รัฐบาลเตรียมจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ขายต่างประเทศ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังมีกรณีสินค้าจีนราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้าตลาดไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะที่สินค้าจีนถูกกีดกันจากประเทศอื่นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
มาตรการภาษีใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาสินค้าจีนดัมป์ราคาสินค้าไทยได้หรือไม่ และใครจะเป็นผู้ได้และเสียประโยชน์จากมาตรการนี้
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH กรณีรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า ไม่น่าจะเป็นการป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่จะช่วยทำให้การแข่งขันระหว่างพ่อค้าแม่ค้าจีนและไทยมีความเป็นธรรมมากขึ้น
“จากการประเมินของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลังจากฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจพบว่า สินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศราคาต่ำ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เมื่อนำเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
5 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือเป็นมูลค่าที่ธุรกิจ SMEs ไทยสูญเสียไป จึงทำให้ SMEs ไทยประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากธุรกิจ SMEs ไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีนิติบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง” รศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว
การนำเข้าสินค้าราคาถูกมีสัดส่วนสูง และกำลังโตแรง
ขณะที่ ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business and Macro Research ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากฐานข้อมูลของกรมศุลกากร Krungthai COMPASS พบว่า ตลาดสินค้านำเข้าราคาถูกมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีความสำคัญไม่น้อยเลย โดยปี 2567 ไทยมีการนำเข้ามาถึง 56.8 ล้านหีบห่อ และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 17,972 ล้านบาท ในเชิงอัตราการเติบโตตลาดนี้ขยายตัวสูงถึง 53.8% และเป็นเทรนด์ที่โตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดจากปี 2566 ที่ขยายตัว 18.8% จะเห็นว่าตลาดนี้มีศักยภาพสูง
โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเก็บภาษีจึงอาจช่วยลดทอนกระแสไปได้บ้าง แต่มองว่าไม่ได้จำกัดโอกาสของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศออกไป เมื่อเป็นเช่นนั้น มาตรการนี้จึงอาจไม่ได้มีนัยต่อการลดการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะการสกัดกั้นสินค้าจากจีน
ช่วยสกัดสินค้าจีนราคาถูกได้แค่ไหน?
ดร.ฉมาดนัย อธิบายอีกว่า ต้องเข้าใจว่าการตีตลาดของสินค้าจีนนั้นเป็นเพราะแรงกดดันที่เค้าเผชิญ ทั้งแรงต้านจากกระแสแยกขั้วจากมหาอำนาจฝั่งตะวันตก และปัญหาเศรษฐกิจภายในจีนที่ยังฟื้นตัวได้เปราะบาง จึงต้องหันมาขายกับชาติในเอเชียมากขึ้น ภาวะนี้จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าราคาถูกผ่านช่องทางออนไลน์ เราจะเห็นคลื่นสินค้าจีนในหลายระดับทั้งไฮเอนด์ราคาแพงที่เกาะไปกับกระแสโลกใหม่ได้ดี เช่น รถ EV อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในบ้านตามธีม IoT หรือโดรน รวมไปถึงของใช้จิปาถะซึ่งมีดีไซน์โดนใจ ประเด็นนี้จึงเป็นกระแสของโลก
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ดันสินค้าจีนมาไทย
Krungthai COMPASS ยังวิเคราะห์ว่า เทรนด์การค้าระหว่างไทยกับจีนกำลังถูก Reshape จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
“เรามักจะทราบกันว่าสหรัฐฯ คือตลาดส่งออกอันดับ 1 ซึ่งในปี 2566 มีส่วนแบ่ง 17% แต่รองลงมาถ้าไม่นับอาเซียนแล้วจะเป็นจีนที่มีส่วนแบ่ง 12% แต่ในด้านการนำเข้าเราอาจไม่ทราบว่าจีนเป็นแหล่งนำเข้าที่เราพึ่งพาเป็นอันดับ 1 ของไทย โดยมีส่วนแบ่งถึง 24% โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมูลค่าการนำเข้าจากจีนทั้งหมดในปี 2566 นั้นสูงกว่ามูลค่าการส่งออกไปจีนถึง 2 เท่า ทั้งนี้ ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างยาวนาน โดยปีที่ผ่านมาติดลบสูงถึงกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์” ดร.ฉมาดนัยกล่าว
เมื่อมองมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าที่สำคัญของไทยกับจีน คือ ไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจีน เนื่องจากไทยนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากจีนอย่างพวกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรโลหะ พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เพื่อไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายจำหน่ายต่อไปยังปลายทางในสหรัฐฯ ยุโรป หรือชาติเอเชีย ในบริบทนี้สินค้าส่วนหนึ่งของไทยจึงเป็นฐานสำหรับทดแทนสินค้าที่ผลิตในจีนที่ถูกกีดกัน
“สิ่งที่น่าสนใจคือ ไทยจะวางบทบาทของเราอย่างไรให้ได้รับประโยชน์จากกระแสแยกขั้ว โดยเราควรได้รับอานิสงส์ของการย้ายฐานเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยมีบทบาทในการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น และสามารถผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและผลิตภาพสูงกว่าเดิม อันจะช่วยผลักดันความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพการขยายตัวของ GDP ไปอีกระดับหนึ่ง” ดร.ฉมาดนัยกล่าว
ใครได้-ใครเสีย? จากการเก็บ VAT สินค้านำเข้า
รศ.ดร.ธนวรรธน์ประเมินว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือคนขายและคนซื้อสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำ นักธุรกิจรายย่อย และผู้ขายของตามแพลตฟอร์มต่างๆ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่ม SMEs ที่ผลิตสินค้าในประเทศ และยังจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลไทยเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ
“แม้บางคนอาจรู้สึกว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะกระทบกับผู้นำเข้า นักธุรกิจรายย่อย ผู้ขายของตามแพลตฟอร์มต่างๆ แต่การเก็บภาษีดังกล่าวทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้น ทำให้ SMEs ไทยอยู่รอดมากขึ้น และเป็นการชดเชยหรือลดผลกระทบเชิงลบที่ผู้ประกอบการไทยพบเจอมายาวนาน”
ต้นทุนสินค้า-เงินเฟ้อจะ ‘เพิ่มขึ้น’ หรือไม่?
