×

ส่องผลกระทบต่อสินทรัพย์ท่ามกลางความเสี่ยงภาวะสงคราม ทองคำดีดขึ้นระยะสั้นก่อนถูกเทขาย

24.04.2024
  • LOADING...

ความตึงเครียดครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่ออิหร่านระบุว่าอิสราเอลวางระเบิดอาคารกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย สังหารนายพลสองคนและเจ้าหน้าที่ 5 คนในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน อิหร่านตอบโต้เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา โดยเปิดฉากการโจมตีทางทหารโดยตรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่ออิสราเอล ซึ่งมีการยิงขีปนาวุธมากกว่า 300 ครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความวิตกถึงความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งจะขยายวงกว้างไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง

 

เหตุการณ์นี้นำมาสู่คำถามที่ว่าจะมีสินทรัพย์ใดบ้างที่ได้รับผลกระทบและได้รับประโยชน์จากวิกฤตในครั้งนี้

 

‘ทองคำ’ สินทรัพย์ที่หลบภัยเป็นทางเลือกยอดฮิตของนักลงทุน

 

การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของทองคำมาจากการที่นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ที่หลบภัย (Safe Haven) มากขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกซื้อทองคำเก็บไว้เป็นทุนสำรองได้ผลักดันให้ทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) ที่ 2,431.60 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและค่าครองชีพในหลายส่วนของโลกมีส่วนทำให้มูลค่าเงินลดลง ส่งผลให้ผู้คนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ซึ่งทองคำเป็นที่สินทรัพย์ที่นักลงทุนชื่นชอบเป็นพิเศษ

 

จีนและอินเดียเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเครื่องประดับทอง ซึ่งในปี 2023 มีรายงานว่าธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBOC) ซื้อทองคำประมาณ 225 ตัน ทำให้มีปริมาณสำรองทั้งหมดสูงถึง 2,235 ตัน ในทางกลับกัน ความต้องการเครื่องประดับทองในอินเดียอยู่ที่ประมาณ 562.3 ตัน ในปี 2023 ตามข้อมูลของ World Gold Council

 

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน) อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ราว 2,330 ดอลลาร์ หลังจากที่ความเสี่ยงเรื่องของสงครามที่อาจกระจายวงกว้างเริ่มลดลง

 

ราคาน้ำมันปรับตัวสูง เพราะความตึงเครียดในตะวันออกกลางรุนแรง

 

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และ West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมากกว่า 3% หลังจากที่มีข่าวระเบิดในอิหร่าน แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับตัวลงมาเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์เริ่มเงียบลง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกที่ยังคงมีอยู่ สิ่งเหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผลักดันความผันผวนของตลาด

 

จนถึงขณะนี้ราคาน้ำมันสูงขึ้นประมาณ 16% ในปีนี้ เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานที่สูง ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างอิหร่านและอิสราเอล รวมทั้งการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานระหว่างยูเครนและรัสเซีย และการที่องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) และพันธมิตรคงนโยบายการจัดหาน้ำมันไว้ไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 15% และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7% นอกจากนี้ Morgan Stanley ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์น้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาสที่ 3 ขึ้น 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ฟรังก์สวิสและเยนญี่ปุ่น ขึ้นแท่นสกุลเงินที่หลบภัย

 

สกุลเงินฟรังก์สวิส (CHF) และเยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ซึ่งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์อิหร่านตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินมาโจมตีอิสราเอล สกุลเงินทั้งสองได้พุ่งสูงขึ้นทันทีเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น แม้ว่าจะชะลอตัวลงหลังจากที่เหตุการณ์สงบลงในเวลาต่อมา

 

ตลาดหุ้นและคริปโตปรับตัวลง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

 

ตลาดหุ้นและคริปโตเคอร์เรนซีถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จึงทำให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดการลงทุนในพอร์ตมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งหลังจากที่มีข่าวการโจมตีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเจอแรงเทขายจนร่วงลงกว่า 3% ฟิวเจอร์สหุ้นยุโรปลดลง 1.5-2% ขณะที่ฟิวเจอร์สสหรัฐฯ ร่วงลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าทางการของทั้งสองประเทศจะไม่ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ทำให้นักลงทุนยังคงจับตาดูต่อไป

 

Ajay Bagga ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OPC Asset Solution กล่าวว่า ราคาน้ำมันถือเป็นความเสี่ยงหลักของประเทศที่นำเข้าน้ำมัน เช่น อินเดีย แม้นี่จะเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่หากอิหร่านเลือกที่จะโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย หรือลดการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย อาจทำให้เกิดความกังวลต่ออุปทานน้ำมันและส่งผลกระทบต่อราคา แน่นอนว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้นตามไปด้วย และสิ่งนี้ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ตามมา และส่งผลต่อนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ อีกด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X