×

ปะการังกำลังจะตาย หายนะสีขาวจากทะเลเดือด เราช่วยอะไรได้บ้าง

16.05.2024
  • LOADING...
ปะการังฟอกขาว

หากใครเคยมีประสบการณ์ดำน้ำ ได้สัมผัสโลกใต้ทะเลด้วยตาของตัวเอง จะพบว่าใต้ทะเลนั้นแสนมหัศจรรย์ นอกจากจะเป็นบ้านของมวลหมู่ปลาแล้ว สีสันจากปะการังนานาชนิดก็สวยราวกับเราได้ลอยตัวอยู่เหนือทุ่งดอกไม้ใต้ผืนน้ำขนาดมหึมา

 

แต่วันนี้โลกเดือดทำให้ใต้ทะเลร้อนระอุ จนมีคนกล่าวว่า ‘เหมือนเกิดไฟป่าใต้น้ำ’ ปะการังที่เคยเปล่งสีสันเปลี่ยนเป็นกอซีดขาวโพลน หลายพื้นที่ตอนนี้สภาพไม่เหลือเค้าเดิมของสถานที่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว

 

พวกเธอกำลังจะตาย

 

THE STANDARD สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพูดคุยถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาววันนี้ว่าหนักหนาแค่ไหน และเราจะช่วยอะไรได้บ้าง ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นท้องทะเลต้องบาดเจ็บไปมากกว่านี้

 

  • ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นวันนี้สาหัสแค่ไหน

 

ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า ปะการังฟอกขาวโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการที่ปะการังเจอกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงเกินปกติ คือประมาณ 30.5 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการังด้วย เช่น เรื่องของสภาพแวดล้อม ชนิดพันธุ์ของปะการัง ความจ้าของรังสี UV ที่ปะการังได้รับ การฟอกขาวจึงมีความหนักเบาไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่

 

แต่สิ่งที่เราต้องจับตาคือในปีนี้ NOAA หรือองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนว่า โลกจะเจอกับการฟอกขาวระดับหายนะครั้งที่ 4 เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทั่วทั้งโลก

 

  • ไทยเจอปะการังฟอกขาวที่ไหนแล้วบ้าง

 

สำหรับในบ้านเรานั้น ทะเลแบ่งเป็น 2 ฝั่งคืออ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งมีปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ไม่เหมือนกัน แต่จากการคาดการณ์ล่วงหน้าที่ได้จากโมเดลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับ IOC-WESTPAC ในรอบนี้พบว่า พื้นที่อันดามันล่างตั้งแต่ภูเก็ต-กระบี่ลงไป จะมีโอกาสพบปะการังฟอกขาวสูงกว่าอันดามันเหนือ ส่วนในฝั่งอ่าวไทยคาดว่าฟอกหมด แต่จะหนักที่แถวชุมพรและตราด

 

แต่หากถามว่าการฟอกขาวที่เกิดขึ้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังทั้งประเทศ ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า ขณะนี้น่าจะเกิน 50% ไปแล้ว ซึ่งการฟอกมีหลายระดับแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

 

  • ผลกระทบของปะการังฟอกขาวคืออะไร

 

สัตว์น้ำมากกว่า 60-70% ในทะเลต้องอาศัยการคงอยู่ของปะการัง หรือเรียกได้ว่าปะการังเป็นบ้านของสัตว์น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือลูกปลา เมื่อปะการังฟอกขาวจนตาย สัตว์น้ำก็สูญเสียบ้าน ผลกระทบที่ตามมาคือทำให้สัตว์น้ำในทะเลลดลง

 

ผลกระทบที่ตามมาต่อมนุษย์เป็นลูกโซ่คือเราจะจับปลาได้น้อยลง ปะการังสวยๆ ที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็จะไม่ดึงดูดคนอีกต่อไป รายได้ของชาวประมงและผู้ประกอบการก็โดนกระทบด้วย ต่อมาคือผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ เพราะนักท่องเที่ยวจากทั้งในและนอกประเทศต่างชื่นชอบการเที่ยวทะเลไทยกันทั้งสิ้น

 

  • มีวิธีที่จะช่วยปะการังได้หรือไม่

 

ตามแผนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว การประเมินความรุนแรงของปะการังฟอกขาวแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกันคือ

 

  1. ไม่รุนแรง (ปะการังฟอกขาวน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30%) ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า ในระยะนี้จะเน้นลดผลกระทบอื่นที่ทำให้ปะการังเครียด เช่น รณรงค์ให้ประชาชนใช้ครีมกันแดดที่ไม่เป็นพิษต่อปะการัง ไม่ทิ้งขยะลงน้ำ ไม่ให้อาหารปลา เป็นต้น

 

  1. รุนแรง (ปะการังฟอกขาวมากกว่า 30%) ตรงนี้หน่วยงานในพื้นที่จะต้องสั่งงดกิจกรรมที่คุกคามปะการัง เช่น ต้องปิดอุทยาน หรือสั่งงดกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นภัยต่อจุดที่เกิดปะการังฟอกขาวรุนแรง

 

  1. รุนแรงมาก (คาดว่าปะการังจะตายจากการฟอกขาวมากกว่า 30% เพราะอุณหภูมิมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง) ในส่วนนี้ต้องหาแนวทางเพื่อช่วยลดอัตราการตาย เช่น การย้ายปะการังไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม หรือใช้การบังแสงเข้าช่วย

 

“กว่าที่ปะการังจะฟื้นได้ต้องใช้เวลา 3-5 ปี และมันก็ยากเพราะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เราก็เลยบอกว่าในปีนี้ถ้าใครมีโอกาสช่วยลดอัตราการตายของปะการังได้ก็อยากให้ช่วยกัน แม้จะ 1-2% ของพื้นที่ก็ยังดี โดยช่วยผ่านการย้ายปะการังไปยังจุดที่ลึกขึ้น น้ำเย็นขึ้น โดนแสงน้อยลง หรือทำสแลนกันแสง UV เพื่อเพิ่มอัตราการรอด เราจึงมีการรณรงค์ให้กลุ่มนักวิชาการช่วยกันทำตรงนี้” ดร.ปิ่นสักก์กล่าว

 

  • การทำสแลนกันแดดหรือย้ายปะการังดูเหมือนว่าจะช่วยได้แค่ในวงจำกัด แล้วปะการังส่วนอื่นๆ ในภาพใหญ่จะช่วยอย่างไร หรือทำได้แค่รอธรรมชาติฟื้นฟู

 

ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวิธีการช่วยเหลือนั้นเป็นไปในวงจำกัด และสเกลของปัญหาก็ใหญ่เกินกว่าที่มือของมนุษย์จะช่วยได้ แต่แน่นอนว่าธรรมชาติมีศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเอง ฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์ทำได้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เอื้อต่อการฟื้นฟูปะการัง

 

“เทียบให้เห็นภาพคือเหตุการณ์ของเกาะสิมิลัน ซึ่งมีคุณภาพน้ำดี ไม่มีมลพิษ ปะการังฟอกขาวแค่ 1-2 ปีก็ฟื้นกลับมาได้แล้ว ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยบางโซนที่ชายฝั่งน้ำมีมลพิษเจือปน ตะกอนเยอะ ปะการังตายบางที่เป็นสิบปียังไม่ฟื้นเลยครับ เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่แหละครับเป็นตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติ”

 

  • คนธรรมดาจะช่วยปะการังได้อย่างไรบ้าง

 

ดร.ปิ่นสักก์กล่าวว่า ภาคประชาชนสามารถมีส่วนช่วยในการลดปัจจัยคุกคามได้ด้วยกิจกรรมง่ายๆ ดังนี้

 

  1. เลิกใช้ครีมกันแดดที่เป็นพิษต่อปะการัง เพราะความเป็นพิษถึงจะไม่เยอะ แต่ก็มีผลกับปะการังอย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง
  2. น้ำมันจากเรือท่องเที่ยวก็มีผลกับปะการัง ควรเลือกท่องเที่ยวกับผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้เครื่องยนต์เรือคุณภาพดี ไม่โยนน้ำมันทิ้งลงไปในทะเล
  3. นักดำน้ำอย่าเตะหรือตีตะกอนใส่ปะการัง เพื่อไม่ให้ปะการังเครียดหรือเกิดความเสียหาย
  4. ดูแลรักษาปลาที่ช่วยกินสาหร่าย ซึ่งทำให้ปะการังลงเกาะบนพื้นได้ง่าย เช่น ปลานกแก้ว ต้องรักษาไว้ อย่าไปจับกิน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มนุษย์ช่วยได้มาก

 

  • ภาครัฐทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานี้แล้วบ้าง

 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมมือกับคณะนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุปะการังฟอกขาวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าว่าปี 2024 เหตุปะการังฟอกขาวจะมีความรุนแรง โดยมีการประชุมคณะทำงานวิชาการกันอย่างต่อเนื่องเพื่อทบทวนแผนการ สร้างช่องทางการสื่อสาร สร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง รวมถึงเฝ้าติดตามข้อมูลสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด และมีการประสานงานกับเครือข่ายนักดำน้ำที่คอยแจ้งข่าวสารมา เพื่อให้สามารถระบุพิกัดของปะการังฟอกขาวได้

 

“ในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการกระตุ้นคนกลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ตลอดจนนักวิชาการที่ทำงานร่วมกับกรมฯ พบปะการังฟอกขาวจุดไหนให้รายการกันเข้ามา โดยทางกรมฯ มีการจัดทำข้อมูลแผนที่ปะการังฟอกขาว ซึ่งประชาชนสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/

 

ปัจจุบันการฟอกขาวของปะการังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าจะฟอกหนักในอันดามันช่วงใต้ และมีความรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์จริง เพราะบริเวณที่มีการฟอกขาวนั้นกินพื้นที่ 80-90% ของแนวปะการังแล้ว ซึ่งกรมฯ จะมีการประเมินความรุนแรงของระดับการฟอกขาว และดำเนินการลดปัจจัยคุกคามและช่วยลดอัตราการตายของปะการังต่อไป

 

  • อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อโลกในวันนี้

 

ดร. ปิ่นสักก์กล่าวทิ้งท้ายว่า “ธรรมชาติบอกเราแล้วว่ามันหนักหนาจริงๆ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โลกรวน เราก็ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวัน ต่อเศรษฐกิจและสังคม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำกันจริงๆ เริ่มจากตัวเองในการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ให้เกิดประโยชน์ และเมื่อหลายๆ คนทำแบบนี้พร้อมๆ กัน มันจะเกิดเป็น Collective Action ที่กลายเป็นพลังใหญ่ และช่วยให้โลกของเราเดินหน้าต่อไปได้”

 

“อยากให้เชื่อมั่นว่าเราช่วยกันทำให้ผลลัพธ์เป็นจริงได้ โดยที่เราเริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising