วันนี้ (16 เมษายน) ราคา ทองคำ ยังคงไต่ระดับขึ้นมาอยู่ใกล้กับระดับสูงสุดในประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ทำให้ความต้องการโลหะที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
ราคาทองคำสปอตเพิ่มขึ้น 0.2% อยู่ที่ 2,387.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 2,431.29 ดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 เมษายน) ขณะที่ราคาทองคำในตลาด Futures ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.9% อยู่ที่ 2,403.90 ดอลลาร์
ทองคำปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลักคือ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางครั้งล่าสุด และการเข้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งทำให้ทองคำกลายเป็นเป้าหมายในการใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้ออีกครั้ง
Matt Simpson นักวิเคราะห์อาวุโสจาก City Index กล่าวว่า “ความจริงที่ว่าเราเห็นการทะลุระหว่างวันเหนือระดับ 2,400 ดอลลาร์กลับคืนอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่านักลงทุนกระตือรือร้นที่จะบันทึกผลกำไร ซึ่งในทางกลับกัน เหตุการณ์ก็นี้ก็กำลังบอกว่า เราจะต้องเผชิญกับระดับราคาทองคำที่สูงเช่นนี้อีกหลายครั้ง”
ทองคำเพิ่มขึ้น 1.6% ในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าข้อมูลด้านเศรษฐกิจจะแสดงให้เห็นว่า ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนมีนาคม แต่ข้อมูลเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กำลังทำให้เหล่านักลงทุนตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
“ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่ง ไม่สัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยของ Fed และเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าปัจจัยกระตุ้นการบริโภคทางกายภาพที่แข็งแกร่ง (เช่น การนำเข้าทองคำแท่งของอินเดียและจีน) อุปสงค์ทางเลือก การป้องกันความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และการซื้อของธนาคารกลางกำลังสนับสนุนตลาด ” City Index ระบุ
โดย City Index คาดการณ์ราคาทองคำจะซื้อขายที่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วง 6-18 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ราคาทองคำสปอตเงินลดลง 0.3% สู่ระดับ 28.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แพลทินัม ( Platinum) เพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 966.49 ดอลลาร์ และแพลเลเดียม (Palladium)ลดลง 1% สู่ระดับ 1,025.43 ดอลลาร์
ด้านความเคลื่อนไหวราคาทองคำในประเทศไทย วันนี้ (16 เมษายน) เวลา 13.32 น. ราคาทองคำแท่ง รับซื้อที่ 41,350 บาทต่อบาททองคำ และขายออกที่ 41,450 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทองคำรูปพรรณ รับซื้อที่ 40,598.48 บาทต่อบาททองคำ และขายออกที่ 41,950 บาทต่อบาททองคำ
อ้างอิง: