ไทเกอร์ วูดส์ ชื่อที่ผูกติดกับความสำเร็จในระดับสูงสุด คนที่เปลี่ยนแปลงกีฬากอล์ฟไปตลอดกาล และคนที่ทำให้กีฬากอล์ฟเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั่วโลก ด้วยรอยยิ้ม ตราสัญลักษณ์ Nike และเสื้อสีแดง ในการลงแข่งรอบสุดท้ายของรายการในวันอาทิตย์ ที่ต่อมากลายเป็นแบรนด์ Sun Day Red ของเขาเอง
เขาคว้าแชมป์เมเจอร์ทั้งหมด 4 รายการภายในปีเดียว จนได้รับการตั้งชื่อผลงานในปี 2000-2001 ว่า Tiger Slam คว้าแชมป์ PGA Tour ไปทั้งหมด 82 รายการ ซึ่งเทียบเท่ากับสถิติสูงสุดตลอดกาลของ แซม สนีด และทำในสิ่งที่เรียกว่า The Greatest Comeback ในประวัติศาสตร์กีฬา ด้วยการกลับมาคว้าแชมป์มาสเตอร์สสมัยที่ 5 เมื่อปี 2019
โดยช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ ไทเกอร์ วูดส์ เขาทำงานร่วมกับ บุช ฮาร์มอน ครูกอล์ฟหมายเลขหนึ่งของโลก พวกเขาเริ่มต้นทำงานด้วยกันในเดือนสิงหาคม ปี 1993 ก่อนจะคว้าแชมป์เมเจอร์ถึง 8 รายการ ทำ Tiger Slam ได้ 2 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2000 และ 2001 รวมทั้งคว้ารางวัลนักกอล์ฟยอดเยี่ยมประจำปีของ PGA ไป 5 ปี ก่อนจะแยกทางกันในปี 2002
“ผมจำได้ว่าผมถามเขาตอนที่ทำ Tiger Slam”
คล็อด ฮาร์มอน ลูกชายของ บุช ฮาร์มอน ที่ตอนนั้นได้รับหน้าที่เป็นผู้บันทึกภาพการฝึกซ้อม ถามไทเกอร์ในวันที่เขาขึ้นสู่จุดสูงสุดกับ Tiger Slam
“เขาอยู่ที่เวกัส ตอนนั้นเขาคือนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
“ผมถามเขาว่า คุณรู้แล้วใช่ไหมว่าคุณคือนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ความรู้สึกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง”
ซึ่งไทเกอร์กลับตอบเขาว่า
“ผมไม่เคยคิดแบบนั้นเลย”
แต่ก่อนที่เราจะไปถึงเหตุผลว่า ทำไมไทเกอร์ถึงไม่เคยมองตัวเองว่าเป็น GOAT หรือ The Greatest of All Time เราจะไปสำรวจแนวคิดการทำงานของ บุช ฮาร์มอน ครูกอล์ฟหมายเลขหนึ่งของโลก ผ่านบทสัมภาษณ์กับลูกชายของเขาที่กล่าวถึงหลักการที่สำคัญที่สุดของการก้าวขึ้นไปสู่ความยิ่งใหญ่ในกีฬากอล์ฟ
คล็อด ฮาร์มอน ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์เปิดสถาบันสอนกอล์ฟชั้นนำระดับโลกที่ Robinswood Golf Club ภายใต้ชื่อว่า Claude Harmon Performance Golf Academy ก่อนจะพูดคุยกับ THE STANDARD SPORT
“การทำโปรเจกต์นี้ผมต้องบอกว่าเราไม่ได้มาสอนวงสวิง ไม่ใช่ว่าเรามาสอนเทคนิคให้ผู้คน แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมของความเป็นเลิศ วัฒนธรรมของการทำงาน และวัฒนธรรมของการสอนคนเล่นกอล์ฟ” คล็อดกล่าว
“หนึ่งในตัวอย่างของวัฒนธรรมที่ผมกล่าวถึงคือ สิ่งที่ นิค เซบัน ยอดโค้ชอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยผู้โด่งดัง เคยทำคลิปที่ดีมากใน YouTube ที่มีชื่อว่า Illusion of Choice (ภาพลวงตาว่ามีทางเลือก)
“เขาอธิบายว่า หลายคนในชีวิตคิดว่าพวกเขามีตัวเลือกมากมาย และเขาจะทำอะไร แบบไหนก็ได้ ที่พวกเขาต้องการ แต่ถ้าคุณต้องการก้าวขึ้นไปสู่ความยิ่งใหญ่ คุณไม่มีตัวเลือก เพราะความสำเร็จมีหนทางเดียวนั่นคือ เกิดจากการลงทุน ลงแรง โฟกัส และการเสียสละอะไรบางอย่าง เป็นหลักการทางคณิตศาสตร์ที่เรียบง่าย
“ตอนแรกที่ผมเจอ ไทเกอร์ วูดส์ ตอนนั้นปี 1993 พ่อผมทำงานกับ เกร็ก นอร์แมน (นักกอล์ฟเบอร์หนึ่งของโลก ณ ตอนนั้น) และเขาเพิ่งคว้าแชมป์ The Open 1993 ที่ Royal St. George และได้กลับขึ้นมือหนึ่งของโลก ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 23 สิงหาคม 1993
“ไทเกอร์ วูดส์ โทรหาพ่อผมแล้วมาพบกัน ตอนนั้นทุกคนรู้จักไทเกอร์และได้ยินเรื่องราวของเขามาก่อนแล้ว ตอนนั้นเขาอายุเพียง 17 ปี
“ผมไม่เคยลืมคืนนั้นที่เรากำลังขับรถกลับบ้าน ผมถามพ่อว่าคิดว่าอย่างไร พ่อผมบอกว่า พ่อไม่รู้ว่าจะมีโอกาสไหม แต่ถ้าได้ทำงานกับเด็กคนนั้นเต็มเวลา พ่อเชื่อว่าท่านสามารถที่จะทำให้เขากลายเป็นนักกอล์ฟที่ดีที่สุดตลอดกาลได้ เพราะเขามีทุกอย่างที่ไม่สามารถใช้การสอนเพื่อพัฒนามันได้ หนึ่งในนั้นคือความเร็ว
“เขามีความเร็วในแบบที่วงการกอล์ฟตอนนั้นไม่เคยเห็นมาก่อน เขามาเล่นกอล์ฟอาชีพและไดรฟ์ลูกได้ไกลกว่าคนที่เคยได้แชมป์เมเจอร์หรือไอคอนของวงการกอล์ฟในตอนนั้น
“เขาเปลี่ยนแปลงวงการไปตลอดกาล”
คล็อดกล่าวว่า เขาก็คนที่ดิบและตรงมาก โดยเฉพาะการวิเคราะห์และวิจารณ์ความสามารถของตัวเอง
“แล้วตัวตนเขาล่ะเป็นอย่างไร จากที่ผ่านการทำงานร่วมกันเป็นเวลา 10-11 ปี” เราถามคล็อดต่อ
“เขาไม่เคยหยุดเรียนรู้ เขาอยากจะเปลี่ยนทุกจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง และเขาไม่เคยคิดว่าเขาเก่งที่สุด เขาคิดอย่างเดียวว่าต้องไม่มีใครทำงานหนักกว่าเขา และเขาไม่คิดว่าจะมีใครที่พร้อมจะทำในสิ่งที่จะช่วยให้ไปถึงจุดสูงสุดเหมือนกับเขา
“ผมจำได้ว่าผมถามเขาตอนที่ทำ Tiger Slam ได้ ผมถามเขาว่า คุณรู้แล้วว่าคุณคือนักกอล์ฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ความรู้สึกตอนนี้เป็นอย่างไร”
ซึ่งไทเกอร์กลับตอบเขาว่า
“เขาไม่เคยคิดแบบนั้นเลย แต่เขารู้ว่าจะไม่มีใครทำงานหนักกว่าเขา ไม่มีใครที่พร้อมจะทำในสิ่งที่จำเป็นต่อความยิ่งใหญ่เหมือนกับที่เขาทำ
“สตีฟ วิลเลียมส์ แคดดี้ของเขา บอกว่า ไทเกอร์ไม่เคยจัดการฉลองชัยชนะ ไม่เคย แม้แต่ในระดับเมเจอร์ เพราะเขาคาดหวังตลอดว่าจะได้แชมป์ และนั่นคือหน้าที่ของเขา” คล็อดกล่าว
“เขาไม่เคยมี Illusion of Choice เลยเหรอ” เราถามต่อ
“ไม่มี” คล็อดตอบปิดท้าย