ก้าวต่อไป ‘ซูเปอร์สปอร์ต’ ล้ำสมัย เปิดแฟลกชิปสโตร์ลุคใหม่ นำเทคโนโลยี AI ช่วยลูกค้าเลือกรองเท้าวิ่ง พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ จัดหมวดสินค้ารับคนไทยสนใจกีฬามากขึ้น ผลักดันตลาดสินค้ากีฬาโตกระฉูด แย้มกลยุทธ์ที่วางไว้จะดันสร้างรายได้แตะ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2568
สำหรับแฟลกชิปสโตร์ลุคใหม่ จุดเริ่มต้นมาจากการศึกษาตลาดสินค้ากีฬาที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น จึงเริ่มเปิดนำร่องที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์วิลล์, เซ็นทรัล นครสวรรค์, เซ็นทรัล นครปฐม และเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ โดยในปีนี้จะรีโนเวตร้านในเซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล บางนา และเซ็นทรัล เวสต์เกต ให้เป็นโมเดลใหม่ ด้วยงบลงทุน 250 ล้านบาท
“ถึงวันนี้ซูเปอร์สปอร์ตจะเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกกีฬา แต่จะไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ แม้ปัจจุบันจะมีร้านค้าทั้งหมด 92 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ก็ไม่หยุดที่จะขยายสาขาใหม่ ที่สำคัญเรามองไปถึงการเปิดร้านในรูปแบบ Stand Alone ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน” เล็น เลิศสุมิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ซี อาร์ ซี สปอร์ต จำกัด กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แม้ธุรกิจสำเร็จแล้ว แต่ ‘ซีอาร์ซี ไทวัสดุ’ จะไม่หยุดโตแค่นี้ แย้มอีก 5 ปี จะสร้างยอดขายให้ได้ 7 หมื่นล้านบาท
- เซ็นทรัล รีเทล โชว์ไตรมาสแรก ทำกำไรกว่า 2,524 ล้านบาท เติบโต 14% เร่งเครื่องขยายทุกธุรกิจในเครือต่อเนื่อง
- Tops Daily vs. 7-Eleven กับการสร้างตำนาน ‘แจ็คผู้ฆ่ายักษ์’ ในสังเวียนร้านสะดวกซื้อแสนล้าน
สิ่งที่น่าสนใจของสโตร์ลุคใหม่แตกต่างจากร้านในศูนย์การค้าอื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้คอนเซปต์ Supersports 3.0 บนพื้นที่ 1,900 ตารางเมตร รวมแบรนด์อุปกรณ์กีฬาและแอ็กเซสซอรีทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลก เข้ามาอยู่ในร้านกว่า 10 หมวดหมู่ ซึ่งมีกลุ่มสินค้าไฮไลต์ที่ขายดีคือกลุ่มวิ่งและฟุตบอล
โดยมีความแตกต่างจากร้านทั่วไป คือร้านแฟลกชิปสโตร์โมเดลใหม่นั้นจะมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรม เริ่มตั้งแต่ลู่วิ่ง สนามกอล์ฟจำลอง รวมถึงห้องเล่นเกมฟุตบอล มีทีมงานให้คำแนะนำก่อนซื้อ ซึ่งถ้าเทียบกับร้านโมเดลเดิมๆ ก็จะมีพื้นที่ร้านน้อยกว่า
ยิ่งไปกว่านั้นยังได้นำเครื่อง 3D Scan จาก Safesize ที่เป็นการทำงานของระบบ AI มาช่วยสแกนเท้าลูกค้าเพื่อคำนวณและเลือกรองเท้าให้พอดีกับขนาดเท้าได้ โดยในปีนี้มีแผนจะเพิ่มเทคโนโลยี Safesize ไปกว่า 20 สาขา
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาบริษัทได้ศึกษาพฤติกรรมเกี่ยวกับกีฬาของผู้บริโภค พบว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เริ่มตั้งแต่
- ผู้บริโภคมองหากีฬาที่เข้าถึงง่าย
- กีฬาเริ่มเป็นกิจกรรมที่สร้างให้เกิดคอมมูนิตี้ที่รวมคนหลายกลุ่มไว้ด้วยกัน
- เทรนด์การมีลุคสปอร์ตทั้งด้านเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์กีฬาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้า
- โซเชียลมีเดียทำให้ผู้บริโภคค้นพบแบรนด์ใหม่ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ลดลง ซึ่งเป็นผลทางบวกต่อร้านค้าในรูปแบบมัลติสโตร์ที่มีสินค้าหลากหลายแบรนด์
- ทีมนักกีฬาจากประเทศไทยผ่านการคัดเลือกเข้าไปแข่งในลีกทั้งเอเชียนคัพและโอลิมปิก ทำให้คนไทยสนใจกีฬามากขึ้น
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดร้านค้าอุปกรณ์กีฬาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 7-8% โดยซูเปอร์สปอร์ตครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25%
ซูเปอร์สปอร์ตยอมรับว่าภาพรวมในตลาดแข่งขันเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องแข่งกับร้าน Multi-Brand Store และร้านที่แบรนด์เป็นเจ้าของเอง ส่วนใหญ่จะแข่งกันเรื่องสินค้าและราคา ซึ่งตอนนี้ซูเปอร์สปอร์ตถือเป็นอันดับ 1 อยู่ จึงพยายามจัดสรรสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มี
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์การผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์กีฬาระดับโลกในไทยอย่าง Reebok, Columbia, Merrell รวมถึงแบรนด์ LFC ของสโมสรลิเวอร์พูล โดยล่าสุดได้ถือลิขสิทธิ์แบรนด์ Tottenham Hotspur ของสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และจากกลยุทธ์ทั้งหมด มั่นใจปีนี้ยังไงก็โต 9%