วันนี้ (17 เมษายน) เครือข่ายอนุรักษ์ 9 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, ชมรมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพา และชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมลาดกระบัง
ร่วมออกหนังสือแถลงการณ์ เรื่อง การเพิกเฉยต่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล และข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุว่า
เนื่องด้วยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาในด้านคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ระดับขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ และขยายเป็นวงกว้างสู่หลายจังหวัดในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ แต่รัฐบาลกลับไร้ซึ่งมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหานี้
ปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ปี 2560-2564 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า ประชากรในภาคเหนือเสียชีวิตมากกว่าภาคอื่นๆ ถึง 2 เท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตตามแนวโน้มของปัญหา PM2.5
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ทำให้ตระหนักถึงปัญหา PM2.5 ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย คนไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา PM2.5 ไม่ใช่แค่มลพิษ แต่คือปัญหาสุขภาพที่พรากชีวิตคนที่เรารักไปก่อนเวลาอันสมควร ผมจะสู้ให้เต็มที่ ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณหมอกฤตไทอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม หลังจากการให้สัมภาษณ์ในวันนั้นก็ไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีมาตรการรับมือต่อสถานการณ์นี้แต่อย่างใด กลับมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ พวกเราเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่เพิกเฉยและมีแนวทางการจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะไม่มีใครต้องเสียชีวิตจากปัญหานี้ พวกเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกคนที่ได้รับผลกระทบ และต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับมา พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเบื้องต้นตามข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
- รัฐบาลต้องเร่งเจรจาและยกระดับการขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสร้างข้อตกลงร่วมกันในการลดปัญหาฝุ่น PM2.5
- สำหรับพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศแย่ อันส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลต้องให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิจารณาหยุดการเรียนการสอน และให้มหาวิทยาลัยพิจารณาการเรียนการสอนแบบ Online ทันที และขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน
- รัฐบาลต้องควบคุมราคาหน้ากาก N95 และเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสม อีกทั้งต้องจัดหาหรือจำหน่ายในทุกพื้นที่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็น และให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้
- รัฐบาลต้องนำเสนอข้อมูลจริง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายจาก PM2.5 รวมถึงวิธีป้องกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้สาธารณชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงนี้ได้
ดังนั้น เครือข่ายอนุรักษ์จาก 9 มหาวิทยาลัย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นเพียงข้อเรียกร้องในระยะเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์วิกฤตนี้เท่านั้น พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับชาติ และอากาศสะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยหรือผลักภาระให้ประชาชนรับมือด้วยตนเอง หากรัฐบาลมีมาตรการรับมือสถานการณ์ที่สมเหตุสมผล ประชาชนย่อมพร้อมปฏิบัติตาม เพราะ ‘ชีวิตที่ดีย่อมมาจากการมีอากาศที่ดี’