แนวคิดการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหลายหัวเมืองในหลายประเทศเล็งจะหยิบเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเทรนด์ที่ประชากรกำลังเคลื่อนตัวไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น
THE STANDARD WEALTH ได้คุยกับ Kok-Chin Tay ประธานเครือข่าย Smart Cities Network ในงาน Digital Economy Summit 2024 เวทีสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นโดย Cyberport ณ ฮ่องกง เมื่อกลางเดือนเมษายน 2024 เพื่อให้เข้าใจจุดแข็งและความแตกต่างของกลุ่มประเทศในอาเซียน กับการเปิดรับแนวคิดพัฒนาเมืองให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ไม่เหมือนกับภูมิภาคอื่นบนโลก
🟠 เทรนด์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกับโอกาสของอาเซียน
ข้อมูลผลสำรวจจากรายงาน Smart Cities Solutions for a Riskier World เผยว่า เมืองต่างๆ มีการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ คลาวด์ (88%), เทคโนโลยีการสื่อสาร (86%) และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือ Internet of Things (84%) อีกทั้งภายในปี 2026 การลงทุนเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า Digital Twins หรือโมเดลเสมือนจริงในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถจำลองพฤติกรรมและติดตามการปฏิบัติงานของวัตถุทางกายภาพ เช่น ตึกรามบ้านช่อง รถยนต์ หรือกระทั่งเมืองทั้งเมือง จะเป็นสิ่งที่มีเม็ดเงินการลงทุนสูงที่สุด ซึ่งจะเติบโตจากในระดับปัจจุบันขึ้นอีกกว่า 282%
หากหันมามองที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาคนี้ก็คือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 ตามรายงานของ S&P Global ตามมาด้วยประเทศไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ที่แต่ละประเทศมีส่วนแบ่งอยู่ระหว่าง 10-15%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทริปเยือน 3 ประเทศอาเซียนของ Microsoft ทำไมไทยไม่ได้เห็นเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจน?
- ส่องมูลค่า Data Center ไทย แม้เติบโตถึง 31% ต่อปี แต่ยังเป็นรองมาเลเซีย
ด้วยจำนวนประชากร 669 ล้านคน Kok-Chin เห็นว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากชนชั้นกลางที่มีศักยภาพในด้านกำลังซื้อ และในอนาคตอีกประมาณ 6 ปี สัดส่วนของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคนี้ถึง 3 ใน 4 จะเต็มไปด้วย Millenials (Gen Y) และ Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
🟠 อมตะ สมาร์ทซิตี้แบบอย่างของไทย
สำหรับประเทศไทย Kok-Chin ยกตัวอย่าง AMATA Smart City นิคมอุตสาหกรรมของไทยในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งโครงการระยะแรกครอบคลุมพื้นที่ 4,000 ไร่ สามารถดึงดูดการลงทุนได้แล้วด้วยมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท จากบริษัท เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ลงทุน 4.7 พันล้านบาทเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม และบริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ลงทุน 700 ล้านบาทเพื่อพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ภายในสมาร์ทซิตี้
การลงทุนเหล่านี้ รวมถึงการลงทุนอื่นจากบริษัทต่างๆ ในอนาคต คาดว่าจะสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่ EEC
ในมุมมองของ Kok-Chin ไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการวางโครงสร้างสำหรับสมาร์ทซิตี้ได้ค่อนข้างดี
“ผมไม่ค่อยเป็นห่วงนะถ้าพูดถึงประเทศไทย เพราะผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลและประชาชน แต่ถ้าต้องแนะนำผมคิดว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มากกว่านี้ เพราะมันจะเป็นรากฐานสำคัญในอนาคตสำหรับการพัฒนาประเทศให้ทันยุคสมัยของเทคโนโลยี”
🟠 AI กับการรับมือปัญหาสังคมสูงวัย
ความร้อนแรงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้เมืองต่างๆ เริ่มนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นำโดยสิงคโปร์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและประชาชนระดมไอเดียหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยเปิดให้เข้าถึงเครื่องมือ AI ของ Google แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ต้องการหนทางรับมือก็คือ ‘สังคมสูงวัย’ ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์กับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยที่เรามีอายุเฉลี่ยของประชากรที่ 40 ปี
“Huawei ได้เริ่มโปรเจกต์ที่จะช่วยให้ผู้ชราค้นหาโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้นด้วย AI รวมถึงค้นหาสถานที่ออกกำลังกายที่มี AI เป็นผู้แนะนำ ผมคิดว่าประเด็นของสมาร์ทซิตี้ก็คือการใช้เทคโนโลยีเข้าไปลดหรือแก้ปัญหาที่มีในสังคม” Kok-Chin กล่าว
แม้ว่าสมาร์ทซิตี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินการกล่าวถึงความพยายามที่จะทำให้เมืองในปัจจุบันกลายเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ก็มีหลายกรณีที่ความพยายามดังกล่าวต้องถูกล้มเลิกไป ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาสมาร์ทซิตี้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องคือการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการเอาความต้องการของ ‘ประชาชน’ เป็นที่ตั้งผ่านการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถรายงานปัญหาหรือแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง
ภาพ: Mongkol Chuewong / Getty Images