×

‘หลานม่า’ ใกล้กันขนาดนี้ แต่เรารู้จักกันดีแค่ไหน

04.04.2024
  • LOADING...
หลานม่า

หลานม่า เรียกน้ำตาคนดูตั้งแต่ปล่อยทีเซอร์ออกมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน โดยเฉพาะใครที่เติบโตมากับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อได้ดูเต็มๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีมากกว่าแค่ซีนซึ้งๆ แต่ตั้งคำถามมากมายกับสถาบันครอบครัวไทย ลามไปถึงสวัสดิการของรัฐในวันที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

หลานม่า เล่าเรื่องของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ที่แม้จะผูกพันกันภายใต้คำว่าครอบครัวใหญ่ แต่ในหน่วยเล็กๆ ทุกคนต่างดิ้นรนเอาตัวรอดไปตามวิถีของตัวเอง จนความผูกพันที่มีก็แค่สรรพนามลำดับญาติที่ใช้เรียกกันก็เท่านั้น แบบเดียวกับครอบครัวของ เอ็ม (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) ที่อาศัยอยู่กับแม่คือ สิ้ว (เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส) ลูกสาวคนเดียวของ อาม่า (แต๋ว-อุษา เสมคำ) ในจำนวนพี่น้อง 3 คน คือ กู๋เคี้ยง (ดู๋-สัญญา คุณากร), กู๋โส่ย (เผือก-พงศธร จงวิลาส) สมาชิกในครอบครัวที่มักจะมารวมตัวในวันเทศกาล หรือไปเยี่ยมอาม่าที่อาศัยอยู่คนเดียวบ้างในช่วงวันหยุด เอ็มไม่เคยใส่ใจกับกิจกรรมของครอบครัวเลย จนกระทั่งเห็น มุ่ย (ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ลูกพี่ลูกน้องฝั่งพ่อ ได้สมบัติ เพราะไปปรนนิบัติอากงช่วงบั้นปลายชีวิต เขามีความคิดจะเข้าไปดูแลอาม่าที่เพิ่งตรวจเจอมะเร็ง เพื่อหวังได้สมบัติบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าไปในโลกของอาม่า ได้เห็นปฏิกิริยาที่มีต่อกันของคนในครอบครัว และได้รู้จัก ‘อาม่า’ ที่มีนิยามมากกว่าแม่ของแม่ที่จะไปหาเมื่อไรก็ได้ แต่คือผู้หญิงที่ใช้ทั้งชีวิตทำเพื่อครอบครัว

 

หลานม่า

 

เอาเข้าจริงเนื้อหาของ หลานม่า ก็น่าจะคาดเดาได้ตั้งแต่ดูทีเซอร์ และเมื่อแปะโลโก้ GDH ที่เชี่ยวชาญเรื่องการขยี้คนดูด้วยฉากจี๊ดๆ กับภาพยนตร์แนวนี้ ก็น่าจะออกมาซึ้งน้ำตาแตกแบบที่ผ่านมา ซึ่ง หลานม่า ก็ทำให้น้ำตาไหลได้จริง แต่การเล่าเรื่องกลับเรียบง่ายกว่านั้นมาก เหมือนพาคนดูเข้าไปดูชีวิตของครอบครัวหนึ่ง ค่อยๆ ซึมซับไปทีละเล็กละน้อย และเมื่อถึงเวลาลั่นไกแค่ประโยคง่ายๆ อย่าง “อยากโชว์หวิวอยู่พอดี” หรือ “กลับบ้านกันนะ” ก็ทำให้คนดูปล่อยโฮในโรงภาพยนตร์ได้แบบไม่อายใคร

 

ภาพยนตร์ไม่ได้เท้าความถึงความรักและความผูกพันระหว่างเอ็มกับอาม่าที่เลี้ยงดูมา และมีฉากแฟลชแบ็กเพียงแค่หนึ่งฉากถ้วน แต่ให้รับรู้จากบทสนทนาที่โผล่มาแค่เล็กๆ น้อยๆ เหมือนให้คนดูได้เริ่มทำความรู้จักอาม่าให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับเอ็มที่ห่างเหินกับอาม่าถึงขนาดมองว่าเป็นเพียงต้นทุนของชีวิต ไม่ต่างจากลูกๆ คนอื่นๆ อย่างกู๋เคี้ยงที่ไปมีครอบครัวของตัวเอง และคิดว่าการให้เงินก็เพียงพอแล้วสำหรับการเป็นลูกที่ดี หรือกู๋โส่ยที่เอาตัวไม่รอดและทำกับแม่เหมือนเป็นแค่ตู้เอทีเอ็ม

 

 

อาม่าของเอ็มเหมือนเป็นตัวแทน ‘อาม่า’ ของใครหลายๆ คน คือผู้หญิงในเจเนอเรชัน Baby Boomer ที่มักจะพูดไม่ตรงกับใจ ถูกสอนว่าการแสดงความรู้สึกมากเกินไปเป็นสิ่งไม่ดี การสื่อสารกับลูกหลานจึงไม่ค่อยมีคำพูดดีๆ และหาเรื่องติติงได้ตลอดเวลา แต่ถ้าได้ถอดความหมายออกมา ทุกประโยคแฝงไปด้วยความห่วงใย เช่น “มันไม่ต้องมาน่ะดีที่สุด แสดงว่ามันสบายดี” หรือการติติงลูกสาวทั้งๆ ที่ซาบซึ้งในน้ำใจ ขณะเดียวกันก็ไม่สบายใจที่ลูกต้องมาลำบากเพราะตัวเอง

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในเรื่องยังเป็นภาพสะท้อนของครอบครัวเชื้อสายจีน ที่ประเด็นเรื่องรักลูกไม่เท่ากันมักเป็นคลื่นใต้น้ำและจะทวีความรุนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตพ่อแม่ อย่างเช่น ในครอบครัวของเอ็ม กู๋เคี้ยงคือลูกคนโปรดของอาม่า ด้วยความเป็นลูกชายคนโต เป็นรักแรกของแม่ แถมยังได้ดังใจมากที่สุด ในขณะที่ลูกสาวมักไม่ได้รับความสนใจ แต่พึ่งพาได้มากที่สุด ส่วนลูกชายคนเล็กคือคนที่ไม่เอาไหน แต่ก็ได้รับความใส่ใจมากที่สุดแบบไม่รู้ตัว ความน้อยเนื้อต่ำใจแสดงออกมาผ่านคำพูดทีเล่นทีจริง และแทบจะถึงจุดแตกหักเมื่อมองว่าสมบัติคือความรักที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ 

 

หลานม่า

 

อาม่ารู้ในข้อนี้ดี เพราะในรุ่นของเธอก็เป็นแบบนั้น และความสัมพันธ์แบบพี่น้องก็แทบจะขาดออกจากกันเมื่อพ่อแม่ตายไป มีฉากเล็กๆ ที่แสดงถึงความผูกพันของอาม่ากับพี่ชาย แต่ในอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็เข้าใจได้ว่าทำไมอาม่าไม่เคยมาหาพี่ชายเลย อย่างน้อยๆ ก็นับตั้งแต่เอ็มเกิดมา หรือแม้แต่ในเทศกาลเช็งเม้งที่ญาติๆ มารวมตัวกัน ความสัมพันธ์พี่น้องของอาม่าก็ไม่ปรากฏให้เห็น เป็นเหตุผลที่อาม่าดิ้นรนสร้างฮวงซุ้ยใหญ่ๆ เกินฐานะ เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทุกคนยังรวมกันเป็นครอบครัวอยู่

 

“ลูกชายได้สมบัติ ลูกสาวได้มะเร็ง”

 

บทสนทนาระหว่างอาม่ากับสิ้ว แม่ของเอ็ม ไม่ใช่แค่เสียดสีการให้ความสำคัญของลูกแต่ละคนไม่เท่ากันของครอบครัวจีน แต่ ‘มะเร็ง’ ในที่นี้ยังอาจหมายถึงการส่งต่อความคิดนี้ผ่านผู้หญิงที่เคยถูกกระทำ เช่น อาม่า ซึ่งก็ยังทำแบบเดียวกันเมื่อตัวเองมีลูก และทุกอย่างก็ออกมาอีหรอบเดิม

 

 

หลานม่า ยังฉายภาพสะท้อนชะตากรรมครอบครัวไทย ทั้งครอบครัวของกู๋เคี้ยงที่ไขว่คว้าหาชีวิตดีๆ แบบครอบครัวสมัยใหม่ ส่วนสิ้วก็เป็นแค่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหาเช้ากินค่ำ และกู๋โส่ยที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย ทุกคนแค่เอาตัวรอดยังยากเลย ทำให้ ‘แม่’ แทบจะไม่ได้อยู่ในสมการชีวิตของลูกๆ เลย สิ่งที่แม่ทำได้คือ พยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดและแสดงออกไปว่าเข้มแข็ง จนกระทั่งเมื่อเอ็มได้ไปสัมผัสชีวิตของอาม่า ทำให้ความคิดของเอ็มค่อยๆ เปลี่ยนไป

 

การดิ้นรนไม่อยากเป็นภาระของลูกหลานยังแสดงผ่านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนชรา ที่ต้องตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ไปเข้าคิวพบหมอ เพื่อเสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด หากใครมีญาติผู้ใหญ่ก็คงคุ้นเคยกับสถานการณ์แบบนี้ และหัวเราะหึๆ อยู่ในใจ แต่เมื่อมองว่านี่คือบริการของรัฐในวันที่คนในเจเนอเรชัน X ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังจะเป็นอากงอาม่า ก็เหมือนฝันร้ายที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที

 

สรุปแล้ว หลานม่า คือภาพยนตร์ที่ซาบซึ้งกินใจ ทำให้ได้คิดถึงใครสักคนที่ความคุ้นเคยอาจทำให้มองข้ามไป และย้อนถามตัวเองว่าได้ทำความเข้าใจโลกของเขาบ้างหรือยัง 

 

ภาพ: GDH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X