แม้ว่าปีนี้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะชะลอ อีกทั้งความท้าทายจากปัจจัยภายนอกกดดัน RATCH หรือราช กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้านบาทลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่อีกกว่า 6 โครงการเข้าพอร์ต อีกทั้งมองหาโอกาสต่อยอดธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน (Non-Power) ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม Wellness หรือเทคโนโลยี Data Center
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทวางงบลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2567-2573 เพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหลายโครงการ แต่คาดว่าปีนี้จะมีความชัดเจน 6 โครงการจากโครงการพลังงานทดแทนการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย กำลังการผลิตรวมราวๆ 550 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ภาพรวมการลงทุนบริษัทยังคงแผนลงทุนก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในประเทศ โดย 70% เน้นไปที่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาด และตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนจาก 26% เป็นไม่ต่ำกว่า 30% ภายในปี 2573 โดยยังคงการลงทุนทั้งในไทย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จากปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ 5,342.95 เมกะวัตต์ คิดเป็น 49% และลงทุนในไทย 5,474.30 เมกะวัตต์ คิดเป็น 51% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลงทุน
นอกจากนี้บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 1,809.96 เมกะวัตต์ คิดเป็น 17% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลงทุนแล้วรวม 10,817.96 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 9,007.29 เมกะวัตต์ คิดเป็น 83%
โดยมีโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้อยู่ที่ 66.36 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอย COD จนถึงปี 2576 ทั้งจากโครงการ Solar Farm โครงการ Ben Tre WF, โครงการรถโมโนเรลสีชมพูส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์ M6&M81, โครงการ Sibundong และ โครงการ Sekong
สำหรับแนวโน้มรายได้ปีนี้ คาดว่าไตรมาส 2 จะมีการเติบโตที่ดีขึ้น จากแรงหนุน 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสาที่ปิดซ่อม และการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Paiton Energy ในอินโดนีเซีย ที่ปิดดีลเรียบร้อยและจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
ดังนั้นคาดว่าจะรับรู้กำไรตามส่วนแบ่งการลงทุนที่ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราว 2,000 ล้านบาทต่อปี
“คาดว่า EBITDA ในปี 2567 เติบโตขึ้นจากปีก่อน ซึ่งปีนี้จะเห็นการลงทุนใหม่ๆ ในโครงการต่างๆ ทั้งโครงการรถไฟฟ้า การลงทุนในโรงพยาบาล โรงไฟฟ้าในเวียดนามที่เข้าซื้อ เริ่มรับรู้ผลการดำเนินงานเข้ามา”
ลงทุนธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน Wellness-Data Center
นิทัศน์กล่าวอีกว่า บริษัทสนใจต่อยอดธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน (Non-Power) มากขึ้น ซึ่งจะขยายการลงทุนครอบคลุมทั้งห่วงโซ่และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โลจิสติกส์ ธุรกิจบริการสุขภาพ (Wellness) เทคโนโลยี / นวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีดักจับกักเก็บคาร์บอน โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน
ทั้งนี้ ราช กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ธุรกิจกลุ่มนี้ 5% ในปี 2570 และมองว่าแม้ว่าจะท้าทายและยาก แต่หากเป็นไปได้ก็จะพยายามเพิ่มให้มากขึ้นในช่วง 2-3 ปี อาจจะเป็น 15% รวมไปมองถึงมองโอกาสการลงทุนของ Data Center
“เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียว เทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนไทย แม้มีเงื่อนไขคือพลังงานอย่างไฟฟ้าต้องเป็นสีเขียว แต่ราช กรุ๊ป พร้อมสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่พร้อมรับการลงทุนประมาณ 3,000 ไร่ในจังหวัดราชบุรี สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของราช กรุ๊ป ที่ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนในปี 2593”
จับตาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า อานิสงส์ต่างชาติแห่ลงทุนภูมิภาคอาเซียน
นิทัศน์ทิ้งท้ายอีกว่า ปีนี้ต้องเฝ้าติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ (Trade War) ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
“เช่นในขณะนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ดังนั้นเราก็ต้องดูว่านักลงทุนเห็นโอกาสและศักยภาพด้านไหน อย่างเช่น ไทยก็มีความพร้อมเรื่องของไฟฟ้า และหากดูจากประเทศที่เรามุ่งขยายการลงทุนจะพบว่าล้วนเป็นประเทศที่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงนี้ได้ ทั้งไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สปป.ลาว และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันก็มีการเติบโตที่ดี”
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ราช กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกชนที่ลงทุนกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่ยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น หากบริษัทที่ชนะการประมูลรายเดิมไม่ต่อสัญญา ราช กรุ๊ป จะมีความพร้อมดำเนินการหรือไม่ นิทัศน์ระบุสั้นๆ ว่า “ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่รายเดิมจะไม่ต่อสัญญา”