หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดในช่วงกลางปี 2565 คำว่า ‘กัญชาเสรี’ เกิดเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมไทยหลากหลายมิติว่า แท้จริงแล้วสามารถใช้ได้อย่างเสรีมากน้อยแค่ไหน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงวันนี้เมื่อเดินตามท้องถนนของไทยก็จะสังเกตเห็นการซื้อขายและใช้กัญชาอย่างเสรีจนชินตาไปแล้ว
กระทั่งล่าสุด ต้องหยิบยกและกลับมานำเสนอกันอีกครั้ง เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้เร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น และขอให้ดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดภายในสิ้นปีนี้
หลังจากไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผลักดันให้ปลดล็อกพืชชนิดนี้อย่างถูกกฎหมาย
หมายความว่าที่ผ่านมาคนไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในทางการแพทย์และสุขภาพตั้งแต่ช่วงปี 2561 และช่วง 2 ปีก็สามารถใช้เพื่อสันทนาการ มีนโยบายสนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนปลูกเพื่ออุตสาหกรรมและการแพทย์ อนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาบ้านละ 15 ต้น ตลอดจนส่งเสริมให้นำกัญชาไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง
ธุรกิจเอี่ยวกัญชง-กัญชา ส่อเสียหายหมื่นล้านบาท
ทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดในการพิจารณานำกัญชาและกัญชงกลับมาเป็นยาเสพติด หากเกิดจริงคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสมาชิกภายใต้สมาคมฯ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมจำนวน 25 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับกัญชงและสารสกัด
รวมทั้งมีสมาชิกบางส่วนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกกัญชา ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกันประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีผลกระทบและมีความเสียหายต่อธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วจำนวนมาก และอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ทางการแพทย์เข้าถึงกัญชงและกัญชาได้ยากขึ้น
เนื่องจากในการดำเนินขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีขั้นตอนที่ยากลำบากขึ้น เพราะหากนำกัญชงและกัญชากลับเข้าไปสู่บัญชียาเสพติด จะส่งผลให้ขั้นตอนการเพาะปลูกเพื่อใช้ช่อดอกจะต้องยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในต่างจังหวัดจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ส่วนในเขตกรุงเทพฯ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
ภาพ: ทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา
นอกจากนี้ หลังจากได้ผลผลิตช่อดอกออกมา เมื่อต้องการนำไปใช้จะต้องมีการทำสัญญาผูกพันว่าจะนำไปสกัดเป็นสารสกัดหรือใช้ส่งให้กับคลินิกแพทย์แผนไทย ดังนั้นมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกรวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ให้ขั้นตอนหรือรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งจะส่งผลให้มีความยุ่งยากและมีต้นทุนในการทำธุรกิจที่มากขึ้นด้วย
“ก่อนที่จะมีการปลดล็อกกัญชงและกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อก่อนการขออนุญาตปลูกได้จะต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจฟาร์มปลูกก่อน ซึ่งต้องเป็นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เพื่อให้ได้ใบอนุญาตการปลูก จากนั้นเมื่อช่อดอกออกก่อนตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตจะต้องเชิญสาธารณสุขมาตรวจสอบยืนยันอีกครั้งว่าเป็นกัญชงหรือกัญชา เพื่อให้ได้รับอนุญาตจึงจะตัดช่อดอกแล้วนำใช้ได้
ดังนั้นหากนำกลับกัญชงและกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด ผู้ประกอบการก็จะมีระยะเวลาในการดำเนินการเพาะปลูกเก็บเกี่ยวยาวนานขึ้นอย่างมาก รวมทั้งต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งจะเปลี่ยนจากปัจจุบันที่ตั้งแต่ปลดล็อกผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องการเพาะปลูกผ่านแอปปลูกกัญชาได้เลย”
ภาพ: รายชื่อ 25 สมาชิกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา
ขณะที่ตามนโยบายของรัฐบาลมีการจัดกลุ่มกัญชงให้อยู่ในกลุ่มพืชประเภทเดียวกัน ดังนั้นหากมีการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดก็จะมีผลกระทบที่เกิดตามมาเช่นเดียวกันทั้งกัญชงและกัญชา
