SCB EIC ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เหลือ 2.5% (เดิม 2.7%) เหตุภาพรวมองค์ประกอบเศรษฐกิจส่วนใหญ่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้ ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% จากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น
SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 (ไม่รวม Digital Wallet) เหลือ 2.5% (เดิม 2.7%) แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกออกมาขยายตัวดีกว่าคาด โดยมีแรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยว จากการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการขยายมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวัน
อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าภาพรวมองค์ประกอบเศรษฐกิจส่วนใหญ่แผ่วลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าจะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้
เปิดแรงกดดันเศรษฐกิจไทย
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้แก่
– การส่งออกขยายตัวจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ
– ภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจ โดยยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และส่วนหนึ่งจะถูกสินค้าจีนตีตลาดจากปัญหา Overcapacity ของภาคอุตสาหกรรมจีน
– การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลง จากที่เคยขยายตัวได้ดีใน 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากรายได้ฟื้นตัวช้า ทำให้ครัวเรือนเปราะบางสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เริ่มมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ช่วงที่เหลือของปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีประชุมเหลืออีก 4 ครั้ง ได้แก่
- วันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567
- วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2567
- วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567
- วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567
สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงและอ่อนค่าเร็วช่วงต้นเดือนเมษายนจากภาวะ Risk-Off ของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน และตลาด Price-in การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงของ Fed ต่อมาเงินบาทกลับแข็งค่าเร็วหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด สำหรับในระยะสั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.70-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะทยอยแข็งค่าต่อได้ในช่วงครึ่งหลังของปีจากแรงหนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและแนวโน้ม Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับ ณ สิ้นปีนี้มองเงินบาทจะแข็งค่าที่ราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