ถ้าพูดชื่อ ‘เหน่อ’ หลายคนคงนึกไม่ออกว่าเขาคือใคร แต่หากบอกว่าเขาคือแอดมินเพจ ‘ANTI SOTUS’ ที่เคยออกมาเปิดโปงและต่อสู้กับสิ่งนี้ ก็น่าจะร้องอ๋อ นอกจากนั้นเขายังเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และเป็นนักการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง
เขาบอกชื่อจริงของเขาในวันที่สนทนากับเราด้วยการแนะนำตัวว่า “ผมชื่อ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย เป็นศิลปิน ถ้าพอจะเรียกได้นะ (หัวเราะ) เพิ่งเริ่มวาดงานได้ประมาณ 3 ปีครับ ที่ผ่านมาเป็นแอดมินเพจ ANTI SOTUS นักกิจกรรมทางการเมือง และเป็นนักการเมืองอยู่ช่วงหนึ่งครับ” นี่คือตัวตนที่ครบถ้วนภายใต้ข้อสรุปที่รวบรัดจำกัดความแบบไม่ต้องถามต่อ
การสนทนากับเหน่อในครั้งนี้แปลกไปกว่าหนใดๆ เพราะที่ผ่านมาจะออกไปในทางบทสนทนาที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวในเชิงประเด็นที่เขาต่อสู้ หรือกิจกรรมทางการเมืองเสียมากกว่า
ภายใต้บรรทัดแนะนำตัว เขาอาจหาญที่จะบอกเราอย่างถ่อมตัวในทีว่า ‘เป็นศิลปิน’ ด้วย โดยเริ่มวาดภาพมาได้ประมาณ 3 ปี และยังอาจหาญที่จะจัดแสดงนิทรรศการเพื่อให้คนได้ชมผลงานตัวเองด้วย ความอาจหาญที่ว่านี้นำพาเรามารู้จักเขาอีกหนภายใต้การสนทนานับแต่บรรทัดล่างนี้เป็นต้นไป
คุณเริ่มสนใจงานศิลปะจากอะไร
ผมเริ่มจากเป็นนักสะสมงานศิลปะครับ พอเริ่มสะสมไปได้สักระยะหนึ่งก็รู้สึกคันไม้คันมืออยากทำงานของตัวเองบ้าง ด้วยความที่วาดไม่เป็น เราก็เลยเริ่มจากงานแอ็บสแตรกต์ก่อน แล้วก็พยายามหาครูที่ศิลปากรมาสอน แต่พอเขาเห็นงานของเราก็บอกว่าไม่ต้องเรียนแล้ว ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ดีกว่า ผลงานเราใช้ได้แล้ว ก็เลยพัฒนางานมาด้วยตัวของเราเองเรื่อยมา
ทำไมถึงคิดจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา
มันเป็นปมเล็กๆ ส่วนตัวด้วยครับ ความที่เราเกิดในจังหวัดนครปฐม เรามีมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านดนตรีและศิลปะของประเทศ แต่ประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าคนนครปฐมสามารถหาดนตรีดีๆ ฟัง หรือหางานศิลปะดีๆ ดูได้ยาก ทั้งนครปฐมหรือทั้งภาคตะวันตก เราเลยคิดว่าถ้าอะไรที่พอจะขยับให้พื้นที่เหล่านี้มันเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ก็อยากทำ แล้วก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่อยากทำเหมือนกันเลยเริ่มทำขึ้นมา
ไม่ได้หมายความว่าเพลงที่มีอยู่ไม่ดีนะครับ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงทั่วไป ไม่ได้มีเอกลักษณ์ เหมือนเชียงใหม่ซาวด์ ขอนแก่นซาวด์ อะไรทำนองนั้น ทั้งที่จริงๆ มันควรจะมี
แต่ในทางศิลปะนี่เงียบเลยครับ ชาวบ้านปกติจะหาดูงานศิลปะนี่หาดูได้ยากมาก เลยเป็นข้อสงสัยว่าทำไมคนนครปฐมที่อยู่ร่วมกับศิลปากรแต่กลับมีงานศิลปะให้ดูน้อย
ศิลปินเขาก็บ่นกันว่าทำไมคนสนใจศิลปะน้อย แต่ในทางเดียวกันเมื่อศิลปินแสดงงานก็มีจะมีคนไม่กี่คนในวงการดูกันเอง
แล้วงานศิลปะสำคัญกับคนทั่วไปอย่างไร
ผมคิดว่าศิลปะมันเป็นสิ่งสากลที่เรียบเรียงไวยากรณ์สีต่างๆ ออกมาร้อยเรียงเป็นประโยคในรูปแบบภาพวาดหรือสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในสุนทรียภาพ มันสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
เด็กที่เติบโตในสลัม ในค่ายกักกัน ในปราสาท เติบโตต่างกัน เราอยากจะสร้างสังคมไหนให้เราและคนรอบตัวอยู่ก็เท่านั้นเอง
ในประเทศไทยเองก็ยังมีพื้นที่แบบนี้น้อย และยังไปยึดอยู่กับพิพิธภัณฑ์เชิงโบราณคดีหรือเชิงอนุรักษ์ ซึ่งคนในปัจจุบันเชื่อมต่อไม่ค่อยติด และไม่ยึดโยงกับชีวิตปัจจุบันของผู้คนแล้ว การสร้างพื้นที่ศิลปะใหม่ๆ จึงสำคัญ
คอนเซปต์ของงานคืออะไร
Depression Color ครับ เป็นงานของผมในช่วงที่ผมเป็นโรคซึมเศร้า หลังจากการเครียดสะสมเรื่อยมาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า กลายเป็นว่าในโลกปัจจุบันที่เราไม่สามารถคอนโทรลอะไรได้เลย การมีสมาธิบางอย่างบนพื้นผ้าใบมันเป็นที่ที่เราคอนโทรลได้ และไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่ต้องตัดสิน และสุดท้ายงานมันจะบอกเราเองว่าจะต้องหยุดทำตอนไหน แต่กลับกันชีวิตจริงไม่เคยบอกให้คุณหยุดเลย คุณดิ้นรนใช้ชีวิตตลอดเวลา
ผมคิดว่าประเทศนี้มันซึมเศร้ามาก่อนแล้ว ความรักและความสัมพันธ์ต่อผู้คน และสังคมที่ทุนนิยมพยายามบีบรัดให้มนุษย์ลดทอนความฝันเราลดน้อยถอยลง
ในวัยเด็กที่ทุกครอบครัวสร้างความโรแมนติกให้ลูกหลานเรียนจบปริญญา เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ชีวิตดี งานดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่วันนี้ประเทศผุพังทุกทิศทาง จนหลายคนที่ต้องแบกรับสิ่งเหล่านั้นมาพังทลายในวัยเริ่มต้นที่แท้จริง ซ้ำประเทศนี้ยังจะสร้าง 20 ปีที่ว่างเปล่า โบยตีพวกเราสม่ำเสมอ
ในระหว่างการรักษาผมก็ตกตะกอนปรัชญาชีวิตมาเรื่อยๆ พร้อมกับสร้างผลงานที่มีที่มาจากการเมือง สังคม รวมถึงมายาคติเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า สะท้อนออกมาเป็นผลงานจำนวนมาก
การเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง ส่งผลอย่างไรที่ทำให้เกิดงานนี้
ผมได้สอบถามคุณหมอถึงต้นเหตุของการเป็นโรคซึมเศร้า อาจจะเริ่มมาจากการที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง เช่น ผมเคยโดนจับ, เคยโดนรุมทำร้ายจากคน 20 กว่าคน, ขู่ฆ่า, ทำลายทรัพย์สิน ฯลฯ
ย้อนไปยังช่วงที่เข้าไปเป็นคนเขียนข่าว ในสภาพสังคมประเทศที่มันหมดหวังทุกหนทางจริงๆ ผู้สื่อข่าวโดนจับเพราะทำหน้าที่ นักเคลื่อนไหวทยอยเข้าคุกทีละคน บางคนหายสาบสูญ บางคนเสียชีวิต ถ้าผู้อ่านอยากจะรู้ว่ามวลอารมณ์ประเทศ ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านหนังสือ แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ ของประชาไท จะเข้าใจมากขึ้น ผู้สื่อข่าวต้องดิ้นรนตัวเองไปรับพลังลบจากแหล่งข่าวทุกวัน และไม่ได้มีการ Burnout มันออกมา เชื่อว่าหลายคนตอนนั้นก็ทำงานในสถานการณ์ที่หนัก
เมื่อมาถึงการเป็นนักการเมือง (ตัวเล็กๆ ที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน) ที่จะเจอสถานการณ์ต่างๆ ที่ปะทะเข้ามา การทำงานทางการเมืองที่มีแรงกดดันสูงและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ห้ำหั่น โจมตี หวานนอก ขมใน การสร้างข่าวลือ บิดเบือน เปิดดีล ล้มดีล กลับกลอก หรือความไม่ตรงไปตรงมาบางอย่าง เพื่อแย่งชิงอำนาจในทางการเมือง ตรงนี้ผมไม่ได้หมายถึงพรรคการเมืองใด ผมหมายถึงบรรยากาศโดยรวมที่คุณจะต้องเจอเมื่อทำงานการเมือง
ใช่ สำหรับคนจำนวนมากมันเป็นอะไรที่ทนได้ และสามารถ Delete ความรู้สึกบางอย่างไปได้ แต่คุณจะไม่รู้ตัวว่าสมองได้กด Save ความรู้สึกเหล่านั้นมาประมวลผลอยู่ตลอด เมื่อคุณใช้งานหนักขึ้น สมองคุณก็จะเสียหาย
ถ้าเราไปนิทรรศการนี้จะได้เจอกับอะไรบ้าง
นิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้ผมได้รวบรวมผลงานเกือบทั้งหมดมานำเสนออย่างตั้งใจ โดยสื่อสารในรูปแบบไวยากรณ์ใหม่ผ่านสีสันของสมองคนเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อสะท้อนมุมมองใหม่ๆ ต่อผู้คนในการเข้าใจมนุษย์ที่ถูกสารเคมีในสมองคอนโทรลอยู่ตลอดเวลา รวมถึงสารเคมีเหล่านั้นก็คอนโทรลผลงานพวกนี้ออกมา
ผมเริ่มงานทุกชิ้นอย่างเปล่าเปลือย ไร้ตรรกะ ความคิด และเหตุผล ปล่อยให้สารเคมีในสมองทำงาน สั่งอารมณ์ความรู้สึกให้ปล่อยออกมาเป็นสีสัน และปล่อยให้สีสันนั้นเป็นอิสระต่อการสื่อสารกับผู้คน
นิทรรศการจะจัดที่ไหน และเมื่อไร
จัดที่บ้านบอ สตูดิโอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี วันที่ 31 มีนาคม จนถึงเดือนมิถุนายนนี้ครับ