ตลาดหุ้นในหลายประเทศทั่วโลกแตะจุดสูงสุดตลอดกาล (All-Time High) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย ปัจจัยอะไรที่หนุนการปรับตัวสูงขึ้นของตลาดหุ้นในประเทศเหล่านี้ และตลาดไหนมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในปี 2024
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งขึ้นรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 เดือน ท่ามกลางสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed
สำหรับสหรัฐฯ ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมาจากความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2024 แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะแข็งแกร่งเกินคาดก็ตาม Fed ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่ธนาคารยังคงการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ การลดดอกเบี้ยของ Fed บ่งชี้ว่าบริษัทอาจมีรายได้ที่มากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมลดลง
จากข้อมูลในอดีตแสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลงเมื่อ Fed ใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวด เช่น ช่วงเดือนมกราคม 2022 ถึงเดือนตุลาคม 2022 ดัชนี S&P ร่วงลงเกือบ 30% อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ฟื้นตัวขึ้นมาได้ในเวลาต่อมาเนื่องจากกระแสปัญญาประดิษฐ์ นักวิเคราะห์มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ รายได้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้น และการมองโลกในแง่ดีทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมด้านเภสัชกรรม และอื่นๆ อาจทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไป
ตลาดหุ้นยุโรปได้อานิสงส์จากหุ้นกลุ่มเทคและกลุ่มเหมืองแร่
ดัชนีหุ้น FTSE 100, STOXX 600, CAC 40 และ DAX แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ โดยมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเหมืองแร่เป็นผู้นำตลาด ปัจจัยหนุนสำหรับตลาดหุ้นยุโรปมาจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และ Andrew Bailey ผู้ว่าการ BOE ระบุว่า เศรษฐกิจอังกฤษกำลังดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมที่ BOE จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน่าประหลาดใจโดยธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 มีนาคม) ช่วยผลักดันตลาดให้ปรับตัวขึ้น เนื่องจากเทรดเดอร์ตระหนักว่าธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลกไม่จำเป็นต้องรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยของตนเอง โดยธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์นับเป็นธนาคารกลางรายใหญ่รายแรกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ ซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ได้
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่สูงขึ้น และการยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทในประเทศ
ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นก็แตะระดับสูงสุดตลอดกาลอีกครั้งเช่นกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ปัจจัยอีกประการที่ทำให้ดัชนีหุ้นของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นก็คืออัตราเงินเฟ้อของประเทศที่สูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ของญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 2.80% เพิ่มขึ้นจาก 2.20% ในเดือนมกราคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดอยู่ที่ 2.80% เทียบกับ 2% ในเดือนก่อนหน้า
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจมากขึ้นคือ การยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นได้ปรับปรุงงบดุล อัตรากำไรจากการดำเนินงาน และรัฐบาลพยายามผลักดันการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการที่ดียิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นมากขึ้น และส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน สิ่งนี้ทำให้นักลงทุนทุ่มเงินทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ การเปิดตัวดัชนีหุ้นญี่ปุ่นใหม่ ‘Prime’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันระหว่างบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นของประเทศมีความคล่องตัวและน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น
กระแส AI และความต้องการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์จุดประกายตลาดหุ้นไต้หวัน ตลาดหุ้นของไต้หวันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มีนาคม) เนื่องจากกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความต้องการเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วยเพิ่มการมองโลกในแง่ดีของนักลงทุนในประเทศ ทางด้าน Paul You ประธาน First Securities Investment Corporation แสดงความเห็นว่า ดัชนี Taiwan Stock Exchange Weighted Index (TWSE) อาจปรับตัวสูงถึงระดับ 24,000 ก่อนสิ้นปีนี้ เนื่องจากความต้องการ AI ทั่วโลกมีความแข็งแกร่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และยังคงมีแนวโน้มที่ดี ขณะที่หลายอุตสาหกรรมต้องดิ้นรนท่ามกลางความไม่แน่นอนระดับมหภาคทั่วโลก
การเติบโตที่รวดเร็วและมุมมองทางเศรษฐกิจที่สดใสดึงดูดเม็ดเงินสู่ตลาดหุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียกำลังเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ต่างก็คาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะโต 6% ต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี นอกจากนี้ MSCI ประกาศเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นอินเดียในดัชนี MSCI Emerging Markets Index เป็น 18.20% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิม 12% ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา มุมมองทางเศรษฐกิจที่สดใสของอินเดียได้ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล และนี่ทำให้ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดกาลนั่นเอง
อ้างอิง: