ย้อนกลับไปในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจาก OpenAI เปิดตัวโมเดลใหม่ GPT-4o ที่มาพร้อมหนึ่งในฟีเจอร์พิเศษให้ผู้ใช้งาน ChatGPT สามารถสนทนากับแชตบอตได้เสมือนคุยกับคนจริงๆ โดยมีให้เลือกโหมดเสียงถึง 5 เสียงด้วยกัน ซึ่งการมาของฟีเจอร์นี้ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ AI เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม หนึ่งใน 5 เสียงที่ถูกใช้ชื่อว่า ‘Sky’ กลายมาเป็นประเด็นร้อนเพราะมันดันไปมีเสียงที่คล้ายคลึงกับเสียงของดาราระดับโลกอย่าง Scarlett Johansson ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกทาบทามโดย Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ให้เธอมาลงเสียงในฟีเจอร์ใหม่ของ ChatGPT
“ฉันได้รับข้อเสนอจาก Sam Altman เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เกี่ยวกับการใช้เสียงในระบบ ChatGPT เพราะเขามองว่าเสียงของฉันจะสามารถเชื่อมช่องว่างระหว่างบริษัทเทคโนโลยีให้เข้ากับวงการครีเอทีฟได้ ซึ่งจะถือเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยผู้บริโภคให้รู้สึกสบายใจในช่วงเปลี่ยนผ่านของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI” Scarlett Johansson เขียนระบุ
แม้ว่าจะได้ข้อเสนอนี้จาก OpenAI แต่หลังไตร่ตรองปัจจัยต่างๆ รวมทั้งเหตุผลส่วนตัว Scarlett Johansson ตัดสินใจขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับโปรเจกต์ดังกล่าว แต่ในท้ายที่สุด 9 เดือนหลังจากการยื่นข้อเสนอครั้งแรก คนรอบตัวของดาราหญิงคนนี้ออกมาแสดงความเห็นว่า เสียงของ Sky มีความเหมือนกับเสียงของเธอมาก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้ Scarlett Johansson รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก และไม่อยากจะเชื่อว่า OpenAI เลือกจะใช้เสียงที่คล้ายเสียงเจ้าตัว
หลังจาก Scarlett Johansson ออกมาแสดงจุดยืนของเธอ Sam Altman ก็ออกมาชี้แจงข้อพิพาทดังกล่าวผ่านจดหมายแถลงการณ์ที่ส่งออกไปยังสื่อมวลชนว่า “เสียงที่เราใช้ใน Sky ไม่ได้มีที่มาจากเสียงของเธอ และเราไม่มีเจตนาที่จะลอกเลียนแบบเสียงของเธอเลย แต่ด้วยความเคารพที่มีต่อเธอ เราจึงตัดสินใจที่จะหยุดบริการเสียง Sky ไปก่อน และต้องขอโทษด้วยที่เราไม่ได้สื่อสารให้ดีกว่านี้” Sam Altman กล่าว พร้อมถอน Sky ออกจากระบบ ChatGPT
สำหรับที่มาของเสียง OpenAI ชี้แจงว่าบริษัทจ้างมืออาชีพมาลงเสียงแทน แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากเหตุผลความเป็นส่วนตัวของเจ้าของเสียง
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้เสียงกับเทคโนโลยี AI ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเราคงได้ยินเหตุการณ์ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การเลียนเสียงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีเนื้อหาบอกให้คนไม่ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายคนกังวลเรื่องการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ และหากเป็นกรณีที่เกิดในไทยก็คือคลิปของ กวี ชูกิจเกษม ที่ถูกนักต้มตุ๋นใช้ AI สร้างภาพและเสียงเพื่อหลอกนักลงทุนให้ทำธุรกรรมกับเพจปลอม
ในส่วนของกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับดาราหญิงระดับโลก เธอระบุทิ้งท้ายว่า “ในช่วงเวลาที่เรากำลังกังวลเรื่อง Deepfakes กับตัวตนและผลงานของเรา ฉันคิดว่าข้อกังวลเหล่านี้ควรจะได้รับคำตอบและแนวทางการป้องกันอย่างชัดเจน ฉันรอที่จะเห็นการแก้ไขที่โปร่งใสและกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าสิทธิส่วนบุคคลของเราจะได้รับการคุ้มครอง”
อ้างอิง: