กระทรวงการต่างประเทศ นำโดย ณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและเมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ในโครงการการทูตเชิงรุกเพื่อประชาชนพื้นที่ชายแดนใต้ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม โดยมีการล่องเรือสำรวจความคืบหน้าโครงการปักปันเขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซียในแม่น้ำโก-ลก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมแผนที่ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการภายใต้คณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมไทย-มาเลเซีย และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในปี 1972
เขตแดนระหว่างไทยและมาเลเซียครอบคลุมจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ของไทย กับรัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ และรัฐกลันตัน ของมาเลเซีย มีความยาวตลอดแนวชายแดนประมาณ 662 กิโลเมตร แบ่งเป็นเขตแดนสันปันน้ำ 556 กิโลเมตร และร่องน้ำลึก 106 กิโลเมตร และมีการปักหลักเขตครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยยึดสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 1909 ในการกำหนดเส้นเขตแดน
ขณะที่การปักปันเขตแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ถือเป็นจุดที่มีความราบรื่นมากที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ชายแดนอื่นๆ แม้จะมีความล่าช้าและใช้เวลานานกว่า 115 ปี จากปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านงบประมาณและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่มีความจำเป็นเพื่อสร้างความชัดเจนด้านความมั่นคง ป้องกันปัญหาอาชญากรรม และเป็นผลประโยชน์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศพร้อมคณะสื่อมวลชนไทย ยังได้ลงพื้นที่พบปะชุมชนชาวสยามในตำบลตุมปัต รัฐกลันตัน ที่วัดพิกุลทองวราราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 700 ปี
โดยรัฐกลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส และไทรบุรี ตกเป็นของมาเลเซียหลังสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 1909 ทำให้ประชาชนเชื้อสายสยามที่อยู่ในดินแดนทั้ง 4 รัฐ กลายเป็นประชากรสัญชาติมาเลเซีย แต่ชุมชนชาวสยามในมาเลเซียยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ ภาษา และวัฒนธรรมประเพณีสยามสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นวัดพิกุลทองวราราม ที่มีการสร้างโรงเรียนสอนภาษาไทยให้ประชาชนตั้งแต่เด็กๆ ทำให้สามารถพูด อ่าน และเขียน ภาษาไทยได้
ในขณะที่คนสยามในมาเลเซียล้วนได้รับสิทธิในฐานะพลเมืองชาวมาเลเซีย ทั้งด้านการศึกษาและสวัสดิการต่างๆ ทำให้พวกเขารักในความเป็นมาเลเซียและมีความภาคภูมิใจในการเป็นคนสยามในมาเลเซีย