วันนี้ (28 พฤษภาคม) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประกาศนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2567-2568 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า นโยบายเป็นไปตามที่ได้ประกาศ คือ 5+5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ แบ่งเป็นนโยบายเร่งรัดคือ
- ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
- ยาเสพติด
- การแพทย์ปฐมภูมิ
- เศรษฐกิจสุขภาพ
- เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ
ส่วนนโยบายสานต่อคือ
- โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์
- สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร
- ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต
- สถานชีวาภิบาล
- ทุกคนปลอดภัย
สมศักดิ์กล่าวว่า การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เป็นนโยบายที่รัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จัดเป็นอีกหนึ่งนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญ ต้องการให้ประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาสามารถรับบริการโรงพยาบาลใกล้ๆ ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกล เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน แต่ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้ไปรักษาโรงพยาบาลอย่างเดียว เพราะรัฐบาลยังมีนโยบายในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เน้นการบริการสุขภาพปฐมภูมิ ใกล้บ้านใกล้ใจ หากอาการไม่รุนแรงสามารถรับยาที่บ้านผ่านระบบการจัดส่งยา ทั้งทางไปรษณีย์และ Health Rider
ที่ผ่านมานโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามไทม์ไลน์ตั้งแต่ระยะที่ 1 เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่, เพชรบุรี, ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ระยะที่ 2 เริ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สิงห์บุรี, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และพังงา และระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มเป็น 6 เขตสุขภาพ จากนั้นระยะที่ 4 ขยายครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพ 100% และกำลังขับเคลื่อนเชื่อมข้อมูลร่วมกับโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอื่นๆ
อีกทั้งหน่วยบริการที่เข้าร่วมยังผ่านเกณฑ์การประเมินโรงพยาบาลอัจฉริยะ 902 แห่ง มีการยืนยันตัวตนของประชาชนหรือ Health ID แล้ว 17 ล้านคน การยืนยันตัวตนของผู้ให้บริการ หรือ Provider ID จำนวน 276,690 คน มีการเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน และ LINE OA หมอพร้อมทั่วประเทศแล้ว 42 ล้านคน แบ่งเป็นจำนวนผู้ใช้งาน LINE OA หมอพร้อมจำนวน 15.6 ล้านคน และแอปพลิเคชันหมอพร้อมอีก 26.4 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีการนัดหมายและดำเนินการบริการระบบการแพทย์ทางไกลและเภสัชกรรมทางไกล แบ่งเป็นหมอพร้อมสเตชัน 61,152 ครั้ง, สอน.บัดดี้ 1,768 ครั้ง และระบบการบันทึกข้อมูล HIS อีก 28,899 ครั้ง ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 96,055 ใบ มีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider 103,319 ออร์เดอร์ในหน่วยบริการที่เข้าร่วมแล้ว 389 แห่ง ซึ่งเกือบ 100% ของผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับดีมาก
ขณะที่การเบิกจ่ายค่าบริการผ่านระบบ Financial Data Hub 192.4 ล้านรายการ เป็นหน่วยบริการที่ส่งข้อมูล 1,299 แห่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาอนุมัติแล้ว 4.3 ล้านรายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มกราคม – 10 พฤษภาคม 2567)
สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลและหน่วยบริการทุกแห่งยกระดับการป้องกันและสร้างความปลอดภัยขั้นสูงสุด รองรับไปสู่การขยายบริการตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่
สมศักดิ์กล่าวว่า ในเรื่องงบประมาณที่ได้รับมานั้น หลายคนอาจกังวลว่าจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องย้ำว่านโยบายนี้ไม่ใช่ส่งเสริมให้คนไปรักษาโรงพยาบาลใหญ่ๆ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลโดยไม่ต้องเดินทางไกล
ดังนั้นนโยบายการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือ เทคโนโลยีในการรักษา เช่น ผ่าตัดวันเดียวไม่ต้องนอนโรงพยาบาล การรับยาใกล้บ้านอย่างร้านยาหรือส่งยาที่บ้านผ่าน Health Rider ที่สำคัญควบคู่กับการส่งเสริมการดูแลระบบสุขภาพปฐมภูมิ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการดูแลครัวเรือนต่างๆ เน้นส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค คนสุขภาพดีก็ไม่ต้องไปรักษาโรงพยาบาลใหญ่ๆ
“สำหรับแผนการขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 3 เป็นไปตามไทม์ไลน์ และจะมีการพัฒนาระบบสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมาก” สมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ภายใต้การนำของรัฐบาลยังให้ความสำคัญนโยบายต่างๆ ตาม 5+5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ อย่างนโยบายการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะแบ่งการบำบัดรักษาฟื้นฟูเป็นกลุ่มอาการสีแดง สีส้ม และสีเขียว ซึ่งสีเขียวมีสัดส่วนที่มากก็จะเป็นการบำบัดร่วมกันผ่านชุมชน เพื่อให้พวกเขามีโอกาสคืนสู่สังคมได้
ส่วนเรื่องกัญชานั้นเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งหมายดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ส่วนนโยบายอื่นๆ อย่างเศรษฐกิจสุขภาพ เป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสุขภาพ ยกระดับบริการขออนุมัติและขออนุญาตผ่าน e-Service เป็นศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง (Medical Hub and Advanced Therapy Medicinal Products: ATMPs) ยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างงานสร้างอาชีพ และจัดตั้งหน่วยงานขับเคลื่อนภารกิจเศรษฐกิจสุขภาพ