Sea Trial หรือการทดสอบเรือในทะเลเปิดนั้น เป็นหมุดหมายสำคัญของเรือรบทุกลำ ที่เหมือนประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าเรือเข้าใกล้ประจำการใช้งานจริงเต็มที ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบิน Fujian (ฝูเจี้ยน) ก็กำลังจะผ่านหมุดหมายนี้
นั่นทำให้ทั่วโลกจับตาก้าวย่างสำคัญนี้ชนิดที่ไม่อาจละสายตา ในแผนสร้างกองเรืออันเกรียงไกรตามยุทธศาสตร์พัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง
เรือบรรทุกเครื่องบิน Fujian ตั้งชื่อตามมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเกาะไต้หวัน โดยมีเพียงช่องแคบไต้หวันแบ่งกั้นระหว่างสองแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้การเปิดตัวเรือ Fujian ในยามที่บรรยากาศช่องแคบยังคุกรุ่นไม่จางหายเช่นนี้ จึงถูกนำไปตีความเป็นสัญญาณเตือนสำหรับไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจทางทะเลเบอร์หนึ่งของโลก ก็จับตาการมาของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
Fujian เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีน ถัดจากเรือ Shandong (ซานตง) และเรือ Liaoning (เหลียวหนิง) โดย Liaoning เป็นเรือคู่แฝดของเรือ Admiral Kuznetsov เรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งเดียวของรัสเซีย (ชื่อเดิมของ Liaoning คือ Varyag ซากเรือที่จีนซื้อจากยูเครนมาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน)
ภาพ: Xinhua
สเปกตามหน้ากระดาษ
ข้อมูลจากทางการระบุว่า เรือ Fujian มีขนาดระวางขับน้ำหรือน้ำหนัก 80,000 เมตริกตัน และยาวประมาณ 316 เมตร ซึ่งทำให้ Fujian มีขนาดเป็นรองเพียงเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz (87,000 ตัน) และ Gerald R. Ford (100,000 ตัน) ของสหรัฐฯ เท่านั้น หมายความว่าใหญ่กว่าทั้งเรือ Charles de Gaulle ของฝรั่งเศส, Admiral Kuznetsov ของรัสเซีย, HMS Queen Elizabeth และ HMS Prince of Wales ของอังกฤษ ที่เป็นชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรของ UN ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ Fujian ยังเป็นเรือลำที่ 2 ของโลกต่อจาก USS Gerald R. Ford ที่ใช้ระบบรางดีดเครื่องบินด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Catapult System) ขณะที่เรือชั้น Nimitz ที่สหรัฐฯ มีในประจำการ 10 ลำ รวมถึง USS Theodore Roosevelt ที่เพิ่งแวะเทียบท่าแหลมฉบังของไทยด้วยนั้น ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบรางดีดส่งด้วยแรงดันไอน้ำ (Steam-Powered Catapults)
สำหรับจำนวนเครื่องบินที่เรือสามารถบรรทุกได้นั้น ศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) หรือ CSIS ประเมินว่า Fujian สามารถบรรทุกอากาศยานได้ 60 ลำ ขณะที่เรือชั้น Nimitz และ Gerald R. Ford บรรทุกได้ 75 ลำ
Fujian ใช้ใครเป็นต้นแบบ
อนาลโย กอสกุล นักสังเกตการณ์การทหารอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า เรือ Fujian ยึดเรือ USS Gerald R. Ford ของสหรัฐฯ เป็นแบบอย่าง หรือ Benchmark ในการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด และมีข้อสังเกตว่า พัฒนาการของเรือบรรทุกเครื่องบินจีนเมื่อเปรียบเทียบกับเรือสองลำก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนลำที่ 3 กลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินใน ‘อุดมคติ’ มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือดาดฟ้าเรือและลานบินไม่มีส่วนสกีจัมป์ (Ski-Jump) ตรงหัวเรือ ซึ่งโดยรวมถือว่าออกแบบได้ดีขึ้น
พูดถึงจุดเด่นของเรือลำนี้คือ ระบบรางดีดส่งเครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้านั้น อนาลโยอธิบายถึงข้อดีเมื่อเทียบกับระบบแรงดันไอน้ำแบบเก่าที่ใช้ในเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Nimitz ของสหรัฐฯ ว่า จะทำให้เรือ Fujian สามารถบรรทุกเครื่องบินที่หนักได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบในยามศึก เมื่อสามารถส่งเครื่องบินรบออกปฏิบัติการด้วยอาวุธที่มากขึ้น
นอกจากนี้การที่ไม่ต้องติดตั้งหม้อต้มน้ำสำหรับระบบดีดส่งแบบเก่า ก็ทำให้ใช้พื้นที่บนเรือน้อยกว่าด้วย จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาถูกกว่า
อนาลโยอธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบไอน้ำมีข้อเสียคือ ตัวระบบมีความซับซ้อน ต้องดูแลรักษามากกว่า นอกจากนี้ยังควบคุมได้ยากกว่าสนามแม่เหล็ก ในขณะที่ระบบแม่เหล็กไฟฟ้าควบคุมการดีดได้ดีกว่า ดังนั้นจึงช่วยยืดอายุการใช้งานเครื่องบินได้นานขึ้น
เทคโนโลยียังตามหลัง 10 ปี แต่ช่องว่างหดแคบลงเรื่อยๆ
สิ่งที่จีนยังตามหลังสหรัฐฯ ในเรื่องของเรือบรรทุกเครื่องบินคือ ระบบขับเคลื่อนที่ยังใช้เชื้อเพลิงแบบเก่า ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำของสหรัฐฯ ล้วนใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์
แต่อนาลโยเชื่อว่าจีนกำลังซุ่มพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ ซึ่งอาจนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำมาประยุกต์ โดยเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 4 หรือ Type 004 จะใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อถามถึงระยะห่างระหว่างสหรัฐฯ และจีน อนาลโยประเมินว่า จีนอาจตามสหรัฐฯ อยู่ราว 10 ปีหรืออาจน้อยกว่านั้น ซึ่งเรือลำที่ 4 จะมีความใกล้เคียงกับเรือสหรัฐฯ มากขึ้น โดยบางแหล่งเชื่อว่าจีนอาจเริ่มต่อไปแล้วด้วยซ้ำ
ขณะที่ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ ระบุว่า จีนตั้งเป้าสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 4 ลำภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีต่อจากนี้ เพื่อสร้างกองเรือที่สามารถปฏิบัติการในทะเลลึก และจะขึ้นแท่นเบอร์สองต่อจากสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจด้านเรือบรรทุกเครื่องบิน
ภัยคุกคามสำหรับไต้หวัน?
อนาลโยให้ความเห็นว่า จีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ ซึ่งเป็นภัยคุกคามในมุมมองของไต้หวันอย่างแน่นอน เพราะหมายความว่าเรือทั้ง 3 ลำจะสามารถปิดล้อมไต้หวันได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังสามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้มากกว่า 100 ลำในคราวเดียว
โดยเมื่อพร้อมใช้งานหรืออยู่ในสถานะพร้อมรบแล้ว (Combat-Ready) เรือ Fujian จะเข้าประจำการในกองเรือทะเลตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ดูแลครอบคลุมไปถึงช่องแคบไต้หวันด้วย
ประสิทธิภาพของเรือ Fujian ยังเป็นคำถาม
การประเมินว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของจีนมีประสิทธิภาพแค่ไหนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมานั้นมีน้อย ดังนั้นข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นไปในลักษณะของการคาดการณ์จากผู้สังเกตการณ์และการข่าวกรอง
แต่สิ่งที่พอจะประเมินได้ก็คือ ข้อจำกัดของเรือจีนที่ยังใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งทำให้เรือไม่สามารถลอยลำปฏิบัติการอยู่กลางทะเลได้นาน เพราะต้องกลับเทียบท่าหรือส่งเรือบรรทุกน้ำมันออกไปเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอ ต่างจากระบบขับเคลื่อนด้วยนิวเคลียร์ที่ทำให้เรือสามารถปฏิบัติการอยู่กลางทะเลได้นาน 20 ปีถึงจะเติมเชื้อเพลิงอีกครั้ง
แต่ก็ใช่ว่าจีนจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเลย ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจะเคลือบแคลงถึงประสิทธิภาพในเรื่องการใช้งานจริง เพราะจีนยังไม่เคยเข้าร่วมในสงครามใหญ่เลย หรือไม่มีสมรภูมิให้ใช้งานก็ตาม แต่อนาลโยชี้ว่า จีนก็มีการเรียนรู้จากสงครามที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าอาวุธแต่ละประเทศทำงานอย่างไรบ้าง หรือพวกเขาออกแบบอาวุธกันอย่างไร ซึ่งก็คือการเรียนรู้ทางอ้อม แล้วก็นำมาทดสอบเอง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากเรือลำแรก (Liaoning) จนมาถึงลำที่ 3 Fujian ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะและใกล้เคียงกับเรือของสหรัฐฯ มากขึ้น
อนาลโยตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่จะทำให้เรือของสหรัฐฯ และจีนมีศักยภาพต่างกันอย่างชัดเจนอยู่ที่เครื่องบินบนเรือต่างหาก แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน เขี้ยวเล็บสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเครื่องบินบนนั้น ซึ่งเวลานี้จีนยังคงตามหลังสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีเครื่องบินรบอยู่หลายช่วงตัว โดยเฉพาะเครื่องยนต์
สิ่งที่จีนอาจกังวลคือ เครื่องบินรบบนเรือส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องบินขับไล่แบบ J-15 ซึ่งเป็นรุ่นเก่าที่ต่อยอดมาจาก Su-33 ของโซเวียต ส่วน J-35 ที่มีความทันสมัยขึ้นก็ยังผลิตได้ไม่มากพอ นอกจากนั้นก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้งานจริงเช่นกัน
ดุลอำนาจทางทะเลในภูมิภาคจะเปลี่ยนไปอย่างไร
อาจารย์ภากรมองว่า จีนให้ความสำคัญกับเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้อยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของแผนพัฒนากองทัพเรือให้ทันสมัยและมีเรือที่พร้อมปฏิบัติการในทะเลลึก
แต่แน่นอนว่าการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินแบบก้าวกระโดดย่อมทำให้ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งในทะเลจีนใต้เกิดความหวาดระแวงจีน และโอกาสที่เกิดการกระทบกระทั่งกับประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ก็มีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการแข่งขันสะสมอาวุธก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลว่าอาจเกิดขึ้นตามมา
สำหรับสหรัฐฯ ที่อ้างเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ย่อมมองว่าอาจถูกท้าทายจากจีนมากขึ้น โดยที่ผ่านมาความแตกต่างทางเทคโนโลยีอาจทำให้สหรัฐฯ ถือความได้เปรียบอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่จีนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ก็อาจลดช่องว่างกับสหรัฐฯ ลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป
อาจารย์ภากรมองด้วยว่า จากกรณีสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทางการทหารแก่ไต้หวัน (รวมทั้งอิสราเอลและยูเครน) จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง และนั่นก็จะยิ่งตอกย้ำในมุมมองฝั่งจีนว่า จำเป็นต้องพัฒนาและเสริมเขี้ยวเล็บด้านเรือรบ เพื่อความมั่นคงและเตรียมรับมือกับการเข้ามามีอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ภาพ: Xinhua
Fujian จะเข้าประจำการเมื่อไร
คาร์ล ชูสเตอร์ อดีตนาวาเอกกองทัพเรือ และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการแห่งศูนย์ข่าวกรองร่วมของกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า การทดสอบในทะเลของ Fujian รอบนี้จะใช้เวลา 3-6 วัน ซึ่งหลักๆ จะมีการทดสอบระบบต่างๆ เช่น เรดาร์และอุปกรณ์สื่อสาร แต่จะยังไม่ทดสอบการนำเครื่องบินขึ้นลงบนดาดฟ้าเรือ ซึ่งเป็นเฟสถัดๆ ไป
ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าการนำเรือ Fujian ออกทดสอบในทะเลจะใช้เวลารวมอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้แน่ใจ ก่อนจะนำเข้าประจำการในกองทัพเรือ (PLAN) อย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้าหรือปี 2026 เป็นอย่างช้า โดยข้อมูลเทียบเคียงจากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมจีนระบุว่า เรือ Liaoning ใช้เวลาทดสอบในทะเลรวม 10 ครั้ง ส่วนเรือ Shandong ทดสอบ 9 ครั้งก่อนเข้าประจำการ
ส่วน ไบรอัน ฮาร์ท นักวิเคราะห์จาก CSIS ที่ทำโครงการด้านจีน บอกว่า Fujian จะกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดของแสนยานุภาพกองทัพเรือจีนที่กำลังขยายตัว และจะเข้ามาผนึกกำลังกับเรือรบที่มีอยู่แล้วมากกว่า 340 ลำ ซึ่งจะทำให้จีนมีกองกำลังทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่จำนวนเรือรบ
แต่สหรัฐฯ เองก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้เช่นกัน พวกเขามีแผนแทนที่เรือชั้น Nimitz ด้วยเรือชั้น Gerald R. Ford ทั้งหมดในอนาคต โดยที่ปัจจุบันกำลังต่ออยู่ 3 ลำ คือ เรือ USS John F. Kennedy, USS Enterprise และ USS Doris Miller การแข่งขันจึงมีแนวโน้มดุเดือดมากขึ้น
ภาพ: Pu Haiyang / VCG via Getty Images
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2024/05/01/china/china-navy-newest-aircraft-carrier-fujian-sea-trial-intl-hnk-ml/index.html
- https://www.reuters.com/world/china/china-launches-sea-trials-next-generation-aircraft-carrier-2024-05-01/
- https://thediplomat.com/2024/05/chinas-3rd-aircraft-carrier-the-fujian-begins-its-maiden-sea-trial/#:~:text=The%20Fujian%20has%20a%20full,length%20of%20about%20316%20meters.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เรือ Fujian ใช้เวลาสร้างนานกว่า 6 ปี และปล่อยลงจากอู่แห้งในเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2022
- เรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำของจีนมีขนาดและการออกแบบที่แตกต่างกันทั้งหมด โดยเรือ Liaoning มีน้ำหนัก 60,000 ตัน ส่วน Shandong หนัก 66,000 ตัน