รศ.ดร.ธนวรรธน์ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวไม่น่าทำให้สินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาษี VAT ดังกล่าวอยู่ที่ 7% เท่านั้น นอกจากนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอาจยอมแบกรับภาระบางส่วนเอง ดังนั้น ไม่น่าทำให้เงินเฟ้อสูง และไม่ได้ทำให้คนตกงาน
สอดคล้องกับ ดร.ฉมาดนัยซึ่งประเมินว่า การส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อนั้นคาดว่ามีผลกระทบจำกัดมาก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีทางเลือก อีกทั้งสินค้ากลุ่มนี้ซึ่งมักเป็นของใช้ราคาไม่แพง จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องไฟฟ้า หรือของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ของประดับ เครื่องแต่งตัว หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ส่วนตัว ซึ่งเมื่อจัดหมวดหมู่ในตะกร้าเงินเฟ้อแล้วมีสัดส่วนน้อยประมาณ 10-15% เท่านั้น
“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากการนำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำไม่เกิน 1,500 บาท เป็นการพุ่งเป้าไปที่สินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้วผู้ซื้อจะตัดสินใจด้วยการเปรียบเทียบราคา หรือมีความยืดหยุ่นต่อราคาค่อนข้างสูง หากราคาที่เพิ่มเซนสิทีฟพอจะทำให้เกิดการสวิตช์ไปหาตัวเลือกอื่น ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทยราคาถูก” ดร.ฉมาดนัยกล่าว
รัฐเตรียมดึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซร่วมรีดภาษี
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุเมื่อวันที่ 2 เมษายน ถึงความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำ (Low-Value Goods) ราคาไม่เกิน 1,500 บาท โดยระบุว่า กรมสรรพากรจะนำเสนอกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด มีหน้าที่จดทะเบียน VAT นำส่งภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนเช่นเดียวกันกับการขายสินค้าของผู้ขายในประเทศไทย
กกร. แนะรัฐบาลเพิ่มมาตรการสกัดสินค้าด้อยคุณภาพ
วันนี้ (3 เมษายน) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แนะว่า เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขสินค้าไม่มีคุณภาพทั้งระบบ
- ควรพิจารณาปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร หรือ Free Zone
- เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า
- เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการสุ่มตรวจเพียง 30% ของรายการสินค้านำเข้าเท่านั้น ดังนั้นอยากให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มอัตราการสุ่มตรวจให้เป็นอย่างน้อย 70% หรือถ้าทำได้ 100% ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้ ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาในไทยนั้น ได้ส่งผลกระทบกับมากกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทั้งหมด 46 อุตสาหกรรมแล้ว ขณะเดียวกัน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก็มีการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตสินค้าในประเทศจะลดลงเรื่อยๆ หากปล่อยไว้จะกลายเป็นผู้ประกอบการเลือกปิดไลน์การผลิต และจะหันไปนำเข้าสินค้าแทนโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs
ขณะที่ ดร.ฉมาดนัยก็มองว่า มาตรการเก็บภาษีตัวนี้จะเจาะไปที่ตลาดสินค้านำเข้าราคาถูกผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งอาจช่วยทัดทานกระแสสินค้าจีนไปได้บ้าง แต่อยากให้มองไปไกลกว่านั้นถึงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ที่ไม่ได้มีเพียงสินค้าที่ไหลทะลักมาไทย แต่มีสินค้าซึ่งเราจะต้องแข่งกับมหาอำนาจของเอเชียนี้ในสมรภูมิการส่งออกที่เขากำลังแก่งแย่งลูกค้ากับเรา
อาจเริ่มพฤษภาคมนี้ไม่ทัน?
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จากเดิมที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs นั้น ปัจจุบันกองวิชาการแผนภาษีของกรมสรรพากร กำลังศึกษารูปแบบรายละเอียดในการจัดเก็บ VAT ดังกล่าวเพื่อเตรียมออกเป็นกฎหมายที่ให้มีผลประกาศบังคับใช้
อย่างไรก็ดี หากกฎหมายดังกล่าวจะมีผลให้ทันตามกรอบรัฐบาลหรือในเดือนพฤษภาคม จะต้องออกในรูปแบบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้มีผลบังคับเร็ว ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลในการตัดสินใจเกี่ยวกับความเร่งด่วน