ปัจจุบันทั่วโลกมีแนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพื่อลุยภารกิจพิชิต Net Zero สู่อนาคตที่ยั่งยืน
นี่เองทำให้เทรนด์ติดตั้ง Solar Roof มีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย (Residential) ด้วยเหตุผลภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากความผันแปรของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและการซื้อไฟฟ้า ส่งผลให้ค่า FT มีการปรับตัวสูงขึ้น หากมีพฤติกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะทำให้ภาพรวมภาระค่าไฟฟ้าต่อเดือนยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอีกด้วย
จุดนี้เองเลยกลายเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน), บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการร่วมกันทำโครงการ Solar Roof
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของศุภาลัยจะใช้เป็นต้นแบบเรื่องการบริหารจัดการพลังงานที่ยั่งยืน ในขณะที่ไอออน เอนเนอร์ยี่ จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการต่างๆ
โดยระบบดังกล่าวจะมาจากหัวเว่ยร่วมออกแบบและติดตั้ง Solar Roof ให้กับบ้านในโครงการของศุภาลัย และเซ็ตมาตรฐานการติดตั้งด้วยอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ระดับ Tier 1 คู่กับ Huawei Inverter และสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล (BCC)
ที่ผ่านมาหัวเว่ยมีบริการรวมถึงโซลูชันต่างๆ ที่ได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในตลาดมากกว่า 170 ประเทศ ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บพลังงาน การนำไปใช้งาน และความปลอดภัยในการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมให้ทั้งภาคองค์กรและครัวเรือนร่วมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน
ภายใต้เป้าหมายในการสนับสนุนโครงการจำนวน 30,000 โครงการในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ถึง 265,000 ตัน ตามเป้าหมายเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย
“ในเฟสแรกได้ดำเนินแผนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ลูกบ้านศุภาลัย ประเดิม 1,500 หลังทั่วประเทศ พร้อมดูแลระบบติดตั้ง บำรุงรักษา รวมถึงความรู้ความเข้าใจด้านการใช้งาน และร่วมกันผลักดันการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน” ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าว
ขณะเดียวกันได้มีการตั้งเป้าเพื่อพิชิตยอด 15,000 หลัง ภายในปี 2571 โดยปัจจุบันได้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการที่จะดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 30% ครอบคลุมกว่า 29 จังหวัด
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสามารถคำนวณยอดผลิตกระแสไฟฟ้ารวมได้ 82,300 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 49,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เสมือนการปลูกต้นไม้ทดแทน 3.2 ล้านต้น และลูกบ้านศุภาลัยสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 20,000-30,000 บาทต่อปี
และในอนาคตมีแผนพัฒนาเพิ่มช่องทางการ Tracking ติดตามพร้อมควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน SABAI สามารถใช้งานได้อย่างครบวงจรมากขึ้น