โตโยต้า ประกาศยอดขายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จำหน่ายได้ 52,843 คัน ลดลง 26.1% จากปีก่อน รถที่ยอดขายหดตัวมากที่สุดคือกระบะขนาด 1 ตัน ลดลง 44% รองลงมาเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ 29.4% และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 20.1% ค่ายรถยนต์หวังงานมอเตอร์โชว์จะช่วยกระตุ้นยอดขายปิดไตรมาสแรกของปี
ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์อาจลุ้นไม่ขึ้น และไม่คึกคักตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ด้วยยอดขาย 52,843 คัน ลดลง 26.1% ประกอบด้วย
- รถยนต์นั่ง 19,861 คัน ลดลง 20.1%
- รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 32,982 คัน ลดลง 29.4%
- รถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขายที่ 15,535 คัน ลดลง 43.2%
ส่วน 5 อันดับแบรนด์รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ มีดังนี้
- อันดับ 1 Toyota 19,702 คัน
- อันดับ 2 Honda 8,587 คัน
- อันดับ 3 Isuzu 7,653 คัน
- อันดับ 4 Mitsubishi 2,655 คัน
- อันดับ 5 Ford 2,206 คัน
EV เร่งจดทะเบียนเป็นเหตุ ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัว
ขณะที่ฝั่งรถยนต์ไฟฟ้า ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านโครงการ EV 3.0 ที่ขยายระยะเวลาการจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ภาษีภายในสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ค่ายรถต่างเร่งจดทะเบียนให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันรัฐบาลได้สานต่อด้วยโครงการ EV 3.5 ที่ให้ส่วนลดสนับสนุน 100,000 บาท สำหรับรถยนต์ราคาไม่เกิน 2,000,000 บาท โดยยังมีค่ายรถยนต์ที่เซ็นจากโครงการ EV 3.0 เข้าร่วมต่อ แต่กำลังซื้อรวมถึงความสนใจของลูกค้าเกิดชะลอตัว จนทำให้บางค่ายรถยนต์ลดราคาเพื่อกระตุ้นตลาด ขณะเดียวกันยังมีแบรนด์น้องใหม่ที่เตรียมเข้าทำตลาด และสร้างโรงงานผลิตโดยตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกในแถบอาเซียน
สำหรับ 5 แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจดทะเบียนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ มีดังนี้
- BYD 1,068 คัน
- Tesla 670 คัน
- MG 400 คัน
- Aion 344 คัน
- Volvo 182 คัน
กระบะร่วงต่อเนื่อง ไฟแนนซ์เข้ม ค่ายรถหาช่องทางขายเพิ่ม
ด้านตลาดรถกระบะถือเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ยอดขายรวมอยู่ที่ 15,535 คัน ลดลง 43.2% สาเหตุมาจากสถาบันการเงินมีมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากปริมาณหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดรถกระบะชะลอตัวลง อีกทั้งรถกระบะมีการปรับปรุงเพื่อผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 5 ซึ่งรถที่ผลิตในปี 2024 จะต้องมีระบบกรองเขม่าไอเสียมาจากโรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงต้องปรับเพิ่มราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน
- อันดับที่ 1 Toyota 7,386 คัน
- อันดับที่ 2 Isuzu 5,705 คัน
- อันดับที่ 3 Ford 1,453 คัน
- อันดับที่ 4 Mitsubishi 701 คัน
- อันดับที่ 5 Nissan 227 คัน
สงครามราคา กระตุ้นการซื้อแต่ส่งผลสภาพตลาดระยะยาว
กลยุทธ์สำคัญที่ค่ายรถยนต์เริ่มหันมาใช้มากขึ้นนั่นคือ ‘ราคา’ ทั้งการตรึงราคาเดิมเพิ่มอุปกรณ์ และลดราคาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝั่งค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเริ่มใช้กลยุทธ์ทั้งการตรึงราคากับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ปรับโฉม และลดราคาให้กับรุ่นที่จำหน่ายในตลาดมานาน แม้ว่าการใช้กลยุทธ์ลดและตรึงราคาจะมีผลดี และช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นก็ตาม แต่ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ราคาขายต่อและการควบคุมต้นทุนของรถยนต์ ทำให้ตัวรถไม่สามารถจำหน่ายถึงจุดคุ้มทุนได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นของลูกค้าถูกลดลง ทำให้เกิดการชะลอการซื้อรถ
มอเตอร์โชว์คือความหวังก่อนปิดยอดไตรมาสแรก
แม้ว่ายอดขายเดือนกุมภาพันธ์จะพอบอกทิศทางได้ถึงตลาดรถยนต์ในเมืองไทยที่อาจทรงตัว และไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวกลับไป อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์มองว่าเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ 2024 ค่ายรถคาดว่างานดังกล่าวจะสามารถสร้างความคึกคักให้กับตลาดได้ ทั้งข้อเสนอจากรถยนต์รุ่นต่างๆ รวมทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่ต่างขนทัพมาแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกและสนองต่อความต้องการของลูกค้าชาวไทยมากขึ้น
จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายกิจกรรมพิเศษ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 ระบุถึงยอดจองในมอเตอร์โชว์ว่า ปีนี้ตั้งเป้าว่ายอดจองรถยนต์ภายในงานเพิ่มขึ้น 15-20% จากปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากปัจจัยบวกในหลายด้าน โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้ผลิตรถรายใหม่ ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับตลาดรถยนต์ไทยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
“อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อว่าการเข้ามาของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนและเวียดนาม จะทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีสีสันมากขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีของผู้บริโภคที่จะเลือกใช้รถยนต์ตามความต้องการได้ในราคาที่เหมาะสม และที่สำคัญผู้เข้าชมงานสามารถเลือกชมเลือกซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ทุกแบรนด์ ทุกรุ่น และทุกแคมเปญ ที่มีจำหน่ายในประเทศได้ภายในงานเดียวอีกด้วย” จาตุรนต์กล่าว
ค่ายรถยนต์ประเมินยอดขายปีนี้ราว 730,000 คัน ต่ำลง 7%
โนริอากิ ยามาชิตะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยค่อนข้างนิ่ง โดยเฉพาะตัวเลขตลอดปี 2023 มีความเป็นไปได้ว่ายอดขายปีนี้อาจต่ำกว่า 750,000 คัน ทั้งนี้ มีสัญญาณบวกที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของประชาชนเริ่มฟื้นตัว เชื่อว่าเศรษฐกิจ ณ เวลานี้อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น
“ปี 2023 ยอดขายรวม 770,000 คัน ครึ่งหลังของปีตลาดรถซบเซาโดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดมีภาวะยากลำบาก ขณะที่ตลาดกระบะมีการเพิ่มมาตรการเข้มงวดจากธนาคารและหนี้ครัวเรือน ทำให้ยอดขายลดลง 30% ทั้งนี้ ด้วยมาตรการเข้มงวดของธนาคารและการควบคุมหนี้เสีย ปัจจัยนี้คาดการณ์ว่าปี 2024 จะมียอดขายรถยนต์รวม 730,000 คัน ต่ำกว่าปีก่อน 7% ในขณะที่ส่วนของโตโยต้าหวังจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 34.8% จากปีก่อน ยอดขายรวม 260,000 คัน”
ถึงแม้จะมีค่ายรถจีนและรถ EV ทำให้การแข่งขันสูง แต่เชื่อได้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะทำได้ โดยโตโยต้าได้วางกลยุทธ์การขายตลอดทั้งปี ส่วนระยะกลาง-ยาวเป็นอย่างไร จะพิจารณาตามสถานการณ์ของตลาด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
อ้างอิง: