วันนี้ (25 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม
โดยเปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้มีการประชุมไปแล้ว 3 นัด ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน เพราะที่ประชุมมีการพิจารณาถ้อยคำในประเด็นหลักๆ เช่น สามี ภรรยา ชายหรือหญิง คู่สมรสหรือคู่ชีวิต จะเอาหรือไม่เอา รวมทั้งเรื่องการหมั้น การแต่งงาน เป็นต้น
หลังจากนี้จะเหลือการประชุมอีก 10 ครั้ง แต่คิดว่าพิจารณาเพียง 5-6 ครั้งก็จะจบ โดยในต้นเดือนพฤษภาคม จะเชิญผู้แปรญัตติ 3 คนมาชี้แจง จากนั้นจะเป็นการพิจารณารายมาตรา ที่ขณะนี้มีการพิจารณาไปแล้ว 14 มาตรา จาก 68 มาตรา ดังนั้นขอยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม เพื่อให้เข้าสู่วาระประชุมสภาสมัยวิสามัญ ที่จะมีการเปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ในต้นเดือนมิถุนายน
วัลลภกล่าวต่อไปว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน และการให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบประวัติที่มี พล.อ. อู้ด เบื้องบน สว. เป็นประธาน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ สว. จะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะพ้นจากวาระในวันที่ 10 พฤษภาคม
วัลลภยังกล่าวชื่นชมร่างที่มาจากภาคประชาชนว่าเป็นร่างที่น่าสนใจมาก เป็นการเทียบเคียงกับร่างเดิม คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เก่า และเอาบริบทความเข้าใจของสังคมไทยมาใส่ไว้ด้วย รวมทั้งเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผสมผสาน รวมถึงมุมมองความคิดว่าโลกนี้เป็นโลกที่ไร้เพศ ที่ทุกเพศสามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยแท้
“และเมื่อร่างของภาคประชาชนเป็นเช่นนี้ ร่างของรัฐบาลก็รับร่างของประชาชนมาแล้ว 80% เมื่อมาถึงวุฒิสภาก็อาจมีบางประเด็นที่ข้องใจอยู่ เช่น ประเด็นที่ติดค้าง ทั้งเรื่องการหมั้นการแต่ง เรื่องคำว่าชายหญิงควรมีหรือไม่ การรอไว้ 120 วันช้าไปหรือไม่ สามารถบังคับใช้ทันทีได้หรือไม่ เราได้มีการพูดคุยกันหมดแล้ว และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไรเป็นที่หนักใจเลย” วัลลภกล่าว
ส่วนข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับศาสนานั้นทางกรรมาธิการได้พูดคุยกันแล้ว ซึ่งหลักของกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนามีข้อเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ ที่ผ่านมาก็ปฏิบัติกันได้ เพราะได้รับข้อยกเว้นในหลักศาสนานั้นอยู่แล้ว เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ใช้หลักศาสนาเขาอยู่แล้ว นอกจากนี้ทางกระทรวงมหาดไทยก็ชี้แจงหากมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าใจได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติหน้าที่ หลักศาสนาคือหลักศาสนา ไม่มีการบังคับกัน และมีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหน้าที่เป็นมุสลิม ไม่อยากจัดการสมรสหรือขึ้นทะเบียนให้กับบุคคลที่ต้องการจดทะเบียน เราก็สามารถที่จะเว้นการดำเนินการได้ โดยให้คนที่เป็นพุทธมาดำเนินการแทนได้ โดยประเด็นเหล่านี้ไม่มีปัญหา ดังนั้นขอให้สบายใจได้ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ใช้แน่นอน