26 เมษายน 1986 คือวันที่หายนะใหญ่คืบคลานมาสู่สหภาพโซเวียต มันคือวันที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด กลายเป็นอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติ
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1977 ท่ามกลางช่วงเวลาที่รัฐบาลโซเวียตทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองพริเพียตของสหภาพโซเวียต หรือปัจจุบันคือทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส โดยมีเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องด้วยกัน
25 เมษายน 1986 พนักงานดำเนินการทดสอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ตามกำหนดการซ่อมบำรุงปกติ เพื่อทดสอบว่าระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ยังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่หากระบบไฟฟ้าถูกตัด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการทดสอบ พนักงานฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถควบคุมกำลังของเครื่องปฏิกรณ์ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคในการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน เมื่อเกิดความร้อนและแรงดันสูงจนเครื่องปฏิกรณ์รับไม่ได้ ในที่สุดแกนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ก็หลอมละลาย เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ภายใน และระเบิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 1986 ปลดปล่อยกัมมันตรังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศ และตกลงในหลายพื้นที่ของสหภาพโซเวียต รวมถึง รัสเซีย เบลารุส และทางเหนือของยุโรป
เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน แต่ในระหว่างเกิดเหตุรัฐบาลโซเวียตยังไม่ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในเมืองพริเพียต เมืองต้นแบบที่รัฐบาลโซเวียตสร้างขึ้นในปี 1970 สำหรับบุคลากรชั้นนำกว่า 50,000 คนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร กระทั่ง 36 ชั่วโมงต่อมาจึงออกประกาศให้ประชาชนนับหมื่นคนอพยพ โดยให้นำข้าวของที่จำเป็นเท่านั้นติดตัวไป และไม่มีใครได้กลับมาอีกเลย
ในช่วงแรกนั้น สหภาพโซเวียตปิดเรื่องนี้เป็นความลับ แต่ฝุ่นกัมมันตรังสีที่พวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถูกกระแสลมพัดพาไปบริเวณกว้าง และลอยไปไกลจนถึงสวีเดน ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบระดับรังสีที่สูงผิดปกติ กดดันให้รัฐบาลสหภาพโซเวียตต้องยอมออกมาอธิบายเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 1986
ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ได้สัมผัสกับรังสีปริมาณสูงมีอย่างน้อย 600,000 คน รวมถึงนักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเก็บกวาดดูแลหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกเกือบ 8.4 ล้านคนในเบลารุส รัสเซีย และยูเครน ที่ได้รับรังสีด้วย
หนึ่งในผลกระทบสืบเนื่องคือ ปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะมะเร็งไทรอยด์ การที่รัฐบาลไม่เปิดเผยสถานการณ์จริงในทันที ทำให้ผู้คนหายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นกัมมันตภาพรังสีเข้าไปนานกว่าสัปดาห์ ส่งผลให้ลูกของคนที่ประสบกับเหตุการณ์ตรง ซึ่งจะมีอายุราว 30 ปีในปัจจุบัน มีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์สูงผิดปกติ
การระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลทำให้เกิดการแพร่กระจายของรังสีที่มีอนุภาคมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 100 เท่า นับเป็นหายนะจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงมากที่สุดในโลก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การอพยพย้ายถิ่น สิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์
อ้างอิง: