การแก้ปัญหาโลกร้อนเชิงรุกเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังประเทศไอซ์แลนด์เริ่มเดินดักจับอากาศ (Direct Air Capture หรือ DAC) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ชานเมืองเรคยาวิก เพื่อกรองอนุภาคคาร์บอนที่เป็นหนึ่งในตัวการสร้างสภาวะเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ แล้วฝังคาร์บอนที่ดักจับได้ลงใต้พื้นดิน
เครื่องดักจับอากาศขนาดยักษ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘แมมมอธ’ (Mammoth) เป็นผลงานของ Climeworks บริษัทสตาร์ทอัพจากสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมมือกับอีก 2 คู่หูสำคัญ นั่นคือบริษัท Carbfix เจ้าของเทคโนโลยีทางเคมีในการแปลงคาร์บอนเป็นของแข็ง และ On Power เจ้าของเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ผู้ป้อนพลังงานสะอาดให้เครื่องดักจับอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเครื่องนี้
‘แมมมอธ’ เป็นผลงานที่ทำลายสถิติตัวเองของ Climeworks โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2021 ทางบริษัทได้เปิดตัวเครื่องดักจับอากาศรุ่นต้นแบบไปก่อนแล้ว นั่นคือ ‘ออร์กา’ (Orca) ที่มีอัตราการดักจับคาร์บอนที่ 4,000 ตันต่อปี แต่แมมมอธที่เป็นผลงานล่าสุดนี้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 9 เท่า นั่นคือมีอัตราการดักจับคาร์บอนที่ 36,000 ตันต่อปี นับว่ามากที่สุดในโลก และเมื่อเดินเครื่องทั้ง 2 พร้อมกัน ก็จะสามารถดึงเอาต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนออกจากอากาศได้ถึง 40,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว
Climeworks ออกแบบแมมมอธให้มีลักษณะแบบโมดูลาร์ นั่นหมายถึงสามารถขยายขนาดของเครื่องดักจับอากาศนี้ให้ใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ โดยวางซ้อนเป็นชั้นขึ้นไปด้านบน
“แมมมอธถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” สจวร์ต ฮาสเซลดีน (Stuart Haszeldine) ศาสตราจารย์ด้านการดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าว แต่ก็ยังให้คำเตือนว่า โครงการดังกล่าวมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่กำลังเกิดกับโลกใบนี้
มีเครื่องดักจับอากาศที่เล็กกว่านี้อีก 15 เครื่องในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มียอดรวมปริมาณคาร์บอนทั้งหมดที่กำจัดได้ไม่ถึง 1 หมื่นตันต่อปี เมื่อรวมกับยอดรวมของ Climeworks ก็ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริงที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุไว้ นั่นคือต้องกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศให้ได้ถึง 70 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 จึงจะบรรลุเป้าหมายในการรักษาสภาพภูมิอากาศโลก
เครื่องดักจับอากาศที่ใหญ่กว่านี้มีชื่อว่า ‘Stratos’ กำลังดำเนินการสร้างโดยบริษัท Occidental ในเท็กซัส สามารถกำจัดคาร์บอนได้ 5 แสนตันต่อปี แต่ก็ยังมีความคลุมเครือในมุมมองทางการเมือง เพราะ Occidental เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นผู้ทำโลกร้อนเสียเอง
Climeworks นั้นต่างออกไป บริษัทสตาร์ทอัพรายนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับธุรกิจฟอสซิล แต่ก็ต้องมาเจอปัญหาสำคัญของเครื่องดักจับอากาศ นั่นคือต้นทุนการผลิตต่อหน่วยคาร์บอนที่ค่อนข้างสูง ถือเป็นด่านสำคัญที่ทาง Climeworks จะต้องผ่านไปให้ได้
แน่นอนว่าทาง Climeworks ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แจน เวิร์ซบาเกอร์ (Jan Wurzbacher) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วมของทางบริษัท กล่าวว่า ‘แมมมอธ’ ที่สำเร็จไปแล้วนี้ถือเป็นเพียงทางผ่าน บริษัทมีแผนที่จะขยายกำลังการกำจัดคาร์บอนได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 โดยจะให้มีต้นทุนดำเนินงานไม่เกิน 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นตัวเลขกลางๆ ที่พอจะยอมรับได้ แต่เป้าหมายสูงสุดของทางบริษัทคือการกำจัดคาร์บอนให้ได้ 1 พันล้านตันต่อปี โดยลดต้นทุนให้ต่ำถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันให้ได้ภายในปี 2050
ภาพ: HALLDOR KOLBEINS / AFP
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/05/08/climate/direct-air-capture-plant-iceland-climate-intl/index.html
- https://climeworks.com/direct-air-capture