×

รัฐบาลจัดเก็บรายได้ ‘พลาดเป้า’ เฉียด 4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 จับตาภาษีรถยนต์ติดลบต่อเนื่องตามยอดขายในประเทศ

29.05.2024
  • LOADING...

กระทรวงการคลังเผย รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้าเฉียด 4 หมื่นล้านบาท ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 จับตาการจัดเก็บ ภาษีรถยนต์ ติดลบหนักต่อเนื่อง! ตามยอดขายรถในประเทศที่ทรุด 11 เดือนติด สะท้อนปัญหาในตลาดรถยนต์อาจกำลังส่งผลกระทบลามด้วย

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – เมษายน 2567)

 

พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,386,040 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 39,102 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2.7%

 

โดยมีเหตุผลมาจากกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับการจัดเก็บ ภาษีรถยนต์ ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกรมสรรพสามิตพบว่า ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567 (6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567) จัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ 40,002.61 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 13,671.19 ล้านบาท หรือคิดเป็น -25.47%

 

 

ยอดขายรถยนต์ดิ่ง ลามการคลังประเทศ

 

โดยกระทรวงการคลังยังเผยอีกว่า เหตุผลที่การจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่สถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น รวมไปถึงมาตรการลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่างๆ 

 

ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์เป็นภาษีที่ต้องเสียตอนออกจากโรงอุตสาหกรรม หรือเก็บจากการนำเข้า โดยการจัดเก็บแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป และรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ หรือรถยนต์ที่ดัดแปลงภายในประเทศ แต่ไม่รวมถึงการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี (ป้ายวงกลม)

 

เปิดข้อมูลการจัดเก็บภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิตย้อนหลัง

  • เมษายน 2567: 4,660.32 ล้านบาท ลดลง 46.31%YoY
  • มีนาคม 2567: 6,305.74 ล้านบาท ลดลง 31.26%YoY
  • กุมภาพันธ์ 2567: 5,100.69 ล้านบาท ลดลง 38.73%YoY
  • มกราคม 2567: 5,343.86 ล้านบาท ลดลง 35.31%YoY
  • ธันวาคม 2566: 7,364.73 ล้านบาท ลดลง 24.98%YoY

 

ยอดขายรถยนต์ไทยลดลง 11 เดือนติด

 

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์จาก สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2567 ยอดขายรถยนต์ในไทยมีจำนวน 46,738 คัน ลดลง 21.49% นับเป็นการลดลงต่อเนื่อง 11 เดือนติดต่อกันแล้ว  

 

อีกเหตุผลจัดเก็บรายได้ต่ำ เหตุมาจาก ‘ฐานสูง’ เป็นพิเศษในปีก่อน

 

อย่างไรก็ดี พรชัยยังชี้แจงว่า รายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเวลาดังกล่าวจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท

 

ดังนั้น หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5%

 

โดยรายได้พิเศษในปีที่แล้วมาจากส่วนราชการอื่นที่มีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่น ขณะที่กรมศุลกากรก็ได้รับการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี (อ้างอิง: แถลงข่าวผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566)

 

ส.อ.ท. วอนรัฐบาลออกแคมเปญกระตุ้นยอดขายรถสันดาป

 

สุรพงษ์กล่าวอีกว่า “ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90% ด้วย” 

 

เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนไม่ต่างกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น 

 

“อีกทั้งหากรัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสามารถเก็บภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ก็จะเป็นมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอีกทาง”

 

โดยรัฐบาลควรเร่งหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ จัดเก็บภาษี หาแนวทางชำระหนี้ประชาชนให้มากขึ้น เพราะยอดขายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องในขณะนี้กำลังสะท้อนจากภาวะหนี้ครัวเรือนชัดเจน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X