การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. ) ในวันที่ 10 เมษายนนี้ นับเป็นอีกครั้งที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก หลังจากในการประชุมนัดที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์) คณะกรรมการเสียงแตก โดย 5 ท่านลงมติให้คงดอกเบี้ย ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้ลด ท่ามกลางการกดดันของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายต่อหลายครั้ง
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เมษายน) ที่ผ่านมา Reuters เผยแพร่รายงานสัมภาษณ์พิเศษ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ซึ่งเศรษฐายังคงยืนยันจุดยืนเดิมที่ต้องการให้ กนง. ลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% เพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
เศรษฐากล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งยังคงเป็นลบอยู่ในปัจจุบัน การหั่นอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อาจไม่เพียงพออีกต่อไป โดยตัวเลขที่มาดหมายไว้คือการลด 0.50% พร้อมย้ำว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยควรจะหั่นอัตราดอกเบี้ยลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้ว
จากการรวบรวมความคิดเห็นของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจสำนักต่างๆ THE STANDARD WEALTH พบว่า แต่ละสำนักมีมุมมองไปแค่ 2 ทางคือ การ ‘คง’ หรือ ‘ลด’ อัตราดอกเบี้ย
โดย ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงให้น้ำหนักเอียงไปทางว่า การประชุมในวันที่ 10 เมษายนนี้ กนง. ยัง ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม แต่มติคณะกรรมการคง ‘ไม่เป็นเอกฉันท์’ โดยมองว่าคะแนนเสียงที่จะโหวตให้ลดดอกเบี้ยน่าจะมีมากขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองเดิมโดยประเมินว่า แบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% ในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม
สำหรับผลกระทบต่อกระแสเงินทุน (Fund Flow) และอัตราแลกเปลี่ยน ณัฐพรมองว่า “ในกรณีถ้า กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ต้องจับตาดูว่า กนง. ให้เหตุผลหรือมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจระยะข้างหน้าอย่างไร” แต่หากมีมติลดดอกเบี้ยก็อาจเห็นกระแสเงินทุนไหลออก และการอ่อนค่าของเงินบาทได้ เนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะกว้างขึ้นอีก เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังไม่เริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้
อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยอีกหลายแห่งก็มองว่า ในการประชุมวันที่ 10 เมษายนนี้ มีโอกาสที่ กนง. จะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึง SCB EIC ที่ประเมินว่า กนง. จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ (ครั้งละ 0.25% ในเดือนเมษายนและมิถุนายน) เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม
ขณะที่เมื่อวันที่ 5 เมษายน Krungthai COMPASS ประเมินว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าระดับศักยภาพ
ส่วนกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า กนง. จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันพรุ่งนี้ (10 เมษายน) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลังภาครัฐเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท โดยมองว่า กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล