รายงานล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่า ไทยและประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนเป็นแหล่งทิ้งขยะผิดกฎหมายของโลก ซึ่งส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าจากตลาดมืดและอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการดำเนินการ
รายงานระบุว่า ประเทศผู้นำเข้าหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดย ‘ขยะพลาสติก’ ถือเป็นหนึ่งในขยะที่ถูกขนส่งมากที่สุดทั่วโลกช่วงปี 2017-2022 โดยขณะนี้มีปริมาณมากเกือบ 43 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะปนเปื้อนอีกจำนวนมาก
มลพิษจากขยะพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการดำรงชีวิต รวมถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะปัญหา ‘ไมโครพลาสติก’ ที่สามารถตกค้างในระบบทางเดินหายใจและห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตได้
รายงาน UN ฉบับนี้ยังเผยอีกว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะมีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์จะแสวงหาโอกาสด้วยการติดสินบนเจ้าพนักงาน ปลอมแปลงเอกสาร ขัดขวางการตรวจสอบและฝ่าฝืนข้อบังคับต่างๆ
การติดตามเส้นทางขยะผิดกฎหมายที่มีลักษณะ ‘ข้ามชาติ’ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน เพราะมักจะอาศัยช่องโหว่ต่างๆ หลากหลายวิธีในการลักลอบนำเข้าขยะพิษผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขนย้ายมาจากประเทศต้นทางในแถบยุโรป โดยสถิติระหว่างปี 2017-2022 สหภาพยุโรป (EU) มีส่วนสนับสนุนการค้าขยะพลาสติกเกือบครึ่งหนึ่งของโลก
โดยขณะนี้อาเซียนนำเข้าขยะโลหะ กระดาษ และขยะพลาสติกมากกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งมีมูลค่าสูงเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปริมาณขยะที่นำเข้าก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี
รายงานยังระบุว่า ในประเทศไทยขยะบางประเภทไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทางการ ผู้ลักลอบจึงเลือกที่จะติดฉลากว่าเป็น ‘สินค้าใช้แล้ว’ เพื่อนำขยะผ่านข้ามแดน มากกว่าที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ขณะที่ในเวียดนาม ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกติดฉลากว่าเป็น ‘พลาสติกรีไซเคิล’ เพื่อลักลอบนำขยะเข้าประเทศ
ธุรกิจการค้าขยะข้ามชาติมักถูกมองว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่ให้ผลกำไรสูงและมีความเสี่ยงต่ำ ส่วนใหญ่ขยะเหล่านี้มักจะถูกส่งจากประเทศที่มีรายได้สูงไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และเมื่อขยะมาถึงประเทศปลายทางก็มักจะถูกฝังกลบ เผาในที่โล่ง หรือจัดเก็บในสถานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งก่ออันตรายให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก
ข้อมูลล่าสุดจากกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ว่าปริมาณขยะทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 70% จากปี 2018 เป็น 3.4 พันล้านตันต่อปีภายในปี 2050
แฟ้มภาพ: Neenawat Khenyothaa / Shutterstock
อ้างอิง: