×

ความขัดข้องของพุทธศาสนาในไทย: จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ​

28.05.2018
  • LOADING...

จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐโดย สุรพศ ทวีศักดิ์ เป็นงานวิจัยที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในไทยที่สัมพันธ์กันกับบริบทของสังคมการเมืองในแต่ละยุคสมัย นับแต่แรกเริ่มที่พุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 300 จวบจนปัจจุบัน อีกทั้งยังได้มีการตั้งคำถามต่อสถานะของพุทธศาสนากับรัฐว่าควรมีที่ทางอย่างไร

 

จากหนังสือสามารถแบ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาได้เป็น 3 ช่วงตอนคือ

  • พุทธศาสนายุคต้น ยุคอโศก และยุคกลาง
  • พุทธศาสนาในรัฐสมัยใหม่
  • พุทธศาสนาหลังการปฏิวัติ 2475

 

Photo: Pixabay

 

พุทธศาสนายุคต้น ยุคกลาง และยุคอโศก

พุทธศาสนาในยุคต้น (Early Buddhism) ตามคัมภีร์พระไตรปิฎกในยุคนี้ได้กล่าวถึงความทุกข์และการดับทุกข์ อีกทั้งยังมีการแสดงเนื้อหาในเชิงวิพากษ์ที่กล่าวถึงความคิดทางสังคมและการเมือง กล่าวคือมีการตั้งคำถามต่อความเชื่อและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนได้มาทำความเข้าใจความทุกข์ด้วยประสบการณ์ตรง และหาหนทางดับทุกข์ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง ในยุคนี้ทั้งพุทธะและสังฆะเป็นอิสระจากรัฐและระบบวรรณะ จึงสามารถตั้งคำถามต่อความไม่เท่าเทียมต่อชนชั้นนำได้อย่างอิสระ

 

และราว พ.ศ. 300 เป็นยุคที่พุทธศาสนาแบบอโศก (Asokan Buddhism) ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งภิกษุและภิกษุณีออกไปเผยแผ่ศาสนาในทวีปต่างๆ รวมทั้งเอเชียอาคเนย์ เกิดฐานการสร้างสังคมตามอุดมคติพุทธศาสนา คือการใช้คณะสงฆ์เป็นกลไกสำคัญในการปกครอง และใช้อำนาจรัฐในการจัดการกับสงฆ์ที่แตกสามัคคี รวมไปถึงการสอนธรรมะต่อประชาชนและข้าราชการในวันลงอุโบสถ

 

ต่อมาในยุคพุทธศาสนายุคกลาง (Madieval Buddhism) หรือพุทธศาสนายุคประเพณี (Traditional Buddhism) ที่ชนชั้นปกครองได้นำพุทธศาสนามาใช้สนับสนุนความชอบธรรม กลายเป็นกลไกการปกครองของรัฐตามลำดับ จนกระทั่งไม่สามารถตั้งคำถามต่อความไม่เท่าเทียมนั้นได้

 

Photo: Pixabay

 

พุทธศาสนาในรัฐสมัยใหม่

เมื่อก้าวเข้าสู่พุทธศาสนาที่มีความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ซึ่งเป็นยุคที่เกิดการปะทะสังสรรค์กันระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือการอธิบาย ‘ความเป็นมนุษย์’ ใหม่ จากเดิมที่ชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดไว้ด้วยอำนาจเหนือธรรมชาติมาสู่ความเป็นปัจเจก (Individuality) คือการกำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองด้วยการใช้เหตุผลและประสบการณ์ เป็นช่วงเดียวกันกับที่รัชกาลที่ 4 (ขณะทรงผนวช) ได้ก่อตั้ง ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ซึ่งหมายถึงนิกายที่ประกอบด้วยธรรมขึ้น ด้วยทรงเล็งเห็นว่าวัตรปฏิบัติของพระภิกษุที่มีอยู่เดิมนั้นหย่อนยานและไม่ใช่วงศ์ที่บริสุทธิ์ที่สืบเนื่องตามพระธรรมวินัยเดิมตามพระไตรปิฎก จึงทำให้บริสุทธิ์ตั้งแต่พิธีอุปสมบทและการห่มจีวรตามแบบมอญ รวมไปถึงวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นระเบียบเคร่งครัดขึ้น

 

จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ยุคพุทธศาสนาหลังการปฏิวัติ 2475 ที่การปกครองของไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องของประชาธิปไตย ที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐใหม่ แต่ก็ยังคงเกิดการต่อรองกันระหว่างฝ่ายอำนาจเก่า (อนุรักษนิยม) กับฝ่ายอำนาจใหม่ (คณะราษฎร) มาโดยตลอด ในยุคที่ระบอบการปกครองเปลี่ยนแปลงนี้ แต่พุทธศาสนาก็ยังคงสืบทอดมาในแบบเดิมโดยไม่ได้มีการตั้งคำถามว่าพุทธศาสนานั้นมีการขัดต่อหลักเสรีภาพทางศาสนาหรือไม่ และรัฐกับศาสนาก็ยังคงเดินมาคู่กัน ทำให้เกิดปัญหาต่อการสร้างประชาธิปไตยตลอดมา

 

อีกทั้งยังมีปัญหาเสรีภาพทางศาสนาอันเป็นผลจากการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ และไม่สามารถรักษาความต่อเนื่องของการสร้างประชาธิปไตย ทำให้เกิดปัญหาพื้นฐานสำคัญตามมาคือปัญหาในการตีความพุทธศาสนาในทางการเมือง ความเหลื่อมซ้อนระหว่างการเมืองสงฆ์กับการเมืองทางโลก และปัญหาเสรีภาพทางศาสนาที่เกิดจากรัฐบัญญัติกฎหมาย

 

Photo: Pixabay

 

การแยกศาสนาออกจากรัฐ​ สาระสำคัญของวิจัย

สาระสำคัญข้อหนึ่งที่ได้กล่าวไว้ใน จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ​ คือการแยกศาสนาออกจากรัฐที่อาจกล่าวได้ว่า เมื่อบริบททางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิม เราจึงไม่สามารถหยิบยกเอาประวัติศาสตร์มาตีกรอบความเชื่อทางศาสนาให้เป็นไปเช่นเดิมได้

 

เมื่อการปกครองเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เปลี่ยนไปตามสภาวะสมัยใหม่ เราจึงควรมีการปรับเปลี่ยนกรอบคิดให้สอดคล้องกับยุคสมัยเพื่อหาที่ทางระหว่างความสัมพันธ์ของรัฐกับพุทธศาสนา โดยการตั้งคำถามบนบรรทัดฐานของศีลธรรมที่วางอยู่บนหลักการสากล คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการดึงเอามิติของความเป็นสมัยใหม่ที่สัมพันธ์กับรัฐและปัจเจก รวมถึงบทบาทในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ขัดแย้งกับพื้นฐานของคุณค่าสมัยใหม่ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง     

 

สุรพศได้เสนอทางแก้ต่อปัญหาดังกล่าวคือการแยกศาสนาออกจากรัฐ​ เปลี่ยนองค์กรสงฆ์ (และทุกศาสนา) เป็นองค์กรเอกชนที่สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย อีกทั้งยังเสนอให้รัฐต้องมีความเป็นกลางทางศาสนา โดยมีหน้าที่ในการรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น และให้ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์​

 

นอกจากนี้ รัฐและศาสนจักรต้องไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน เพื่อยับยั้งการอ้างศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนามาสนับสนุนความชอบธรรมแก่สถานะอำนาจชนชั้นปกครอง และศาสนาก็ไม่ใช้อำนาจรัฐในการควบคุมความเชื่อหรือตีความคำสอนและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ รวมทั้งการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา

 

พร้อมกับชี้แนะให้เห็นว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐไม่ใช่การปฏิเสธคุณค่าของพุทธศาสนาที่มีมาแต่อดีต หรือทำให้ไทยกลายเป็นรัฐที่ไร้ศาสนา หากแต่เป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพุทธศาสนาให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่ตามหลักเสรีภาพทางศาสนาในระบอบประชาธิปไตย

 

มองในแง่พุทธศาสนาถือว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐเป็นการคืนอิสรภาพที่จะปกครองตนเองตามหลักธรรมวินัยแก่คณะสงฆ์ไทยให้สามารถเจริญรอยตามระบบสังฆะตามวินัยที่เป็นอิสระจากรัฐ

 

นอกเหนือจากการนำเสนอพุทธประวัติของงานวิจัย จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ นี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานที่ชวนเปิดมุมมองต่อพุทธศาสนาของไทยในปัจจุบันว่าควรมีที่ทางอย่างไร เพราะแนวปฏิบัติทางศาสนาที่เราถือปฏิบัติกันมานี้ยังคงยืนอยู่บนฐานของการปกครองแบบเก่า ในขณะที่ปัจจุบันเราได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเสรีประชาธิปไตย (ที่รอวันเต็มใบ)

FYI
  • สุรพศ ทวีศักดิ์ เป็นนักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising