิ่มสมาชิกของกลุ่ม BRICS เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์และหมุดหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะทำให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น โดย GDP รวมจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก จากเดิมอยู่ที่ 25.8% และมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ระดับ 10.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 21.8% ของการค้าโลก
นอกจากนี้คาดว่าจะมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflow) มีอัตราการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของ FDI โลก ด้วยสัดส่วน 24.3%
ดังนั้นจากบทบาทที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกของ BRICS ทำให้คาดว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกไม่มากก็น้อย
การขยายจำนวนประเทศสมาชิกของ BRICS ไม่เพียงเพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น De-Dollarization ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ หันมาพึ่งพาเงินหยวน ทั้งยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างขั้วอำนาจเดิมกับขั้วอำนาจใหม่บนเวทีโลกในอีกทางหนึ่ง
BRICS เปรียบดังสัญลักษณ์ของกลุ่มตลาดใหม่
เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Trade War และ Tech War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หรือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน, รัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งในปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง ดังนั้นการที่ BRICS สร้างเครือข่ายพันธมิตรให้ขยายวงกว้างมากขึ้น จะทำให้กลุ่มขั้วอำนาจใหม่เข้มแข็งขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และลดการพึ่งพาขั้วอำนาจเดิมลง
โดยเฉพาะสมาชิกใน BRICS อย่างจีน อินเดีย และบราซิล ที่ ณ วันนี้ กลายเป็น ‘3 ใน 5 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียไปแล้ว’
BRICS จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของกลุ่มตลาดใหม่ในการเพิ่มอำนาจต่อรองและถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตกอย่างมีนัยสำคัญ!
BRICS สำคัญกับการค้าไทย?
ในแง่การค้า การรวมกลุ่มของ BRICS อาจส่งผลกระทบต่อไทยทั้งในเชิงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ควบคู่กับความท้าทายที่ตามมา แม้แต่ในกลุ่มอาเซียนเองก็เคยหารือว่าขณะนี้อาเซียนก็ควรให้ความสำคัญและแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS ให้มากขึ้น โดยควรจะกำหนดประเด็นและแนวทางความร่วมมือให้มีความชัดเจน รวมถึงสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่ม BRICS
Exim Bank มองว่า โอกาสที่ไทยจะได้รับจาก BRICS มีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่หลากหลายขึ้นจากการเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ๆ เพราะอย่าลืมว่า BRICS มีหลายประเทศที่ตลาดมีขนาดใหญ่และเศรษฐกิจขยายตัวสูง อาจนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจและการค้าที่หลากหลายขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ข้อมูลว่า BRICS เป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจแบบกว้าง ไม่มีข้อกำหนดการเปิดตลาด และสิทธิประโยชน์เหมือน FTA ทำให้เมื่อไทยเข้าร่วมกลุ่มจะถือเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกแง่มุมหนึ่ง
ในแง่ของการค้ากับไทย ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีบทบาทต่อการค้าของไทยถึง 22.8% ของการค้ารวมไทยทั้งหมด ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (G7) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 26.2% ของการค้ารวมไทย
สำหรับมุมมองจากภาคเอกชนของไทย ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เพราะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีทั้งประเทศในแถบเอเชีย เอเชียใต้ และแอฟริกา ถือเป็นโอกาสของไทยในการเปิดตลาดใหม่
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งระหว่างนี้ไทยต้อง ‘ทำการบ้าน’ หนักขึ้นก่อนจะถึงเดือนตุลาคม ซึ่งท้ายที่สุดจะพิจารณาให้ไทยร่วมขบวนหรือไม่เป็นประเด็นที่ชวนติดตามต่อไป
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Thailand-aims-to-become-first-Southeast-Asian-BRICS-member#:~:text=The%20BRICS%20group%20is%20centered,plans%20to%20submit%20the%20application
- https://www.azerbaycan24.com/en/brics-receives-new-membership-bid/
- https://www.oie.go.th/assets/portals/1/fileups/2/files/Semi-academic%20articles/semi-BRICS.pdf
- https://kmc.exim.go.th/detail/talk-with-exim/20240227095614