×

เจาะทิศทางการเติบโตของ ‘MAGURO’ สร้างรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท พร้อมกำไรเติบโต 131% ก่อนเปิดขาย IPO 34 ล้านหุ้น บนกระดาน mai [ADVERTORIAL]

07.05.2024
  • LOADING...
มากุโระ

HIGHLIGHTS

  • ทำความรู้จักบริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ‘MAGURO’ ผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี 3 แบรนด์ดัง MAGURO, SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU ก่อนการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai 
  • ‘MAGURO’ จะเปิดขาย IPO 34.06 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) คาดเตรียมเทรดบนกระดาน mai ในเดือนมิถุนายน 2567

ข่าวการเตรียมเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเข้า mai ในไตรมาส 2 ปี 2567 ของบริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ‘MAGURO’ ผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี 3 แบรนด์ดัง MAGURO, SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU ทำให้นึกถึงกฎเหล็กการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตลอดกาล ที่ว่า ‘Only buy stock that you understand’ เลือกลงทุนในธุรกิจที่คุณมีความเข้าใจ 

 

‘ธุรกิจร้านอาหาร’ ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจที่เข้าใจง่าย แค่อาหารอร่อย บริการดี ทำการตลาดเก่ง ก็โกยกำไรได้ไม่ยาก จึงเป็นตลาดที่ใครก็เข้าได้ แต่ก็ออกง่ายเช่นกัน การแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมนี้ล้มเซียนมาแล้วนักต่อนัก 

 

การลงทุนในธุรกิจอาหารแค่ความเข้าใจไม่พอ ต้อง ‘Invest by facts not emotions’ ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและข้อมูลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก อีกหนึ่งกฎเหล็กที่ปู่วอร์เรนบอกไว้ 

 

 

รู้จัก ‘MAGURO’ 

 

MAGURO ก่อตั้งธุรกิจในปี 2558 โดยกลุ่มเพื่อน 4 คน (เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง, รณกาจ ชินสำราญ, ชัชรัสย์ ศรีอรุณ และ จักรกฤติ สายสมบูรณ์) ร่วมกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในชื่อ MAGURO สาขาแรกที่ชิค รีพับบลิค บางนา ชูเอกลักษณ์โดดเด่น ‘ซูชิที่เต็มอิ่มทุกสัมผัส’ (Sensual Sushi) ด้วยคุณภาพวัตถุดิบชั้นเยี่ยมและบริการที่ใส่ใจขั้นกว่า สร้างปรากฏการณ์ร้านอาหารญี่ปุ่นคุณภาพพรีเมียมที่คิวยาวเป็นชั่วโมง และเป็นกระแสตั้งแต่วันแรก ภายใต้ปรัชญา ‘Give More’ การให้มากกว่าที่ขอ

 

 

หนึ่งปีหลังจากนั้น MAGURO เปิดเพิ่มอีก 3 สาขา และในปี 2560 เปิดร้านแฟลกชิปครั้งแรกที่เมกาบางนา เป็นสาขาที่ 5 ก่อนจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาในช่วงปี 2561-2563 

 

ปี 2563-2564 ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ภาครัฐประกาศห้ามร้านอาหารและห้างร้านเปิดให้บริการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารโดยตรง MAGURO ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเปิดตัวบริการ MAGURO GO เจาะตลาดเดลิเวอรี ส่งมอบประสบการณ์ความอร่อยตำรับ MAGURO ถึงบ้าน เพื่อสร้างรายได้ทดแทนรายได้จากร้านอาหาร ซึ่งทำให้บริษัทฯ ยังมีกำไรสุทธิในปี 2564 และหลังจากนั้นบริษัทได้เปิดตัวแบรนด์ ‘SSAMTHING TOGETHER’ ปิ้งย่างเกาหลีพรีเมียมในรูปแบบเดลิเวอรีเช่นกัน

 

‘SSAMTHING TOGETHER’

‘SSAMTHING TOGETHER’ ปิ้งย่างเกาหลีพรีเมียม

 

ปี 2564 ก้าวสู่ปีที่ 6 ด้วยการเปิดแฟลกชิปสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกับการรีแบรนดิ้งให้ดูพรีเมียมและทันสมัยขึ้น เพื่อจับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังต่อยอด ‘SSAMTHING TOGETHER’ ด้วยการเปิดสาขาแรกที่เมกาบางนา นอกจากนั้น บริษัทฯ ได้ผนึกกำลังกับกลุ่มทุนสถาบันชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้บริษัทต่อยอดและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

HITORI SHABU

‘HITORI SHABU’ ชาบูชาบูและสุกี้ยากี้

 

ปี 2565 เปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ ‘HITORI SHABU’ ชาบูชาบูและสุกี้ยากี้ต้นตำรับญี่ปุ่นแบบคันไซในรูปแบบหม้อเดี่ยว เสิร์ฟเนื้อพรีเมียมระดับ A5 ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย 

 

ปัจจุบัน (มีนาคม 2567) MAGURO มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 3 แบรนด์ รวม 26 สาขา ได้แก่ 1. MAGURO 14 สาขา 2. SSAMTHING TOGETHER 6 สาขา และ 3. HITORI SHABU 6 สาขา 

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ MAGURO CATERING ในรูปแบบของ Event Catering และ Office Lunchbox อีกด้วย

 

เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง

เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO

 

เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO เผยรายได้รวมปี 2566 จำนวน 1,045.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.06% จากรายได้รวม 665.85 ล้านบาทในปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 72.48 ล้านบาทในปี 2566 เติบโตสูงถึง 131.12% จากกำไรสุทธิ 31.36 ล้านบาทในปี 2565 

 

“สัดส่วนรายได้มาจาก MAGURO คิดเป็น 61.96% ในขณะที่รายได้จาก HITORI SHABU คิดเป็น 18.94% และรายได้จาก SSAMTHING TOGETHER คิดเป็น 19.10%”

 

จักรกฤติ สายสมบูรณ์

จักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO

 

“ช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการปิดให้บริการหน้าร้าน แต่ MAGURO พิสูจน์ได้ว่า เราเป็นแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น ตอนนั้นเราโฟกัสไปที่เดลิเวอรี พัฒนาเมนูให้เหมาะกับการรับประทานที่บ้าน รวมถึงแพ็กเกจจิ้งที่รองรับการขนส่ง และตัดสินใจเปิดแบรนด์ MAGURO GO เจาะตลาดเดลิเวอรีโดยตรงจนสามารถสร้างผลกำไรได้ในตลอดช่วงวิกฤต” จักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง MAGURO กล่าว 

 

ปี 2567 วางแผนเปิดเพิ่มอีก 11 สาขา ในลักษณะของการขยายแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยปีนี้เปิดตัวไปแล้ว 2 สาขา ได้แก่ MAGURO สาขามาร์เช่ ทองหล่อ และ HITORI SHABU สาขาพาราไดซ์ พาร์ค 

 

4 กลยุทธ์การตลาด เบื้องหลังความแข็งแกร่งและการเติบโตต่อเนื่อง 

 

1. ขยายสาขา มองหาโอกาสในทุกทำเล

 

กลยุทธ์แรกที่ทำให้แบรนด์สามารถทำรายได้รวมและกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ การขยายสาขาใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม รวมถึงช่องทางเดลิเวอรีที่ขยายตัวตามสาขาที่เพิ่มขึ้น 

 

จาก 26 สาขาในปัจจุบัน มีเพียง 7 สาขาที่อยู่ใน CBD Area ที่เหลือเป็นสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ชั้นนอก เป็นข้อพิสูจน์ว่าแบรนด์สามารถเติบโตได้แม้ไม่ได้ปักหมุดในทำเลเมือง นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนค่าเช่าที่ต่ำกว่า ประกอบกับที่บริษัทฯ มีฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่เสมอ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 64.26% ในช่วง 3 ปีล่าสุด และบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการควบคุมต้นทุน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มจาก 41.91% ในปี 2565 เป็น 45.17% ในปี 2566 และส่งผลทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทเพิ่มจาก 4.71% ในปี 2565 เป็น 6.93% ในปี 2566 พร้อมทั้งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในช่วงระหว่างปี 2564-2566 ที่ 175.20%

 

ที่สำคัญ แบรนด์วางตำแหน่งตัวเองให้เป็น ‘หมุดหมายความอร่อย’ จึงมองว่าโอกาสในการเติบโตผ่านการขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดยังมีอีกมาก ทั้งนี้ การขยายสาขาจะต้องนำข้อมูลในทุกมิติมาวิเคราะห์ เช่น ศักยภาพทำเล อินไซต์ผู้บริโภค แนวโน้มตลาด รวมไปถึงคู่แข่ง เพื่อหาความคุ้มค่าในการลงทุน

 

 

2. ทีมวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่ง

 

เรียกว่าเป็นจุดแกร่งและความแตกต่างของแบรนด์เลยก็ว่าได้ที่มีการสร้างทีม R&D ของตัวเอง ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์อาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ปรัชญา ‘Give More’ ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่เสมอ 

 

ทีม R&D ไม่เพียงคิดค้นและพัฒนาเมนูใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังศึกษาความเป็นไปได้ในทุกรูปแบบของอาหาร เพื่อต่อยอดไปถึงการสร้างแบรนด์ใหม่ในพอร์ตของกลุ่มธุรกิจของบริษัทในการแข่งขันในตลาด 

 

3. ประสบการณ์เหนือระดับแบบฉบับ MAGURO

 

นอกจากความสำคัญเรื่องวัตถุดิบที่สดใหม่ระดับพรีเมียม รสชาติอาหารที่อร่อยและมีคุณภาพ ประสบการณ์เหนือระดับฉบับ MAGURO ยังครอบคลุมไปถึงประสบการณ์ภายในร้าน การตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์และแต่ละสาขา หรือแม้แต่กิจกรรมทางการตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มและเฉพาะบุคคล 

 

แบรนด์ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบผสมผสานระหว่าง Data Driven และ Customer Experience นำข้อมูลจากระบบ CRM หรือ Customer Relationship Management อย่าง Sale Force เข้ามาบริหารจัดการระบบลูกค้าสมาชิก เพื่อวิเคราะห์และค้นหาอินไซต์ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เหนียวแน่น ปัจจุบันมีสมาชิกในเครือมากุโระ กรุ๊ป กว่า 150,000 คน

 

 

4. มองหาโอกาสใหม่ๆ

 

ไม่เพียงขยายสาขา 3 แบรนด์หลัก แต่บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อรองรับตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ากลุ่มเดิมแล้ว ยังมองไปถึงการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ในอนาคต 

 

โอกาสการเติบโตไปกับ ‘MAGURO’ 

 

ปัจจุบัน MAGURO มีทุนจดทะเบียน 63 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 126,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 52.27 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 104,539,800 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 34,060,200 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 27.03% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

 

 

เอกฤกษ์เผยว่า “บริษัทมีแผนจะนำเงินระดมทุนที่ได้ไปขยายสาขาทั้งแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ รวมไปถึงการปรับปรุงสาขาเดิม ครัวกลาง และระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเติบโตและขยายสาขาในอนาคต รวมไปถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน” 

 

ทั้งนี้ MAGURO มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ก่อนและหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ดังนี้ 1. HOLISTIC IMPACT สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 28.34% และ 13.52% ตามลำดับ 2. เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 3. ชัชรัสย์ ศรีอรุณ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 4. รณกาจ ชินสำราญ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ 5. จักรกฤติ สายสมบูรณ์ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 17.91% และ 14.86% ตามลำดับ และ 6. ประชาชนทั่วไปหลังการเสนอขาย IPO อยู่ที่ 27.03%

 

MAGURO ในสายตาของที่ปรึกษาทางการเงินและบริษัทหลักทรัพย์

 

จิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่า MAGURO เป็นบริษัทฯ ที่มีกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจร้านอาหารระดับ Premium Mass สามารถสร้างแบรนด์ร้านอาหารที่แข็งแกร่ง ด้วยคุณภาพของอาหารระดับพรีเมียมในราคาที่คุ้มค่า ทำให้มีฐานลูกค้าที่มั่นคงและสามารถขยายไปยังฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายสาขาของแต่ละแบรนด์อย่างต่อเนื่องในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

 

“จุดแข็งของ MAGURO คือความแข็งแกร่งของแบรนด์จนสามารถสร้าง Brand Loyalty ได้ การมีทีมวิจัยและพัฒนาทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายและมากขึ้น จึงสามารถหาช่องว่างทางการตลาดได้เสมอ แม้ผู้เล่นในตลาดจะหนาแน่นก็ตาม และส่วนสำคัญอย่างมากคือ ทีมการตลาดที่มีส่วนช่วยให้มียอดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียทุกช่องทางรวมกันกว่า 1 ล้านคน เราพบว่า Customer Base จากฐานสมาชิกและผู้ติดตามในช่องทางต่างๆ มีสัดส่วนอายุ 25-40 ปี หมายความว่ายังมีช่องว่างในการขยายกลุ่มลูกค้าได้อีก” 

 

ด้าน สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ) กล่าวเสริมว่า “การทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จ เป็นที่จดจำ และยั่งยืน ไม่ง่าย แต่ MAGURO เป็นบริษัทที่มี Brand Portfolio ที่แข็งแกร่งในตลาด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ MAGURO เอง รวมถึงแบรนด์ที่เปิดใหม่ทั้ง SSAMTHING TOGETHER และ HITORI SHABU ที่ล้วนได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และด้วยศักยภาพของแบรนด์ภายใต้การบริหารโดยบริษัทฯ ที่สามารถดึงดูดลูกค้าด้วยชื่อเสียงและคุณภาพของการให้บริการ ทำให้บริษัทฯ มีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกที่ตั้งในการขยายสาขา”

 

นอกจากนี้ MAGURO ยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทฯ ไม่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 26.52% มีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) อยู่ที่ 45% ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะช่วยให้บริษัทฯ ขยายฐานทุน และสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

 

 

MAGURO เตรียมเสนอขาย IPO จำนวนไม่เกิน 34.06 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 0.50 บาท ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) นโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงิน โดยมีบริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย คาดว่าจะพร้อมขายภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2567

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X