×

ไทยสร้างไทยชี้ ต่างชาติยึดตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเบ็ดเสร็จ ทำลายอำนาจการแข่งขันในประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
19.05.2024
  • LOADING...
ไทยสร้างไทย พูดถึง ตลาดอีคอมเมิร์ซ

วันนี้ (19 พฤษภาคม) นพดล มังกรชัย รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการค้าขายสินค้าที่สำคัญของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในปัจจุบัน เพราะซื้อง่ายขายคล่อง และยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ต้องยอมรับความเจ็บปวด เพราะแลกมาด้วยการที่ผู้ค้าผู้ขายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขาย (Sales Transaction Fee) ที่ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มเจ้าตลาดเป็นผู้กำหนดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มข้ามชาติที่เป็นเจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซ และตอนนี้เข้ามายึดตลาดบ้านเราไปอย่างเบ็ดเสร็จแล้วที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยกันดี ได้แก่ Lazada, Shopee, TikTok ซึ่งในระยะแรกๆ ที่เข้ามาในเมืองไทย ดูเหมือนจะทำตัวสงบเสงี่ยมไม่วางก้ามมากนัก ที่ผ่านมาเป็นการทำการตลาดด้วยการแข่งขันในสงครามราคาเพื่อสร้างฐานผู้ใช้ โดยในช่วงแรกออกค่าธรรมเนียมให้ผู้ขาย เพื่อดึงดูดให้คนมาขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ประสบภาวะขาดทุนเป็นหมื่นล้านบาทหลายปีติดต่อกัน จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่มีฐานผู้ใช้มากขึ้น มีอำนาจต่อรองกับคนขายก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนต่าง เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย ค่าธรรมเนียมการชำระเงิน ค่าธรรมเนียมการจัดส่ง รวมแล้วพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเสียค่าธรรมเนียมราว 15.85% ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

 

จากข้อมูลรายงาน E-commerce in Southeast Asia 2023 ระบุว่า มูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย ปี 2565 อยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.27 แสนล้านบาท)  ซึ่งเมื่อเจาะรายละเอียดไปที่ส่วนแบ่งตลาดของแต่ละแพลตฟอร์มจะพบว่า Shopee มีส่วนแบ่งมากสุดที่ 56% ตามด้วย Lazada 40% และ TikTok 4% ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ภาพตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเป็นการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการจากต่างประเทศอย่างแท้จริง

 

ถามว่าแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านั้นยอมขาดทุนอย่างมหาศาลเพื่อแลกกับอะไร นพดลชี้ว่า เพื่อแลกกับการเข้าสู่ตลาดในประเทศ เพื่อทำลายอำนาจการแข่งขันของผู้ประกอบการภายในประเทศ และที่สำคัญคือเพื่อแลกกับการเข้าสู่ข้อมูลลูกค้า รวมไปถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยหรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เพื่อนำไปให้ AI วิเคราะห์กำหนด Customer Information Scoring ทำการตลาดเจาะลูกค้าแต่ละราย ทำให้ทราบถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแม่นยำทั้งในรูปปัจเจกบุคคลและกลุ่มลูกค้ารายประเภทการค้า นอกจากข้อมูลลูกค้ายังรวมไปถึงข้อมูลคู่ค้าที่อยู่ในวงโคจรทั้งหมดด้วย พอถึงเวลาที่ได้ข้อมูลทุกอย่างพร้อมก็พาเหรดกอดคอกันปรับขึ้นค่าธรรมเนียมตามใจชอบ เช่นในปี 2566 ทั้ง Shopee และ Lazada ขึ้นค่าธรรมเนียมถึง 2 รอบ

 

ล่าสุด Shopee Thailand ประกาศปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายครั้งใหม่สำหรับกลุ่ม Mall Sellers และ Non-Mall Sellers (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 ดังนี้ 

 

  • ค่าธรรมเนียมสำหรับ Mall Sellers แบ่งเป็น สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) เป็น 6% จากเดิม 5% ของราคาสินค้า, สินค้าบางประเภทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Exceptions of Electronics Items) เป็น 5% หรือ 8% จากเดิม 6% ส่วนสินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) อยู่ที่ 5-8% จากเดิม 7%

 

  • ส่วนค่าธรรมเนียมสำหรับ Non-Mall Sellers แบ่งเป็น สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าที่ไม่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (Non-Electronics Items) 5% จาก 4%, สินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น (Fashion Cluster) 6% จาก 5% และสินค้าบางประเภทในหมวดหมู่ย่อยของสินค้าในหมวดหมู่สินค้าแฟชั่น 5% จาก 4% ของราคาสินค้า 

 

ส่วน Lazada ได้ปรับค่าธรรมเนียมการใช้บริการ Marketplace Service Fee และมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ในบางหมวดหมู่สินค้า เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องเสียง กล้อง โดรน ฯลฯ) 4% จากเดิม 3%, สินค้าแฟชั่น (กระเป๋า เสื้อผ้า ฯลฯ) 5% จากเดิม 4%, สินค้าอุปโภค-บริโภค 4% จากเดิม 3% และสินค้าทั่วไป 4% จากเดิม 3%

 

สำหรับ TikTok Shop Thailand ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมคอมมิชชัน เดิมคิดอัตราคงที่ 4% มาเป็นการคิดแตกต่างกันหมวดหมู่ย่อยของสินค้า (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็นสินค้าแฟชั่น 4.00-5.35%, สินค้าอุปโภค-บริโภค (FMCG) 4.28%, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 4.28% สินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องครัว 4.28%

 

ส่วน LINE SHOPPING คิดค่าธรรมเนียม (Service Fee) จากคำสั่งซื้อบนช่องทางสื่อและแคมเปญ LINE SHOPPING ที่ 3% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป แต่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการขายในกรณีที่คำสั่งซื้อเกิดจากการออร์เดอร์ผ่านห้องแชตในแอปพลิเคชัน LINE หรือผู้ขายเป็นผู้โฆษณาร้านค้าด้วยตนเอง หรือส่งลิงก์ร้านค้าและสินค้าของผู้ขาย shop.line.me/@shopbasicid ให้ผู้ซื้อโดยตรง

 

ไทยสร้างไทยจึงขอเสนอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการกำกับการแข่งขัน-เพดานราคา เนื่องจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ มีแค่ 2-3 เจ้า ผูกขาดตลาดไว้เกือบหมด ผู้ค้าขายคนไทยรวมถึงผู้บริโภคคนไทยไม่ได้มีตัวเลือกไปมากกว่านี้ ส่วนผู้บริโภคแม้จะมีส่วนดีที่ยังได้รับอานิสงส์จากการที่แพลตฟอร์มเสนอดีลราคาพิเศษ แต่ความน่ากลัวที่เป็นผลกระทบข้างเคียง คือแผนการตลาดจากแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีผลเป็นการทุบร้านค้าปลีกรายเล็กตายหมด ถ้าอยากรอดก็ต้องขึ้นมาขายออนไลน์ แต่แพลตฟอร์มก็ขึ้นค่าธรรมเนียมต่อเนื่อง เวลาขึ้นจาก 1% เป็น 2% ดูเหมือนไม่เยอะ แต่จริงๆ คือเท่าตัว 100-200% ภาครัฐควรเข้ามากำกับดูแลการขึ้นค่าธรรมเนียมของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มีหน้าที่ควบคุมการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศ จำเป็นต้องป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคคนไทยโดยแพลตฟอร์มข้ามชาติ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X