“กฎหมายเดิมก่อนหน้านี้กำหนดให้ กัญชง, กัญชา, กระท่อม เป็นยาเสพติด แต่ต่อมาปลดล็อกนำออกจากบัญชีพืชยาเสพติดซึ่งออกเป็น พ.ร.บ. ออกมา ดังนั้นทั้งกัญชงกับกัญชาจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้”
ค้านนำกัญชง-กัญชากลับมาเป็นยาเสพติด
ทศพรกล่าวต่อว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชาได้ร่วมประชุม ซึ่งได้ข้อสรุปท่าทีกับจุดยืนดังนี้
- ไม่ต้องการให้นำกัญชงและกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด
- เสนอให้ออก พ.ร.บ.กัญชา ออกมาเป็นกฎหมายหลักเพื่อควบคุมพืชกัญชงและกัญชามาใช้ให้มีความเข้มงวดขึ้น รวมถึงมีมาตรการทางกฎหมายและหน่วยงานกลางที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมหรือปรับเงินกับผู้ที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยเชื่อว่าหากทำได้จะเป็นทางออกช่วยให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเป็นทางออกของสังคม ทั้งนี้ สมาคมฯ มีกำหนดการแถลงจุดยืนในวันที่ 31 พฤษภาคม และจะนำเสนอข้อเสนอแนะของสมาคมฯ จากนั้นจะทำจดหมายขอนัดพบ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงนัดเข้าพบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือในประเด็นขอ BOI ด้วย
กัญชากลับมาเป็นยาเสพติดไม่กระทบธุรกิจ
พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดในการพิจารณานำกัญชาและกัญชงกลับมาเป็นยาเสพติด ยังคงต้องติดตามการประกาศความชัดเจนในประเด็นนี้อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจสกัดสาร CBD จากกัญชงของบริษัทที่รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ได้ใช้กัญชาในการผลิต รวมถึงที่ผ่านมามีการลงทุนในธุรกิจนี้ไม่มาก และธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชงของบริษัทไม่ใช่ธุรกิจหลัก โดยปัจจุบันมีสัดส่วนที่ต่ำมากเพียงไม่ถึง 1% ของรายได้รวมของบริษัท
ภาพ: พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการ บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF)
แต่อาจต้องติดตามเตรียมตัวศึกษากฎหมายเหล่านี้กันใหม่!?
นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวดึงกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดเกิดขึ้นท่ามกลางคำถามของภาคการค้าปลีกกัญชาในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีร้านค้าและธุรกิจนับหมื่นเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2025
โดยสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง The Guardian รายงานว่า หลังจากที่ไทยปลดล็อกกัญชาเมื่อปี 2022 บรรดาธุรกิจและร้านค้าซื้อ-ขายกัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยคาดว่ามีมากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศไทย
ส่วนมูลค่านั้นก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหอการค้าไทยประเมินว่า ภายในปี 2025 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ (ราวๆ 4.5 หมื่นล้านบาท) ดังนั้น การทบทวนแก้ไขกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงอาจสร้างแรงกระเพื่อมทั้งด้านบวกและลบทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม
ภาพ: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมกัญชง-กัญชา สูงขึ้นแตะ 4.5 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากการจะปรับแก้กฎหมายและกำจัดกัญชาออกไปจากสังคมไทยนั้นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะกัญชากลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานบันเทิงยามค่ำคืนในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว
อีกทั้งการปลดล็อกกัญชาในครั้งนั้นก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย และเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอคัดค้านการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด
ประสิทธิ์ชัยกล่าวว่า หากนำกัญชากลับคืนมาเป็นยาเสพติด ประชาชนจำนวนมากที่ปลูกและทำร้านกัญชาจะได้รับผลกระทบ ‘1 ล้านใบอนุญาตปลูก’ และ 10,000 กว่าใบอนุญาตขาย
หากรัฐบาลทำเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมาก ดังนั้นผู้ประกอบการทั่วประเทศจะรวมตัวกันไปยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลในวันที่ 28 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
อ้างอิง: