ตั้งแต่ต้นปี 2024 ธนาคารกลางต่างประเทศได้ทยอยเปลี่ยนการทำนโยบายการเงิน โดยส่วนใหญ่ได้ส่งสัญญาณทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม มีธนาคารกลางบางประเทศโดยเฉพาะในเอเชียที่ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลต่อค่าเงินด้วยเช่นกัน ภายใต้ทิศทางนโยบายของธนาคารกลางที่เปลี่ยนไป ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรต่อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไตรมาสแรกของปี 2024 ประเทศต่างๆ ‘ขึ้น-ลด’ ดอกเบี้ยเท่าไรกันบ้าง
- นโยบาย Fed ยังไม่แน่นอน FOMC กังวลความเสี่ยง ‘ทั้ง 2 ด้าน’
ทิศทางนโยบายการเงินต่างประเทศ
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
วันที่ 21 มีนาคม 2024 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ Fed ยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม 2023
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB)
วันที่ 21 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.5% สวนทางกับนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่าอัตราดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายน 2024
ธนาคารกลางบราซิล (BCB)
วันที่ 20 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางบราซิลมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เหลือ 10.75% และให้คำมั่นว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางบราซิลครั้งถัดไป
ธนาคารกลางนอร์เวย์
วันที่ 21 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางนอร์เวย์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.5% พร้อมตอกย้ำว่าจะคงความเข้มงวดนี้ไว้อีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปเริ่มดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน ทำให้ธนาคารกลางนอร์เวย์คาดการณ์ว่าจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน
ธนาคารกลางจีน
วันที่ 15 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางจีนมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 15 มีนาคม ขณะที่ดึงเม็ดเงินออกจากระบบจากการดำเนินการสินเชื่อนโยบายระยะกลาง เนื่องจากธนาคารกลางจีนยังคงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของสกุลเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับระยะเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
วันที่ 19 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก -0.1% เป็นช่วง 0-0.1% นอกจากนี้ยังประกาศยกเลิกนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ซึ่งธนาคารกลางใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะยาว โดยการซื้อและขายพันธบัตรตามความจำเป็น นับเป็นการยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 หรือในรอบกว่า 17 ปี
ธนาคารกลางไต้หวัน
วันที่ 21 มีนาคม 2024 ธนาคารกลางไต้หวันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2% จาก 1.875% โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการปรับขึ้นราคาพลังงานในเดือนเมษายน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีอยู่
นำมาสู่คำถามที่ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยไทยและทิศทางค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรต่อไป
บาทแข็งค่าหลัง Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2024 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้าวันดังกล่าวเปิดที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.18 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.91-36.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผลการประชุม FOMC สะท้อนว่า Fed ยังคงมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (ตามที่ประเมินไว้) ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของ Fed (Dot Plot) ในการประชุมเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่าการอ่อนค่าของเงินบาทที่ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านสำคัญ (Triple Tops) 36.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ก็อาจสะท้อนว่าเงินบาทมีโอกาสทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่การแข็งค่าก็อาจจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เริ่มมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่า Fed ในการประชุมเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากทั้งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ตามบรรยากาศในตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้เรามองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์ได้
SCB EIC คาด กนง. หั่นดอกเบี้ยเมษายนนี้
วันที่ 14 มีนาคม 2024 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มปรับทิศการใช้นโยบายการเงินไตรมาส 2 ปีนี้ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 75 bps
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวม 100 bps ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 20 bps ซึ่งเป็นการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ธนาคารกลางจีนจะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง
โดย SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ โดยจะปรับลดครั้งแรกในที่ประชุมเดือนเมษายน จาก 2.5% เป็น 2.25% และลดอีกครั้งในเดือนมิถุนายนเป็น 2% เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม
มองกรอบเงินบาทสิ้นปี 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ประเมินว่าค่าเงินบาทในระยะสั้นจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากแล้ว เงินบาท ณ สิ้นปีมีแนวโน้มแข็งค่าในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น