หลายคนคงเคยได้ยินข้อกล่าวหาที่ว่า ก่อ อาชญากรรมสงคราม (War Crime) ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ซึ่งมักปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งหรือสงคราม และมีหลายบุคคลที่เผชิญกับข้อหาเหล่านี้
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน หรือล่าสุดคือการที่อัยการ ICC ขอศาลออกหมายจับ ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำกลุ่มฮามาส ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่มีผู้เสียชีวิตนับพันคน และการออกหมายจับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการทำสงครามแบบเหมารวมในฉนวนกาซา ที่คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วหลายหมื่นคน
ส่วนข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ ตัวอย่างอันโหดร้ายที่ทั่วโลกรับรู้คือ เหตุการณ์ Holocaust หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีชาวยิวถูกสังหารอย่างโหดร้ายกว่า 6 ล้านคน นอกจากนั้นยังมีกรณีอื่นๆ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคเขมรแดงในกัมพูชา หรือกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนชาติเดียวกันที่ประเทศรวันดา
สำหรับนิยามของทั้ง 3 ข้อหานั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหมายถึงการโจมตีอย่างเป็นระบบหรือเป็นวงกว้างโดยมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งรวมทั้งการฆาตกรรม การกำจัดให้สิ้นซาก การบังคับเป็นทาส การเนรเทศหรือการบังคับโยกย้ายประชากร การจำคุก การทรมาน การกระทำรุนแรงทางเพศในรูปแบบที่ร้ายแรง การประหัตประหาร การบังคับบุคคลให้สูญหาย การก่ออาชญากรรมแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติ และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ
ส่วนการก่ออาชญากรรมสงครามหมายถึงการละเมิดกฎหมายสงคราม (Law of War) หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ซึ่งก่อให้เกิดความรับผิดชอบทางอาญาส่วนบุคคลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น การจงใจฆ่าพลเรือนหรือจงใจฆ่าเชลยศึก การทรมาน การจับตัวประกัน การทำลายทรัพย์สินของพลเรือนโดยไม่จำเป็น โดยต้องเกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งด้วยอาวุธเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือไม่ใช่ระหว่างประเทศ
ส่วนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นคำที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหนังสือ Axis Rule in Occupied Europe ที่เขียนโดย ราฟาเอล เลมคิน (Raphaël Lemkin) ทนายความชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ซึ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่ไปในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขายังเป็นผู้นำการรณรงค์ให้คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้รับการยอมรับ และจัดเป็นการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ
คำจำกัดความของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่ระบุไว้ในมาตราที่ 2 ของอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 ระบุว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมายถึงการกระทำใดๆ ซึ่งกระทำโดยมีเจตนาที่จะทำลายกลุ่มต่างๆ ทั้งชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยแบ่งการกระทำออกเป็น 5 ประการ ได้แก่
- การฆ่าสมาชิกของกลุ่ม
- ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจสมาชิกในกลุ่มอย่างร้ายแรง
- สร้างสภาพความเป็นอยู่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายกลุ่ม
- กำหนดมาตรการป้องกันการคลอดบุตรภายในกลุ่ม
- บังคับให้โอนย้ายลูกของกลุ่มไปยังกลุ่มอื่น
อ้างอิง: