วันนี้ (22 เมษายน) พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.86 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ระดับ 36.50-37.25 บาทต่อดอลลาร์
หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed และความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
“บาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ และระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทในปี 2023 ที่ผ่านมาได้” พูนกล่าว
สำหรับสัปดาห์นี้ Krungthai GLOBAL MARKETS แนะว่า การประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา นอกจากนี้ควรรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
Krungthai GLOBAL MARKETS ยังคงมองว่าโฟลวธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะสูงราว 1.6 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้
นอกจากนี้ควรรอติดตามการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนา Monetary Policy Forum โดยต้องรอจับตาว่า ธปท. จะมีการส่งสัญญาณถึงโอกาสในการทยอยลดดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนอย่างที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนคาดหวังหรือไม่
เปิดแนวโน้มของค่าเงินบาท
Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่าโมเมนตัมฝั่งอ่อนค่ายังมีอยู่ โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้โฟลวจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ (ราว 1.6 หมื่นล้านบาท) ก็สามารถกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำและราคาพลังงาน ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่พร้อมจะกลับมาร้อนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้หากตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อ PCE ก็ไม่ได้ชะลอลงตามคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed มากขึ้น (ล่าสุดผู้เล่นในตลาดมอง Fed อาจลดดอกเบี้ยไม่ถึง 2 ครั้งในปีนี้)
“เราคงคำแนะนำว่าผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม เช่น Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward”