ประเทศไทยกำลังริเริ่มผลักดันโครงการวีซ่าร่วมกับประเทศต่างๆ ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเร่งดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างแดน
เศรษฐาได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสถานะของไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวผ่านธุรกิจการบินและโลจิสติกส์ โดยได้หารือเกี่ยวกับแนวคิดวีซ่าประเภทเชงเก้น (Schengen) กับผู้นำกัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา และเวียดนาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งวีซ่าดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มั่นใจว่านักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อระหว่าง 6 ประเทศเพื่อนบ้าน
ผู้นำส่วนใหญ่ตอบรับแนวคิดวีซ่าร่วม ทำให้ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวเล็งเห็นช่องทางที่จะสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยประคองเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ต้องเผชิญกับแรงกดดัน เช่น การส่งออกที่ซบเซา และความต้องการทั่วโลกที่อ่อนตัวลงซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า ทั้ง 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกัน 70 ล้านคนในปี 2023 โดยไทยและมาเลเซียมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.67 ล้านล้านบาท)
วีซ่าร่วมถือเป็นโครงการที่ทะเยอทะยานที่สุดในบรรดาโครงการด้านการท่องเที่ยวของเศรษฐาและมีเป้าหมายระยะยาว โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรับใช้ประเทศเป็นอย่างดี คิดเป็นประมาณ 20% ของการจ้างงานทั้งหมด และมีสัดส่วนประมาณ 12% ของเศรษฐกิจมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 17.4 ล้านล้านบาท) หากไม่นับช่วงปีที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด การท่องเที่ยวจะยังคงเฟื่องฟูและเป็นหนึ่งในแรงหนุนทางเศรษฐกิจเมื่อภาคการผลิตและการส่งออกซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของเศรษฐกิจตกต่ำ
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็มีท่าทีที่มองโลกในแง่ดี โดย มาริสา สุโกศล หนุนภักดี อดีตประธานสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “วีซ่าร่วมสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาจากแดนไกลได้ ทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น” เธอบอกว่าจะต้องขยายระยะเวลาที่วีซ่ามีผลบังคับใช้ให้ถึง 90 วัน จากระยะเวลาปกติที่ 30 วัน เพื่อดึงดูดใจ
รัฐบาลของเศรษฐาตั้งเป้าหมายจะดึงดูดนักท่องเที่ยว 80 ล้านคน ภายในปี 2027 โดยนับตั้งแต่เข้ามามีอำนาจ รัฐบาลของเขาได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าตอบแทนกันกับจีน ซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย รวมถึงการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักท่องเที่ยวจากอินเดีย, ไต้หวัน และคาซัคสถาน นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดคาสิโนภายในสถานบันเทิงขนาดใหญ่ และการท่องเที่ยวเชิงอีเวนต์ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น
บิล บาร์เนตต์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาด้านโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ C9 Hotelworks มองว่าหากทำอย่างถูกต้อง ผลประโยชน์ของการเดินทางแบบไม่ต้องใช้วีซ่าจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะความง่ายดายในการเดินทางจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักธุรกิจและการค้าขาย
อย่างไรก็ตาม วีซ่าแบบเชงเก้นซึ่งอนุญาตให้เดินทางได้อย่างอิสระในเขตเชงเก้นภายในยุโรปอาจเป็นงานหิน เนื่องจากประวัติที่ย่ำแย่ของอาเซียนในการเร่งดำเนินโครงสร้างนโยบายพหุภาคี และจุดยืนของกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นแค่เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“การทำความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยที่รัฐบาลเป็นผู้นำในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีความหมายมาก เพราะพวกเขามองออกไปข้างนอกไม่ใช่ข้างใน” บาร์เนตต์กล่าว
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของการทำวีซ่าร่วมคือการอนุมัติต้องประสานกัน และมีมาตรฐานเกณฑ์การตรวจคนเข้าเมืองร่วมกันในหมู่ประเทศสมาชิกเหมือนกับสหภาพยุโรป ทว่าอาเซียนกลับเป็นองค์กรที่แตกแยกและมีสถิติด้านการตรวจคนเข้าเมืองที่ไม่ดีนัก
ศ.ดร.ฐิตินันท์ ยังให้ความเห็นว่า เศรษฐาเป็นคนที่ยังใหม่ทางการเมือง และอาจจะไม่มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้ข้อเสนอเกี่ยวกับวีซ่าผ่านไปได้
“สารพัดสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่นั้นเปรียบเสมือนเก็บผลไม้สุกที่หล่นจากต้นหรือเก็บผลไม้ที่ตกอยู่บนดิน” ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าว “บางครั้งผลไม้ที่ตกลงบนดินมันก็เน่าเสียแล้ว”
ภาพ: Anusak Laowilas / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: