ในวาระเฉลิมฉลองครั้งที่ 60 ของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (La Biennale di Venezia หรือ The Venice Biennale) มหกรรมศิลปะนานาชาติที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดขึ้นมาถึง 129 ปีแล้ว ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี (อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไมจัดมา 129 ปี ถึงมีแค่ 60 ครั้ง เพราะเบียนนาเล่ (Biennale) นั้นเป็นลักษณะของมหกรรมศิลปะนานาชาติขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี คำว่า Biennale (หรือ Biennial ในภาษาอังกฤษ) นั้นแปลว่า ปีถัดไปหรือทุกๆ 2 ปีนั่นเอง)
และในเวนิส เบียนนาเล่ 2024 ครั้งนี้ นานาประเทศต่างส่งผลงานศิลปะเข้ามาร่วมแสดงใน Pavilion (ศาลาแสดงงาน) ของแต่ละชาติกันอย่างคับคั่ง ต่างแข่งขันกันเปล่งประกายรัศมีจากงานศิลปะร่วมสมัยอย่างไม่ยอมน้อยหน้ากัน แต่น่าเสียดายที่ในปีนี้ประเทศไทยเราไม่มีการส่งศิลปินไปแสดงงานใน Thailand Pavilion แต่อย่างใด
แต่กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีฉันใด กรุงเทพมหานครก็ไม่ได้ขาดไร้ผู้มีความสามารถฉันนั้น เพราะในปีนี้มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้นำเหล่าบรรดาศิลปินเข้าร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ และก็ไม่ได้มีแค่เพียงศิลปินชั้นนำของไทยเท่านั้น หากแต่รวมถึงศิลปินชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น สปป.ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่มาร่วมกันจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยภายในอาคาร Palazzo Smith Mangilli Valmarana (Palace Smith Mangilli Valmarana) อาคารเก่าแก่ในศตวรรษที่ 18 ที่โดดเด่นด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ Neo-Classic
โดยเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินอาเซียนที่สำรวจประเด็นทางสังคมและการเมืองของภูมิภาค การพลัดถิ่น การโยกย้ายถิ่นฐาน ผลกระทบจากสงคราม และอัตลักษณ์ทางชนชาติหลังยุคอาณานิคมเหล่านี้ ต่างมีปฏิสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่กับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของเมือง และสร้างบทสนทนาระหว่างจิตวิญญาณของตะวันตกและตะวันออกได้อย่างโดดเด่นน่าจับตายิ่ง
ด้วยความที่ในคราวนี้เรามีโอกาสได้เดินทางไปชมนิทรรศการครั้งนี้กับตาตัวเองในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี รวมถึงได้พูดคุยกับ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผู้เป็นมันสมองและหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ผู้ริเริ่มและผลักดันให้นิทรรศการครั้งนี้สำเร็จเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ขอ เชิญทุกท่านมาร่วมกันรับรู้ถึงความเป็นมาเป็นไปของนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ร่วมกันจากบทสนทนาครั้งนี้ได้เลย
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์
ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
แรกสุดนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 มีที่มาที่ไปอย่างไร
ศ.ดร.อภินันท์: อันที่จริงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้เกิดขึ้นมาก่อนสถานการณ์โควิดด้วยซ้ำไป เพราะเดิมทีสมาชิกของมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale Foundation) เราจะมาดูงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ บ่อยครั้ง ตั้งแต่คราวที่เราจัดแสดงเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในปี 2018 และปี 2022 เราก็วางแผนที่จะจัดงานในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ภายใต้ชื่อนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
แล้วเราก็จองสถานที่แสดงงานเอาไว้แล้วด้วย เป็นโบสถ์ที่อยู่ติดกับวิหาร Santa María della Salute ตรงปากทาง Grand Canal เวนิส แต่พอเราเตรียมจะเซ็นสัญญา โควิดก็ระบาด จนต้องชะลอโครงการ พอหลังสถานการณ์โควิด เรากำลังจะติดต่อกลับไป ก็ทราบว่าพื้นที่ตรงนั้นมีคนจองไปเรียบร้อยแล้ว เราก็เลยไปสำรวจพื้นที่ใหม่ 4-5 แห่ง แล้วเราก็มาเจอพื้นที่แห่งนี้ (Palazzo Smith Mangilli Valmarana) เราก็ชอบมาก เราเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ท้าทายในการทำงานของเรา ด้วยรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมและการตกแต่งต่างๆ ที่โดดเด่น
แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เจ้าของสถานที่แห่งนี้บังเอิญเป็นเจ้าของเดียวกับสถานที่เดิมที่เราจองเอาไว้ตอนแรก พอเราไปติดต่อทุกอย่างก็ราบรื่น เขาดีใจที่เป็นเรา เพราะเขาค่อนข้างเลือกมาก เลือกในที่นี้หมายความว่า เขาดูว่าเราจะเอางานอะไรเข้าไปจัดแสดงในนั้น เพราะพื้นที่ค่อนข้างบอบบาง อย่างที่เราเห็นว่าเป็นพื้นที่เก่าแก่ แล้วเขาก็หวงมาก เพราะไม่ได้เปิดมา 12 ปีแล้ว แต่ก็มีคนพักอาศัยอยู่ เพราะทายาทของเจ้าของเดิมคือตระกูลแมนจิลี (Mangilli) ก็ยังอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นที่พักอาศัย แต่ชั้นนี้ที่เราจัดแสดงงานเมื่อ 12 ปีก่อนหน้านี้ พื้นที่นี้เคยเปิดให้เป็นพื้นที่แสดงงานในเวนิส เบียนนาเล่ มาก่อน หลังจากนั้นก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ชะลอตัวและปิดไป
Palazzo Smith Mangilli Valmarana
นิทรรศการนี้คือการจัดแสดงครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา?
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ครับ แล้วก็มีแนวโน้มว่านิทรรศการนี้คืองานสุดท้ายด้วย เพราะเขากังวลมาก
ว่าจะเกิดความเสียหายกับอาคาร?
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ครับ ในครั้งนี้การติดตั้งงานมีความยากลำบากมาก เพราะอาคารมีความเก่าแก่มาก เราต้องระมัดระวังกันอย่างมาก อีกอย่างเจ้าของพื้นที่เขาต้องการความเป็นส่วนตัวด้วย เห็นได้จากในช่วงเวลานี้ข้างนอกคนเดินกันขวักไขว่มาก แต่พื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่ Unseen มากๆ เรายังไม่ต้องพูดถึงตัวนิทรรศการนี้ เอาแค่ตัวสถาปัตยกรรมและการตกแต่งของอาคารแห่งนี้ก็เป็นอะไรที่สุดยอดมากอยู่แล้ว
แค่มาดูสถานที่ก็คุ้มค่าแล้ว
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ สำหรับผู้สนใจงานสถาปัตยกรรม ในช่วงเวลาก่อนเปิดงาน คณบดีคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษาสถาปัตยกรรม สิบกว่าคนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม Pavilion ของเรา เพราะเขาสนใจอาคารแห่งนี้อยู่แล้ว พอเขารู้ว่ามีงานนิทรรศการศิลปะ เขาก็อยากจะมาด้วย
เพราะพื้นที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมายาวนาน เดิมทีเป็นอาคารแบบโกธิกไบแซนไทน์ (Gothic Byzantine) ก่อนที่ โจเซฟ สมิธ กงสุลชาวอังกฤษ จะมาซื้ออาคารแห่งนี้ และตกแต่งฟาซาดของอาคารใหม่ในปี 1743
ที่นี่ยังเคยเป็นศูนย์กลางของการพบปะของศิลปินในยุค Neo-Classic ทั้ง กานาเลตโต, ติโปโล ก็เคยมาคลุกคลีอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ยังเป็นที่รวมตัวของนักสะสม เนื่องจากเจ้าของอย่างสมิธเอง นอกจากจะเป็นอดีตกงสุลของอังกฤษแล้ว ก็ยังเป็นนักสะสมงานศิลปะ และตัวแทนของกานาเลตโต เพราะฉะนั้นที่นี่ก็มีการแลกเปลี่ยนของงานศิลปะและการทูต
ต่อมาพอสมิธเสียชีวิต เคานต์ จูเซปเป แมนจิลี ก็มาซื้ออาคารแห่งนี้ต่อ (อาคารแห่งนี้จึงมีชื่อแมนจิลีพ่วงอยู่ด้วย) และเคานต์แมนจิลีก็ว่าจ้างสถาปนิก จานอันโตนิโอ เซลวา ให้ตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในอาคารแห่งนี้ใหม่ในสไตล์ Neo-Classic ด้วยความที่เคานต์แมนจิลีเป็นคนที่เดินทางเยอะ ก็จะเห็นว่าการตกแต่งมีรายละเอียดจากการเดินทางของเขาอยู่มาก ทั้งอิทธิพลของจีนและแอฟริกาต่างๆ มาผสมผสานกันเป็นดีไซน์ลูกผสม เราก็มองว่าบรรยากาศในพื้นที่แห่งนี้เข้ากับบรรยากาศในผลงานของศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เราเชิญมาแสดงงานอย่างมาก
ที่น่าสนใจก็คือ ตอนที่เราตั้งชื่อนิทรรศการว่า The Spirits of Maritime Crossing ทางเวนิส เบียนนาเล่ ยังไม่มีการตั้งชื่อธีมของมหกรรมว่า Foreigners Everywhere เลยนะ
ซึ่งบังเอิญเหมาะเจาะกับความเป็น Southeast Asia Pavilion ของ Bangkok Art Biennale พอดิบพอดี
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ แล้วเราก็มองว่าแนวคิดของ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ครั้งนี้เขาพยายามจัดให้งานมหกรรมมีความยิ่งใหญ่และหลากหลายด้วย Pavilion จากหลากหลายประเทศ ภายใต้หัวข้อ Foreigners Everywhere (ชาวต่างชาติในทุกแห่งหน)
ทำไมอาจารย์ถึงทำเป็น Southeast Asia Pavilion แทนที่จะเป็น Thai Pavilion
ศ.ดร.อภินันท์: ผมไม่เคยคิดว่าจะทำ Thai Pavilion ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะในปี 2003 ผมเป็นคนริเริ่มให้เกิด Thai Pavilion ในเวนิส เบียนนาเล่ เป็นครั้งแรก แต่ประวัติความเป็นมา เราจะไม่เสียเวลาพูดถึงว่ามีดราม่าอะไรตามมาบ้าง (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าชื่อนี้ช้ำไปแล้ว และทางฝ่ายกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้จัด Thai Pavilion ในเวนิส เบียนนาเล่ มาสองรอบแล้ว เราหลุดจากวงโคจรไปแล้ว เพราะฉะนั้นความตั้งใจของเราคือ เราจะไม่เป็น Thai Pavilion
ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นตัวแทนของความเป็นชาติไทยอย่างเดียว
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ครับ แต่แน่นอนเรามีศิลปินไทย ซึ่งมีจำนวนมากกว่าศิลปินชาติอื่นๆ นอกจากนั้นเราก็มีศิลปินชาวลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ อยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า ความเป็น Exotic ของ National Pavilion กับความเป็น Exotic ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะมีความแตกต่างและมีความขัดแย้งอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ความเชื่อ การเมือง การปกครอง การเกิดรัฐประหาร (โดยทหาร) หรือการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งเป็นปัญหามาโดยตลอด ไม่ใช่แค่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของหลายประเทศทั่วโลก เราแค่เลือกทำนิทรรศการในบริบทนี้ออกมา และการที่เราไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาล เราจึงสามารถพูดสิ่งเหล่านี้ได้
วิพากษ์วิจารณ์ได้?
ศ.ดร.อภินันท์: ถูก เพราะว่าไม่ใช่แค่ Thai Pavilion เท่านั้น Pavilion อื่นๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนเข้ามาเขาก็ต้องมาแบบลูกรักของรัฐบาล อย่างหลายคนอาจจะผิดหวังกับ Pavilion ของบางประเทศ เพราะเขามาแบบ…
เด็กดี?
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ เป็นเด็กดี ไม่ได้หมายความว่าเป็นเด็กดีไม่ดีนะ อาจจะดีก็ได้ แต่ในเวทีนี้ของเวนิส เบียนนาเล่ ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 1895 จัดแสดงมาเป็นร้อยกว่าปีก็มีปัญหามาตลอด เพราะความเป็น National Pavilion คือแต่ละประเทศมาเปล่งรัศมีของประเทศตัวเอง แล้วคุณมีรัศมีหรือไม่มีล่ะ? คุณมีมากคุณก็แสดงออกมามาก คุณมีน้อยคุณก็แสดงออกมาน้อย ซึ่งก็บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศที่มีกับประเทศที่ไม่มี ถึงแม้แต่ในเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้ก็ตาม ที่มีศิลปินเอเชียแสดงเยอะมาก แต่ไม่มีลาว ไม่มีเมียนมา ไม่มีกัมพูชา ไม่มีไทย เราก็เลยไปเสริมให้เขา
ตอนนี้ทุกคนกล่าวถึง Pavilion ของเราว่าเป็น Southeast Asia Pavilion แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแบบบริบูรณ์หรอก
เพราะว่าเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ต้องการด้วย เพราะเราอยู่เมืองไทย เราเข้าใจถึงเรื่องการถูกเซ็นเซอร์หรือการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้เราจะเห็นว่าประเทศอื่นๆ เขาก็ถูกรัฐจับตาและพึงระวังเหมือนกัน ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ เพราะตอนนี้ Pavilion อิสราเอล ก็ปิดตัวเองไปแล้วจากสถานการณ์ที่ผ่านมา
ตอนไปดูงานเวนิส เบียนนาเล่ ก็เจอผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์หน้า Pavilion ของสหรัฐอเมริกาด้วย
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ หรืออย่าง 2 ปีที่แล้ว Pavilion ของรัสเซีย ปิดตัวเอง เพราะศิลปินประท้วงรัฐบาลตัวเอง
แล้วความ ‘ไม่เป็นเด็กดี’ ของผลงานในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing นั้นอยู่ตรงไหน
ศ.ดร.อภินันท์: ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน จักกาย ศิริบุตร นั้นดูใสๆ แต่พูดถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้คนในชายแดนไทย / พม่า ซึ่งถ้าคุณดูอย่างละเอียดอ่อนคุณจะเข้าใจว่า ถึงแม้จักกายจะนำเสนอผลงานที่ดูน่ารักสดใสแบบเด็กดี แต่ว่าเนื้อหาโคตรแรงเลย เพราะว่าเขาไปทำงานกับชาวไทใหญ่กับคนชายขอบจริงๆ เขาลงพื้นที่จริงๆ ไปเจอผู้คนที่ไม่มีรัฐ ไม่มีสัญชาติจริงๆ หรือผลงานผ้าปักรูปธงของเขาก็เป็นธงที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ คนพลัดถิ่น ซึ่งเราก็ตั้งคำถามกลับไปว่า คำว่า Foreigners Everywhere ในธีมของเวนิส เบียนนาเล่ นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า แล้วเมื่อไรจะมีศิลปินรัฐฉาน ศิลปินไทใหญ่ ในเวนิส เบียนนาเล่ บ้าง ในขณะเดียวกันเด็กๆ ที่มาร่วมโครงการนี้และร่วมกันปักผ้าในผลงานของจักกาย ก็เป็นตัวแทนของศิลปินไทใหญ่ได้เหมือนกัน
นี่คือตัวอย่างของความ ‘ไม่เป็นเด็กดี’ ในนิทรรศการของเรา
หรือแม้แต่ผลงานวิดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ถึงแม้จะเป็นงานที่ดูเหมือนมีสีสัน สดใส อ่อนหวาน แต่ก็มีเนื้อหาที่พูดถึงการถูกกดขี่แรงงานและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของผู้หญิง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง
หรือผลงานของ หยี่ อิ-ลาน ที่เป็นบทเพลงของชาวบอร์เนียว แต่เนื้อหาของเพลงก็พูดถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในพรรคคอมมิวนิสต์ของมาเลเซีย พูดถึงความเหลื่อมล้ำ คนพลัดถิ่น คนเร่ร่อน ในขณะเดียวกันเขาก็พูดถึงการถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมในชุมชนของเขา
หรือผลงานของ โม สัต ศิลปินเมียนมา ด้วยความเป็นตัวตนของเขาก็ตั้งคำถามแล้วว่า ‘เขาคือใคร?’ เอาเข้าจริงๆ แล้วเขาอยู่ในเมียนมาหรือเปล่า เขาก็อยู่ไม่ได้ เขาพลัดถิ่นไปอยู่ในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังด้วย ถ้าคุณไปสืบค้นประวัติของ โมสัต คุณก็จะพบว่า ถึงแม้งานวิดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ของเขาจะดู Exotic น่าสนใจ แต่ตัวของเขาก็คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการ
หรือผลงานของ จอมเปท คุสวิดานันโต ก็พูดถึงการถูกล่าอาณานิคมทับซ้อน โคมไฟแชนเดอเลียร์ที่ตกลงมาแตกบนพื้น หรือเปียโนที่เหลือแต่ซาก ก็เป็นสัญลักษณ์ของการที่อินโดนีเซียถูกกระทำทั้งจากชาวดัตช์ ญี่ปุ่น และอเมริกัน เศษซากวัตถุเหล่านี้ยังดูเหมือนเกาะที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร ซึ่งเปรียบเปรยถึงประเทศหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซีย ที่สร้างบทสนทนากับผลงานของ ปรียากีธา ดีอา ซึ่งมีเนื้อหารุนแรงมาก โดยพูดถึงบรรพบุรุษที่เธอหาไม่เจอ ซึ่งอพยพมาจากอินเดียตอนใต้ พลัดถิ่นมาเป็นกรรมกรกรีดยางในมาลายา และกลายเป็นคนสิงคโปร์ เธอเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลกลับไปสืบหาบรรพบุรุษของเธอ แต่ก็ไม่เจอ ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน แล้วก็เช่นเดียวกับงานของกวิตาคือ การพูดถึงแรงงานเพศหญิง เธอยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
การจัดสรรให้ผลงานของศิลปินแต่ละคนไปอยู่ในพื้นที่แต่ละส่วนภายในอาคาร Palazzo Smith Mangilli Valmarana อาจารย์พิจารณาจากอะไร
ศ.ดร.อภินันท์: ก่อนอื่นเราต้องเคารพสถานที่ก่อน แล้วเราก็ต้องเคารพศิลปินด้วย เพราะไม่ใช่อยู่ๆ เราจะบอกให้ศิลปินไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ตามอำเภอใจ เราต้องสนทนากับศิลปินว่าอาคารนี้มีอะไรอยู่ตรงไหน ส่งภาพถ่ายอาคารไปให้พวกเขาดู ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่ เราก็ต้องพูดคุยผ่านการประชุมออนไลน์ว่าพื้นที่ที่ว่านี้เหมาะกับศิลปินแต่ละคนไหม เราทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แล้วผมก็ไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมต้องให้เครดิตกับพอใจ (อัครธนกุล) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ และทีมงานทุกคนด้วย พวกเขาทำงานเยอะมาก และมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด
ยกตัวอย่างเช่น ผลงานของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา กับ นักรบ มูลมานัส เราตั้งใจให้ผลงานของพวกเขาพูดคุยกับพื้นที่แสดงงานแห่งนี้ จากความทับซ้อนของประวัติศาสตร์ของพื้นที่แสดงงานกับประวัติศาสตร์ของสยาม ที่อาจจะบอกว่าไม่ได้ตกอยู่ใต้อาณานิคม แต่กลายเป็นอาณานิคมด้วยตัวเองเต็มตัว ด้วยการสร้างบทสนทนากับงานจิตรกรรมในห้องโถงที่พวกเขาแสดงงาน พวกเขาทำงานกันเยอะมาก ทั้งค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาวสยามที่เคยเดินทางมายังยุโรป แล้วก็ไม่ใช่ประวัติศาสตร์การเดินทางแบบทางการ แบบเรื่องของเจ้านายเสด็จประพาสยุโรป หากแต่พูดถึงคน ธรรมดา คนที่ถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก
เป็นประวัติศาสตร์กระแสรอง?
ศ.ดร.อภินันท์:ใช่ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีตัวตน แต่ถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของสามัญชน พวกเขาก็ไปค้นคว้ากันที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและที่ต่างๆ แล้วหยิบเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับและแปลงเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหว สุดยอดมาก คือก้าวไปไกลกว่าคำว่าศิลปิน กลายเป็นนักวิชาการหรือนักมานุษยวิทยาไปแล้ว
อาจารย์คิดว่านิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ครั้งนี้ จะเป็นนิทรรศการนำร่องศิลปินไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกไปแสดงงานบนเวทีระดับโลก เช่นเดียวกับที่อาจารย์เคยทำในนิทรรศการ Traditions/Tensions ที่นิวยอร์ก หรือนิทรรศการ Thailand Eye (ไทยเนตร) ที่ลอนดอน เมื่อหลายสิบปีก่อน ในอนาคตโครงการนี้จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องไหม
ศ.ดร.อภินันท์: ผมคิดว่าน่าจะมี เพราะว่าในนิทรรศการครั้งนี้ผลตอบรับที่ผู้ชมต่างพูดถึงศิลปินไทย ศิลปินลาว ศิลปินเวียดนาม หรือศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนิทรรศการนี้กันเยอะมาก เราตั้งคำถามว่า ก่อนหน้านี้ที่เราเชิญศิลปินต่างชาติมาแสดงในเมืองไทย แต่ตอนนี้เรากำลังทดสอบตัวเองด้วยการเชิญศิลปิน Bangkok Art Biennale (หรือไม่ใช่ Bangkok Art Biennale ก็ตามแต่) ออกมาแสดงงานนอกเมืองไทย แต่เราดันไปเลือกโจทย์ที่ยากที่สุด คือเรามาเวนิส เบียนนาเล่ ซึ่งเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุด และเป็นการทำงานที่ยากมากๆ เราก็ต้องคอยดูบทพิสูจน์ในช่วงเวลาอีก 8 เดือนของมหกรรมว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
ตอนนี้เรามีการเริ่มคุยกันแล้วว่า เราอาจจะใช้คำอุปมาอุปไมยว่า ‘วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ ในชื่อนี้อยู่ แต่ตัวศิลปินอาจจะเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่ เราอาจจะไม่ต้องไปเสาะหาศิลปินไกลตัวนัก แค่ลัดเลาะไปตามประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เป็นบทสนทนาในภูมิภาคของเรา
แต่ก็เรียกได้ว่าเริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่เลยทีเดียว
ศ.ดร.อภินันท์: ผมคิดว่ามันท้าทายนะ ถ้าเผื่องานนี้มีผลลัพธ์ที่ดี เราอาจจะมีผู้สนับสนุนจริงๆ เพิ่มขึ้น เราอยากให้มีคนที่สนใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ One Bangkok เท่านั้น เราต้องการให้มีหลากหลายองค์กรมาร่วมสนับสนุน อย่างเช่น คราวนี้เรามี 100 Tonson Foundation และNova Contemporary, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) มาร่วมสนับสนุน แต่เราอยากจะให้มีองค์กรในภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมเกี่ยวข้องด้วย
องค์กรที่ว่านี้หมายถึงองค์กรภาครัฐไหม
ศ.ดร.อภินันท์: ไม่ เพราะว่าผมจะไม่กลับไปติดกับดักเดิม ที่พูดไปทั้งหมดไม่มีองค์กรรัฐในสมการของเรา มีไปทำไมล่ะ ผมยกตัวอย่างว่า ถ้ามีองค์กรรัฐมาร่วมด้วย ผมจะเหมือนถูกสวม Straitjacket (เสื้อรัดแขน) ทันที แล้วผมอยู่ในระบบราชการมากี่ปีแล้ว ตั้งแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากระทรวงวัฒนธรรม ผมแก่จะตายอยู่แล้ว เรื่องอะไรผมจะต้องมัดแขนมัดขาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น ก็ให้ Thailand Biennale เขาทำไปสิ
หมายถึงถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเขาก็ต้องมีวาระของเขา
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ ถ้าคุณสนับสนุน แต่คุณมีวาระซ่อนเร้น อย่างเช่น ต้องมีรัฐมนตรีที่ไม่รู้เรื่องงานศิลปะมาเปิดงานให้ เขามาในบริบทของเขา เขาต้องการออกสื่อ เขามาตัดริบบิ้น แล้วเขาก็ไม่สนใจศิลปะแต่อย่างใด ซึ่งผมพูดแบบนี้ได้ เพราะว่าผมเจอมาเยอะหนักหนาแล้ว หรือถ้ารัฐบาลมีวาระที่ต้องการจะสนับสนุนศิลปะจริงๆ ก็ดี สนับสนุนไปเลย แต่คุณต้องให้คนในวงการศิลปะเขามีส่วนร่วมด้วย คุณต้องรับฟังพวกเขา จากกลุ่มคนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่คุณสักแต่ว่าสั่งการลงมาอย่างเดียว
แม้แต่เรื่องของ Soft Power หรือเรื่องอะไรก็ตาม ณ ตอนนี้ พวกเราไม่ได้มาเวนิส เบียนนาเล่ ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาล หรือ Soft Power ซึ่งเราก็จะพิสูจน์ให้ได้ว่าเราก็ทำได้ โดยที่เรามีอิสระในการนำเสนอความคิดผ่านผลงานศิลปะ แม้แต่ผลงานที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง เราไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลนะ เพียงแต่เราต้องการความคล่องตัวในการทำงานมากกว่า
พอพูดถึง Soft Power การที่อาจารย์พาศิลปินไทยหรือศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกไปแสดงงานบนเวทีระดับโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในนิทรรศการนี้ก็นับเป็น Soft Power ในการเผยแพร่งานศิลปะและวัฒนธรรมจากภูมิภาคนี้ไปสู่โลกสากล และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ศิลปินเหล่านี้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานบนเวทีระดับโลกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ศ.ดร.อภินันท์: ผมทำเรื่องนี้มา 20-30 ปีภายใต้ระบบราชการ ทั้งกับศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศ แล้วกรณีเหล่านั้นก็ไม่ได้ง่าย แต่บางกรณีอย่าง São Paulo Biennial ในปี 1998 สมัยนั้นผมอยู่จุฬาฯ ทางเทศกาลก็เชิญให้เราไปโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับงบประมาณของใคร หรืออย่าง Traditions/ Tensions ในปี 1996 ที่เป็นนิทรรศการประวัติศาสตร์ เพราะเราไปแสดงที่นิวยอร์ก ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ
หรือแม้แต่นิทรรศการของ มณเฑียร บุญมา ที่เราไปทัวร์แสดงนิทรรศการในประเทศต่างๆ เราไม่เคยใช้งบประมาณของภาครัฐไทยเลย เราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Rockefeller และองค์กรนานาชาติต่างๆ ซึ่งให้ความสำคัญกับศิลปิน อย่างเช่น นิทรรศการ Traditions/ Tensions งานของ อัลวิน รีอามิโล ที่ร่วมแสดงในนิทรรศการนี้ก็ไปแสดงด้วย ร่วมกับงานของศิลปินไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาล
อีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนของรัฐบาลบ้านเราเป็นลักษณะแบบ Thai Centric กล่าวคือ จะไม่สนับสนุนศิลปินที่ไม่ใช่คนไทย แค่นี้ก็จบแล้ว แต่ยังดีว่าในกรณีของมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale นั้นมีการเชิญศิลปินต่างชาติเข้ามาร่วมแสดงงานด้วย ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นสิ่งที่ควรจะสนับสนุนให้มีต่อไป เพราะว่าเราก็อยากให้มีมหกรรมศิลปะแบบนี้สลับปีกันระหว่าง Bangkok Art Biennale สลับกับ Thailand Biennale สำหรับผู้ชม ศิลปิน หรือประชาชนที่สนใจ จะได้มีอะไรบางอย่างที่สร้างความแปลกใหม่ให้ได้เห็นได้ชมกันทั้งคนไทยและต่างชาติ นี่คือ Soft Power ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเรา เราต้องวางแผนให้ชัดเจนและมีความต่อเนื่อง
ถ้ามองแบบนี้ ก็สามารถพูดได้ว่ามหกรรมศิลปะ Venice Biennale นั้นเป็น Soft Power ของเวนิสด้วยเหมือนกัน สังเกตจากการที่โรงแรม ที่พักต่างๆ หรือแม้แต่เรือโดยสารในเวนิส ถูกจองเต็มหมด ถึงแม้ราคาจะพุ่งขึ้นหลายสิบเท่า นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลต่างหลั่งไหลเข้าประเทศในช่วงเวลานี้
ศ.ดร.อภินันท์: ใช่ เขาเริ่มต้นมาตั้งแต่แรกแล้ว คือโดยปกติเวนิสเป็นเมืองโรแมนติกที่น่ามาท่องเที่ยว ทั้งแสง สี เสียง ตั้งแต่สมัยของ กานาเลตโต ติโปโล ไปจนถึง ตินโตเรตโต (จิตรกรชาวเวนิส) เขาก็วาดภาพที่จับบรรยากาศของแสงรุ่งอรุณในเมืองเวนิส จนกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้คนอยากมาเที่ยวอยู่แล้ว
แต่นอกจากนี้ทางเมืองก็มีความคิดที่จะสร้างมหกรรมศิลปะเบียนนาเล่ด้วยการเอางานศิลปะสมัยใหม่มาเติมเต็มความเป็นเวนิส โดยจัดกันในสวน กลายเป็นจุดเริ่มต้นในปี 1895 ขึ้นมาให้คนได้มาดูศิลปะ จะดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็สุดแล้วแต่ แต่ก็มีอะไรให้ดู มีอะไรให้สนุกสนานรื่นรมย์
เพียงแต่สมัยนั้นอาจจะไม่ได้ใช้คำว่า Soft Power แต่ก็คือการดึงดูดให้คนมาเที่ยว ใช่ไหม พอเขาพัฒนามาเรื่อยๆ ก็ไม่ได้มีแค่ศิลปะ แต่มีงานสถาปัตยกรรม (Venice Biennale of Architecture), ภาพยนตร์ (Venice Film Festival) อะไรต่างๆ มากมาย ทำให้เขาสามารถขายความเป็นเวนิสได้ในทุกนาที ไม่แค่ใช่มหกรรมศิลปะเบียนนาเล่แค่เพียงสองปีครั้งเท่านั้น แต่มีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลาที่ดึงดูดให้ผู้คนต้องมา ไม่อย่างนั้นคุณก็จะตกขบวน
รวมไปถึงเรื่องของการค้า ศิลปินคนไหนถูกเลือกให้มาอยู่ในเวนิส เบียนนาเล่ แกลเลอรีต่างๆ ก็จะให้ความสนใจกันมาก ถึงแม้ว่าเวนิส เบียนนาเล่ จะตอกย้ำว่าเป็นมหกรรมศิลปะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าขาย ไม่ใช่ Art Fair แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ว่าแกลเลอรีและตลาดศิลปะก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในมหกรรมนี้ ทำให้เกิดการค้าขาย เกิดอุปสงค์-อุปทานขึ้นมา เพราะฉะนั้นการใช้ Soft Power ในที่นี้ของเขาคือการมองระยะยาว การวางแผนอย่างดี ที่โรงแรมหรือเรือโดยสารในเวนิสถูกจองกันเต็มหมด ก็เพราะเขาทำให้คนจำนวนมากอยากมาเที่ยวได้สำเร็จนั่นแหละ
ได้ยินว่าตั้งแต่เริ่มเปิดนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ก็มีผู้ชมและ สื่อมวลชนให้ความสนใจกันมาก
ศ.ดร.อภินันท์: ก็มีคนส่งข่าวมาให้ผมดูอยู่ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาผมยุ่งอยู่กับการติดตั้งงาน แต่ผมก็ชื่นใจนะ อย่างเว็บไซต์ Berlin Art Link ก็ประกาศว่า เราเป็น 1 ใน 10 นิทรรศการที่น่าสนใจในเวนิส เบียนนาเล่ 2024 หรือเว็บไซต์ Artnet ซึ่งมีคนอ่านเป็นสิบล้านคนก็ลงว่า นิทรรศการของเราติด 1 ใน 10 นิทรรศการที่ควรชม ซึ่งในปีนี้เป็นวาระ 60 ปี Venice Biennale ที่มี Pavilion เป็นร้อยแห่ง แล้วเราสามารถแทรกตัวเข้าไปในพื้นที่สื่อระดับสากลที่เขามาทำข่าวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ The New York Times ก็เขียนบทความเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ถึง 850 คำ ซึ่งเป็นอะไรที่สุดยอดมาก
ในทางกลับกัน การที่องค์กรเอกชนอย่างบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้สนับสนุนหลักของนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ครั้งนี้ในเวนิส เบียนนาเล่ ถึงแม้จะมองว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีขององค์กรที่มองเห็นความสำคัญของศิลปะ แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เป็นการใช้ศิลปะเป็นแค่ CSR และการโปรโมตภาพลักษณ์องค์กร หรือมีวาระแอบแฝงอื่นๆ หรือไม่
ศ.ดร.อภินันท์: อันที่จริงเรื่องแบบนี้ธนาคารต่างๆ เขาก็ทำมานานแล้ว ไม่ใช่แค่ธนาคารต่างชาติ ธนาคารของไทยเราก็ทำ เพราะการซื้อและสะสมงานศิลปะเป็นเครื่องมือที่บ่งบอกถึงพลังทางเศรษฐกิจ
ตอนนี้เรานั่งกันอยู่ที่อิตาลี เราก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงตระกูลเมดีชีใช่ไหม เมดีชีเป็นตระกูลของพ่อค้าวาณิช นักการธนาคาร ผู้ขับเคลื่อนยุคเรเนสซองส์ด้วยการอุปถัมภ์ศิลปินเอกอย่าง ไมเคิลแอนเจโล หรือ ราฟาเอล ให้สร้างผลงานศิลปะเพื่อเปล่งรัศมีของตระกูล ซึ่งคนในตระกูลนี้บางคนก็ไปเป็นพระสันตะปาปาและผู้ปกครอง ถ้าคุณไปฟลอเรนซ์ คุณก็จะได้เห็นผลงานศิลปะที่เป็นผลพวงของตระกูลเมดีชี สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิสัยทัศน์ เราไม่ได้เรียกว่าเมดีชีใช้ CSR เพราะตอนนั้นยังไม่มี CSR (หัวเราะ) แต่ก็ประมาณนั้นแหละ ใช่ไหม?
บางคนบอกว่าบริษัทเอกชนใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ จริงๆ มันก็เป็นอย่างนี้มานานนมแล้ว ในความเป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นคนกลาง หรือเป็นตัวแทนศิลปิน ในขณะเดียวกันคนกลางในฐานะของแกลเลอรี ในความเป็น Ecosystem (ระบบนิเวศ) ในวงการศิลปะที่เราพูดกันมากี่พันหนแล้วว่า เราตีความบทบาทของแกลเลอรีกับศิลปินกันอย่างไร เรามีระบบของนิเวศในวงการศิลปะอย่างแท้จริงหรือเปล่า? เรายังเคารพซึ่งกันและกันหรือเปล่า?
เพราะในขณะที่แกลเลอรีมีไว้แสดงงานศิลปะของศิลปินก็จริงอยู่ แต่ผู้สะสมก็ยังมีสิทธิ์และความสามารถที่จะไปซื้องานหลังบ้านกับศิลปินโดยตรง และศิลปินก็สามารถขายให้นักสะสมโดยตรงได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งในเชิงปฏิบัติ การทำแบบนี้ในโลกศิลปะสากล แม้กระทั่งในเอเชียอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น เขาถือว่าเป็นการล้ำเส้นนะ ระบบเขาถึงอยู่ได้ เกาหลีจึงเต็มไปด้วยกิจกรรม Art Fair เป็นสิบๆ งาน ยังมีงาน Frieze Seoul ผุดขึ้นมาอีก แรงซื้อของนักสะสมในเกาหลีเองก็ทำให้แกลเลอรีต่างๆ ดำรงอยู่ได้ และทำให้แกลเลอรีชั้นนำของยุโรปเข้าไปเปิดตลาดขายงานได้ เพราะเขามีพลังซื้อของคนท้องถิ่น
หันกลับมามองในบ้านเรา คุณนับดูสิว่ามีนักสะสมชาวไทยกี่คนที่ซื้องานศิลปะร่วมสมัย ซื้องานของศิลปินต่างชาติ คุณเพชร (โอสถานุเคราะห์) ก็จากเราไปแล้ว ยังมีเหลืออยู่อีกกี่คน แล้วคิดเหรอว่าแกลเลอรีชั้นนำของยุโรปจะเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา เราต้องทำการบ้าน เราควรจะมีการวางแผนและทำวิจัยในสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร
ในขณะที่เทศกาลหรือมหกรรมศิลปะอย่าง Bangkok Art Biennale นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าผลงานที่แสดงในเทศกาลของเรานั้นมีเรื่องของการค้ามาเกี่ยวข้อง แต่เราเพียงแค่มีข้อตกลงกับศิลปินของเราว่า ถ้าสมมติว่าเรา Commission (ให้ทุนสนับสนุนในการสร้าง) ผลงานของเขา เราก็มีสิทธิ์ที่จะสะสมผลงานชิ้นนั้นเอาไว้ แต่ในกรณีที่เขามีผลงานอยู่แล้วและเอามาแสดงกับเรา เราก็ไม่ได้หักเปอร์เซ็นต์จากการขายผลงานนั้นๆ
เรามองว่าเราเป็นเวทีหนึ่งที่ช่วย ไม่ใช่แค่ศิลปินไทย แต่รวมถึงศิลปินชาติอื่นๆ ให้มีโอกาสในการได้ผลประโยชน์จากการขายผลงานบนเวทีนี้ สำหรับเราเราแค่อยากให้คนเข้ามาชมเทศกาลด้วยความสนุกสนาน ได้เสพศิลปะอย่างมีอรรถรส ส่วนสิ่งที่เราทำ สาธารณชนจะมองเราอย่างไร เราก็น้อมรับคำวิจารณ์ เพราะเราถือว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียงตอบรับ ไม่ว่าจะจากสื่อมวลชนหรือคนรอบข้าง ก็เป็นตัวชี้วัดว่ามีคนสนใจในสิ่งที่เราทำ
ภาพ: มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
- นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน – 24 พฤศจิกายน 2024 ที่ Palazzo Smith Mangilli Valmarana ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี
- ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook: BkkArtBiennale และ Instagram: Bangkok Art Biennale