สิ้นสุดลงไปแล้วกับภารกิจเดินทางมาเยือนประเทศในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอบริษัท Microsoft ที่มาทั้งหมด 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย โดยงาน Microsoft Build: AI Day นี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านเทคโนโลยี Cloud และ AI ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ที่มีการประเมินว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ได้ราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 685 ล้านคน และยังเป็นพื้นที่ที่สังคมโดยรวมกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งตามมาด้วยความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องขยายตามเพื่อรองรับดีมานด์การใช้บริการออนไลน์มากขึ้น
อินโดนีเซียกับมาเลเซียรับเงินลงทุนรวม 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่า Microsoft จะเดินหน้าผลักดัน AI ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการฝึกฝนบุคลากรจำนวน 2.5 ล้านคน ทว่ากลยุทธ์การส่งเสริมและลงทุนก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ โดยหากเราดูจากสิ่งที่บริษัทประกาศจะพบว่า อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็น 2 ประเทศที่มีการยืนยันเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้ง Cloud และ AI อย่างชัดเจนที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดตลอดการให้บริการของบริษัทใน 2 ประเทศนี้ที่มีมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ
สำหรับมาเลเซีย การทุ่มทุนที่มีมูลค่าสูงในระดับนี้โดย Microsoft แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศในด้านเทคโนโลยี ที่อาจจะเป็นปัจจัยให้บริษัทบิ๊กเทคระดับโลกหมายมั่นจะสร้างให้เป็นรากฐานด้าน Cloud และ AI ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในฟากของอินโดนีเซีย พวกเขามีวิสัยทัศน์ Golden Indonesia 2045 Vision ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะทรานส์ฟอร์มไปสู่ประเทศผู้มีส่วนสำคัญในเวทีโลก และทาง Microsoft คงมองเห็นศักยภาพที่อินโดนีเซียจะก้าวเข้ามามีบทบาทด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้ จึงตัดสินใจลงทุน
หากกลับมามองที่ประเทศไทยเทียบกับอินโดนีเซียและมาเลเซียจะเห็นได้ว่า เม็ดเงินการลงทุนสนับสนุนยังไม่มีออกมาอย่างชัดเจน แต่เป็นเพียงแถลงแผนการว่า Microsoft ตั้งเป้าว่าจะช่วยพัฒนาทักษะด้าน AI ให้คนไทย 100,000 คน เพื่อสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาไทย พร้อมด้วยการตั้ง Data Center แห่งแรกของบริษัทที่กำลังจะเข้ามาเปิดบริการในประเทศ
เมืองไทยยังไม่พร้อม?
เมื่อสถานการณ์คลุมเครือเช่นนี้ คนในแวดวงเทคโนโลยีไทยออกมาแสดงความเห็นสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การเลือกไม่ประกาศเม็ดเงินการลงทุนในประเทศไทยของ Microsoft อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอ StockRadars และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัญหาหลักของไทยตอนนี้ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์คือความไม่พร้อมในเชิงนโยบาย
“ต้องบอกตามตรงว่าความท้าทายที่เราเจออยู่ตอนนี้ในเรื่องของ AI คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมได้ไม่ดี เพราะแม้ว่าไทยเราจะมีคณะกรรมการ AI แห่งชาติ (AI Committee) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการประชุมหารือครั้งล่าสุดของหน่วยงานเกิดขึ้นในช่วงที่ ChatGPT เพิ่งเปิดตัวไม่นาน หรือเป็นเวลาราวปีเศษๆ แล้วที่ไม่มีการหารือเตรียมพร้อมในการลงมือทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย” ธีระชาติกล่าว
ซึ่งเหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่โลกให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพ และในคลื่นลูกนั้นประเทศไทยก็ตกขบวนจนกลายเป็นผู้ตาม เนื่องจากความไม่ชัดเจนและการขาดการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อีกหนึ่งประเด็นที่ธีระชาติกล่าวไว้ได้น่าสนใจคือ หลายคนมักจะตีกรอบความคิดแบบจำกัดว่า AI เท่ากับเทคโนโลยีเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว AI เชื่อมโยงกับหลายส่วนของการดำเนินชีวิตและสังคม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมใน “การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง” อย่างจริงจังในระดับประเทศ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้คือเมื่อเราตีโจทย์ผิดตั้งแต่แรก โดยนำ AI ไปไว้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้นโยบายเชิงเศรษฐกิจที่ถูกกำหนดโดยนักวิจัยอาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
“ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ความถนัดของเขา และสิ่งที่เราควรทำคือไทยต้องมีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบดูแลเรื่อง AI แบบเต็มเวลาได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาจากประสบการณ์ของผม มันกลายเป็นงานรองที่ไม่ได้รับความใส่ใจมากเท่าที่ควร”
นอกจากความพร้อมของไทยที่ยังขาดตกไป ปัจจัยความเสี่ยงเชิงโครงสร้างของประเทศก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่พอจะชี้ได้ว่าทำไม Microsoft ลังเลการประกาศเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยอย่างชัดเจนเหมือนกับที่ทำกับอีก 2 ประเทศ โดย ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ให้ความเห็นว่า สังคมไทยเริ่มมีจำนวนแรงงานลดลงจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อของประชากรน้อยลงด้วย รวมถึงภาพกว้างที่ประเทศไทยขาดความชัดเจนด้านยุทธศาสตร์ว่าแท้จริงแล้วเรามีจุดแข็งอะไร และจุดแข็งนั้นจะเป็นที่ต้องการของโลกหรือไม่?
ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยต้องรีบหาทางแก้ไข และเป็นเหตุผลว่าทำไมไทยควรเร่งสปีดให้มีหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบ AI อย่างจริงจัง เพราะปัจจุบัน AI ได้กลายเป็นวาระระดับโลกไปแล้ว
“เราเคยพลาดมาแล้วกับหลายๆ อย่าง ที่ใกล้สุดน่าจะเป็น Thailand 4.0 ที่สุดท้ายมีแต่อีเวนต์ และก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง หวังว่ารอบนี้เรื่องใหญ่ของประเทศขนาดนี้จะมีคนสนใจ อย่างน้อยก็ให้คนที่จะโดนคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้รู้ตัวก่อนก็ยังดี” ธีระชาติระบุในโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว
อดีต รมช.ต่างประเทศแจง เพื่อนบ้านเจรจานำหน้าไทย
จักรพงษ์ แสงมณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่อง Microsoft ประกาศลงทุน Cloud และ AI 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในมาเลเซีย ว่า ต้องให้ข้อมูลก่อนว่าทาง Microsoft ประกาศไว้นานมากแล้วว่าจะมีการเปิด Data Center ในมาเลเซีย ซึ่งก็ผ่านมาสักพักกว่าจะมีการประกาศตัวเลขลงทุน
โฟกัสมาที่ประเทศไทยของเรา ต้องบอกว่าประเทศไทยเราเพิ่งจะเริ่มนับ 1 เมื่อวานนี้ คือประกาศว่าจะมีการตั้ง Data Center ซึ่งรัฐบาลนี้เราใช้เวลาในการเจรจาเพียง 8 เดือน และเริ่มจาก 0
จักรพงษ์กล่าวอีกว่า แน่นอนทั้งสองประเทศต่างเดินไปข้างหน้า แต่อยู่คนละสเตจของการลงทุน เราอยู่ช่วงที่ 1 ซึ่งเพื่อนบ้านของเราเขาได้ใช้เวลาช่วงที่ประเทศไทยแช่แข็ง พูดคุยเจรจากันไปหมดแล้ว เหมือนที่นายกฯ เศรษฐา พูดมาตลอดว่าเราไม่ได้ออกไปค้าขายกับต่างประเทศมานับสิบปี เราจึงต้องเร่งเครื่องด้านนี้
“วันนี้นายกฯ ประกาศ Cloud First Policy ชัดเจน โดยจะไม่ให้ภาครัฐมีการซื้อเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป และต้องหันไปใช้ Cloud แทน เพื่อลดต้นทุนของภาครัฐลง และทำให้เรามีบริการที่ดีขึ้น และยังทำให้ทั้ง AWS, Microsoft ฯลฯ ต้องแข่งกันเข้ามาตั้งศูนย์ในประเทศเราหากจะให้บริการในประเทศไทย ดังนั้นผมขอให้ทุกคนอย่ามองว่าไทยเราไม่มีศักยภาพ ที่ผ่านมาเราอาจจะเริ่มเดินช้าเพราะหยุดนิ่งมานาน แต่วันนี้รัฐบาลเศรษฐา เราออกวิ่งแล้วครับ และวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยด้วย” จักรพงษ์กล่าว