หลังใช้เวลา 1 ปีกว่าๆ กับเม็ดเงิน 1 พันล้านบาท ในที่สุด ‘เกษรอัมรินทร์’ ซึ่งพลิกโฉมจาก ‘อัมรินทร์พลาซ่า’ ก็กลับมาเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเสียงทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างการดึง ‘LV The Place Bangkok’ มาเปิดที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกของโลก
THE STANDARD WEALTH ได้เป็น 1 ใน 2 สื่อของไทยที่ได้สัมภาษณ์พิเศษ ‘ชาญ ศรีวิกรม์’ ประธานบริหาร เกษร พร็อพเพอร์ตี้ และบริษัทในเครือเกษร กรุ๊ป ถึงที่มาที่ไปของการดึงแบรนด์ระดับโลกในครั้งนี้ พร้อมกับทิศทางต่างๆ หลังจากที่ ‘เกษรอัมรินทร์’ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กลุ่มเกษร พร็อพเพอร์ตี้ เทงบพันล้าน พลิกโฉม ‘อัมรินทร์พลาซ่า’ เป็น ‘เกษรอัมรินทร์’ เปิดทางการสิ้นปี 2566
- LV The Place Bangkok โปรเจกต์ใหม่ของ Louis Vuitton ที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกของโลกเพื่อเปิดตัว
“ผมคิดว่าดีลนี้เป็นเหมือน ‘โชคชะตา’ ของเรามากกว่า เพราะเรามีจุดยืนของตัวเองชัดเจน บวกกับห้างหรูที่อยู่ใกล้เคียงมีพื้นที่ไม่พอ” ชาญกล่าวพร้อมเสริมว่า “ผมว่า Louis Vuitton กำลังออกจากโมเดลการตั้งร้านในห้างใหญ่ๆ ที่เป็นโมเดลเดิมออกมาทำอะไรใหม่ๆ เลยมาเลือกที่เกษรอัมรินทร์”
ไม่แปลกที่ชาญจะเรียกดีลนี้ว่าเป็นเหมือน ‘โชคชะตา’ เพราะดีลนี้คุยกัน 12 เดือนซึ่งเร็วมาก เพราะปกติใช้เวลานานถึง 2 ปี กว่าที่จะได้ข้อสรุป และเป็นการคุยตรงกับบริษัทแม่ โดยที่ไม่ได้มีการผ่านตัวแทนอื่นๆ
“เนื่องจากเราเคยทำงานกับเขา เขาจึงเข้าใจว่าคุณภาพงานของเราตรงตามมาตรฐานของเขา และเราเองก็เปิดรับนวัตกรรมเพื่อหาทางที่จะนำสิ่งที่แตกต่างมาให้ลูกค้า” ชาญกล่าว “การทำ LV The Place คือการทำกลยุทธ์ Placemaking ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่ แต่เป็นการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับองค์ประกอบในพื้นที่ และจริงๆ เราใช้กลยุทธ์นี้มานานแล้ว ฉะนั้นนี่คือจุดยืนของเรา”
ชาญย้ำว่า ตัวเองนั้นไม่ได้ทำห้างสรรพสินค้าและไม่ได้เน้นเรื่องของลักชัวรี แต่เป็นการสร้างพื้นที่สำหรับคนเมืองที่ต้องการไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง พร้อมรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มแมสอย่างศูนย์อาหารที่เป็นภาพจำเดิมของตึกอัมรินทร์พลาซ่า และได้เพิ่มเติมร้านอื่นๆ เข้ามาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์อื่นๆ
สำหรับตัวอย่างร้านที่เป็นการเปิดแห่งแรกในไทยประกอบด้วย Lawry’s The Prime Rib ร้านสเต็กเฮาส์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา, Ryoan Cosmetic จากเกาหลีใต้ และ Dough Bros. Pizza & Doughnuts ส่วนร้านที่เปิดเฉพาะเกษรอัมรินทร์ก็จะมี Mickey’s Diner BKK และ RAYNUE
ตอนนี้พื้นที่ค้าปลีกซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 17,600 ตร.ม. กว่า 75% ได้เซ็นสัญญาเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังคุยเพิ่มเติมอีก 2 แบรนด์ ซึ่งหากปิดดีลได้ก็จะทำให้อัตราการเช่าเพิ่มขึ้นเป็น 80% โดยหลักๆ แล้ว 40% จะเป็นร้านอาหาร, 20% เป็นแฟชั่น, 20% เป็นบิวตี้ และที่เหลือเป็นอื่นๆ
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเกษรอัมรินทร์คือการเลือกจะเก็บ ‘เสาโรมัน’ อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่ภายในได้ออกแบบเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกันกับเกษรวิลเลจ
“กระเป๋าก๊อปปี้ได้ แต่ประวัติศาสตร์ก๊อปปี้ไม่ได้ ดังนั้นความยาวนานของตึกกว่า 30 ปีจึงไม่มีใครที่จะสามารถลอกเลียนแบบได้ เราจึงเลือกที่จะเก็บไว้เพื่อสร้างเป็นสตอรีสำหรับตึก”
การลงทุน 1 พันล้านบาทใน ‘เกษรอัมรินทร์’ คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปีในการคืนทุน ขณะเดียวกัน การกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งคาดว่าจะทำให้รายได้ของเกษร กรุ๊ป เพิ่มขึ้น 50% เป็น 1.3 พันล้านบาทในปีนี้ ในจำนวนนี้รายได้ยังมาจากอาคารอีก 2 แห่งคือ เกษรวิลเลจ และอาคารเกษรทาวเวอร์
แม้หลังการปรับปรุงจะทำให้ลดพื้นที่ค้าปลีกจากที่เคยมี 19,600 ตร.ม. แต่ด้วยภาพรวมที่มีความทันสมัยมากขึ้น จึงได้รับการจัดเกรดจาก C เป็น A- ทำให้สามารถเพิ่มค่าเช่าได้ถึง 50% จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมของเกษร กรุ๊ป มีรายได้เพิ่มขึ้น
“เราตั้งเป้าว่าจะมีทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวมาใช้บริการรวมทั้ง 3 ตึกของเกษรวิลเลจอยู่ที่ 70,000-80,000 คนต่อวัน” ชาญกล่าวพร้อมเสริมว่า ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้บริการเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง อินเดีย ยุโรป อเมริกา และประเทศในอาเซียน