รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกทูตจีนเข้าพบ เพื่อประท้วงและต่อต้านการกระทำที่ก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ หลังหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของจีนใช้ปืนฉีดน้ำโจมตีเรือพลเรือนซึ่งกำลังส่งมอบเสบียงให้กับกองกำลังทหารที่ประจำอยู่ในเขตพื้นที่แนวสันดอนโทมัสที่ 2 เป็นเหตุให้เรือลำดังกล่าวเสียหายและมีลูกเรือได้รับบาดเจ็บบางส่วนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้านกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ หวังใช้สู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์และอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือเขตพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้
กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์เน้นย้ำว่า “การแทรกแซงอย่างต่อเนื่องของจีนต่อกิจกรรมใดๆ อันชอบด้วยกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
ขณะที่หน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของจีนกล่าวว่า จีนจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวกับเรือของฟิลิปปินส์ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตน่านน้ำของจีน พร้อมทั้งชี้ว่าฟิลิปปินส์จงใจจอดเรือรบเก่าลำหนึ่งไว้ที่แนวสันดอนดังกล่าวเมื่อปี 1999 เพื่อสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนเองเหนือพื้นที่แถบนั้น
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงส่งเรือลาดตระเวนชายฝั่งไปทั่วทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่จีนอ้างว่าเป็นเขตน่านน้ำของตน แม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะเคยมีคำตัดสินเมื่อปี 2016 ว่าการวัดอาณาเขตทางทะเลด้วยการใช้สิทธิทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏบนแผนที่ของจีนเท่านั้น ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS)
ความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาปมพิพาททางทะเลระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ความตึงเครียดแถบทะเลจีนใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า “ฟิลิปปินส์ได้ใช้ความพยายามอย่างจริงใจในการปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เคยให้คำมั่นว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้
“แต่การกระทำที่ก้าวร้าวของจีนทำให้เกิดคำถามถึงความจริงใจในการลดความตึงเครียดและส่งเสริมสันติภาพ”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ยังเรียกร้องให้จีนสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนมากกว่าที่จะปล่อยให้ประเด็นนี้คลุมเครือต่อไป พร้อมทั้งระบุว่า “ไม่มีประเทศใดเชื่อในคำกล่าวอ้างของจีน และพวกเขามองว่าทั้งหมดล้วนเป็นวิธีการใช้กำลังข่มขู่และบีบบังคับให้ฟิลิปปินส์ยอมทำตามความทะเยอทะยานของจีน”
นอกจากจีนและฟิลิปปินส์แล้ว เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ก็ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน
แฟ้มภาพ: Ezra Acayan / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/philippines-defence-minister-dares-china-put-maritime-sovereignty-claim-2024-03-25/
- https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3256592/south-china-sea-manila-dares-beijing-arbitrate-claim-if-china-not-afraid-summons-chinese-envoy-over
- https://www.cfr.org/timeline/chinas-maritime-disputes
- https://thac.or.th/th/thai-arbitration-role-south-china-sea/