วันนี้ (19 เมษายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ส่งไปยังราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขอให้รอประกาศ ซึ่งฉบับล่าสุดจะเกี่ยวกับการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. โดยจะส่งในวันที่ 23 เมษายนนี้ และวันนี้มีการมอบนโยบายเน้นย้ำกับผู้อำนวยการกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กกต.) ทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในกระบวนการเลือก และได้เน้นย้ำให้ทุกคนศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดรอบคอบ และนำไปถ่ายทอดกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรในการดำเนินการเตรียมการเลือก สว.
ประธาน กกต. ยังเปิดเผยถึงมาตรการป้องกันการฮั้วหรือบล็อกโหวตว่า มี 2 กลไกหลักตามกฎหมายคือ
- ค่าสมัคร 2,500 บาท
- การเลือกไขว้
ซึ่ง กกต. มีกระบวนการของผู้ตรวจการเลือกตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว รวมถึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบการทุจริตด้วย ขอย้ำผู้สมัครอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ถ้าหากพบการกระทำเข้าข่ายฮั้ว สามารถแจ้งเบาะแสกับ กกต. ได้ ซึ่งโทษจะมีทั้งจำทั้งปรับและตัดสิทธิทางการเมือง
โดยหากนำไปสู่คำพิพากษาว่ามีความผิดจริง ก็จะมีเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การสมัครมาเป็นผู้แทนประชาชน ขอพยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมายไม่ว่าด้านใด ขอให้เป็นผู้สมัครที่ดี ซึ่ง กกต. ก็จะพยายามตรวจสอบการฮั้วให้ดีที่สุด
“กลุ่มคนที่ตั้งใจจะฮั้วอย่ามั่นใจว่าจะไม่ถูกจับได้ เพราะสมัยนี้ช่องทางการตรวจสอบเยอะ อย่าสุ่มเสี่ยงกระทำความผิด” ประธาน กกต. กล่าว
อิทธิพรกล่าวถึงกรณีของคณะก้าวหน้าที่ได้มีการรณรงค์ให้ผู้สนใจมาลงสมัคร สว. ว่า จากที่เป็นข่าวถือว่ายังไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแคมเปญ 1 ครอบครัว 1 สว. ก็เป็นการรณรงค์ให้คนไปสมัคร ซึ่งหากมีคนตอบรับแคมเปญแล้วสมัครเข้ามาจำนวนมาก ไม่ว่าจะมากเท่าไร กกต. ก็สามารถจัดการเลือก สว. ได้ไม่มีปัญหา เบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้สมัครจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน ต้องทำให้ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานที่หรือจำนวนบัตร ซึ่งรูปแบบบัตรเลือกตั้งก็เป็นไปตามแนบท้ายของกฎหมายที่ประกาศไปแล้ว โดยการจัดพิมพ์จะจัดเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดพิมพ์ในจำนวนที่คาดการณ์ไว้ แต่หากเกินจำนวนที่คาดการณ์ไว้ก็จะจัดพิมพ์อีกรอบ หลังจากเขียนตัวเลขการรับสมัครแล้ว
ประธาน กกต. ยังกล่าวถึงกรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. หรือจะมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นว่า ยังไม่ปรากฏเหตุผลใดที่จะทำให้การเลือก สว. เลื่อนหรือถูกยื้อออกไป ยืนยันว่าเมื่อ สว. ครบวาระก็จะดำเนินการตามกระบวนการทันที แม้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเลือก สว. ได้