แบงก์ชาติคาด GDP ไทยไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 1%QoQ เนื่องมาจากแรงส่งจาก ‘ภาคท่องเที่ยว’ เป็นหลัก แม้เศรษฐกิจเดือนมีนาคมจะชะลอตัวลง โดยหากเป็นไปตามคาด เศรษฐกิจไทยจะรอดพ้นจาก Technical Recession หลัง GDP ไตรมาสก่อนหดตัว QoQ
วันนี้ (30 เมษายน) ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2567 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เนื่องมาจากภาคท่องเที่ยวที่ส่งผลให้ภาคบริการและการจ้างงานในภาคส่วนที่ดีขึ้นปรับตัวขึ้นตาม
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยว่า GDP ไตรมาส 4 ของไทยหดตัว 0.6%QoQ
ดังนั้นหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของ ธปท. จะหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งหมายความว่า GDP ติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงรายปี (YoY) ธปท. ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีก็จะขยายตัวราว 1% เช่นกัน
โดยสภาพัฒน์มีกำหนดการจะแถลงตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้
ปราณีกล่าวต่ออีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินไว้ และสอดคล้องกับประมาณการ GDP ทั้งปีที่ 2.6% ยังไม่มีปัจจัยเหนือความคาดหมาย (Surprise) ทั้งด้านบวกและลบ แม้วานนี้ (29 เมษายน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 2567 ลงเหลือขยายตัว 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%)
สำหรับเศรษฐกิจไทยรายเดือน ในเดือนมีนาคม ธปท. ระบุว่า ‘มีการชะลอลง’ จากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อผ่านมาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt หมดลง
เศรษฐกิจภาพรวมในไตรมาส 1 พบว่า ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนอัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคบริการและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามการทยอยลงทุนของธุรกิจใหม่ๆ การส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมทรงตัว โดยบางอุตสาหกรรมยังได้รับแรงกดดันจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้าและปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากการซื้อสินค้าคงทน แม้การบริโภคสินค้าไม่คงทนจะยังขยายตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 ที่ล่าช้า