“หายไปไหนนะ มันน่าจะอยู่ตรงนี้นี่นา” ข้าวของบนโต๊ะทำงานกระจุยและกระจายตัวเล็กน้อย รวมถึงกระดาษวาดรูปที่มีลายเส้นตัวละครผมชี้ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีด้วย
ไม่ว่าใครจะรู้จักเขาในแบบไหนก็ตาม สำหรับคนใกล้ชิดแล้ว อากิระ โทริยามะ เป็นคนขี้ลืมที่มักจะหาข้าวของของตัวเองไม่เจอเป็นประจำ เพียงแต่ในบรรดาข้าวของทั้งหมดนั้นจะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นของที่สำคัญที่สุดในฐานะของยึดเหนี่ยวจิตใจในการทำงาน
ของดังกล่าวไม่ใช่ลูกแก้วมังกรหรือดราก้อนเรดาร์ มันเป็นเพียงแค่ปลอกปากกาที่ทำจากไม้สีชมพูธรรมดาๆ ที่ดูไม่ใช่ของมีราคาอะไร
แต่เพราะปลอกปากกาชิ้นนี้แหละที่ช่วยรังสรรค์โลกใบนี้ให้สวยงามขึ้นมาได้ ด้วยเรื่องราวจากจินตนาการที่ไม่รู้จบของนักวาดการ์ตูนผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของชาวญี่ปุ่น
พร้อมจะผจญภัยไปในเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง Bird Studio แล้วหรือยัง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิระ โทริยามะ นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นผู้เขียน Dr. Slump และ Dragon Ball เสียชีวิตแล้วในวัย 68 ปี
- เหล่าคนรัก Dragon Ball รวมตัวส่งพลังบอลเกงกิ ไว้อาลัย ‘อาจารย์โทริยามะ’ ผู้ล่วงลับ
- Dragon Ball มังงะที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬามากมาย
ปลอกปากกาและโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลง
เรื่องราวของปลอกปากกามหัศจรรย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้นั้นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นของเด็กชายอากิระ โทริยามะ ที่ซื้อปลอกปากกานี้มาตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปี และเป็นของคู่ใจมาตลอดตั้งแต่นั้น
แต่ในช่วงนั้นโทริยามะก็ไม่ได้คิดที่จะเป็นนักวาดมังงะอะไร ถึงจะวาดรูปได้ค่อนข้างเก่งก็ตาม และเริ่มหลงใหลลายเส้นของการ์ตูนนับตั้งแต่ได้ดูเรื่อง ‘One Hundred and One Dalmatians’ (1961) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ชอบการวาดรูป ก่อนจะเริ่มหลงรักผลงานของ อ.เทซูกะ โอซามุ เจ้าของเรื่องอมตะ ‘เจ้าหนูอะตอม (Astro Boy)’ ในเวลาต่อมา
ด้วยนิสัยที่เป็นคนรักความสบาย โทริยามะไม่ยอมเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เลือกที่จะหางานทำทันที ซึ่งแม้จะได้งานในบริษัทโฆษณาโดยมีหน้าที่ออกแบบโปสเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ และปรับตัวไม่ยาก แต่ปัญหาคือการเป็นคนชอบตื่นสายทำให้เขามีปัญหากับวัฒนธรรมการทำงานในบริษัท แม้แต่เรื่องการแต่งกายก็เป็นเรื่องที่เขาไม่ชอบ
เมื่ออะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้นั้นไม่ใช่ บวกกับแรงผลักดันจากการที่ไม่มีเงินเหลือใช้เลยจนต้องขอเงิน 500 เยนจากแม่ เขารู้ว่าจะปล่อยให้ชีวิตเป็นไปแบบนี้ไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ทำให้โทริยามะเริ่มหันเหสู่เส้นทางสายการเป็นนักวาดการ์ตูนหรือมังงะสำหรับชาวญี่ปุ่น
เส้นทางนั้นไม่ง่ายเลย ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจที่สูงมาก ซึ่งโชคดีที่เขาได้ร่วมงานกับบรรณาธิการที่มากฝีมือและเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์อย่าง โทริชิมะ คาซุฮิโกะ ที่ผลักดันอย่างเข้มข้นตลอดมา
ในที่สุดผลงานชิ้นแรก ‘Wonder Island’ ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Shonen Jump ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่านักวาดพลังหนุ่มคนนี้จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยปากกาของเขาในเวลาต่อมา
ที่บอกว่าไม่มีใครคาดคิดก็เพราะ Wonder Island ได้รับการโหวตว่าเป็นเรื่องที่ห่วยที่สุดของนิตยสาร
อากิระ โทริยามะ คนนั้นถึงขั้นคิดจะอำลาวงการทันทีเมื่อได้รับเงินค่าเรื่อง
อาราเล่จัง และซุนโกคู
จากความล้มเหลวของ Wonder Island โทริยามะยังจ๋อยต่อ เมื่อ Wonder Island 2 ภาคต่อก็จบไม่สวยเหมือนกัน
แต่กลายเป็นว่ายิ่งล้มเหลวก็ยิ่งทำให้คนขี้ดื้ออย่างเขาไม่ยอมแพ้ และพยายามต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามันจะออกมาเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ซึ่งผลงานเรื่องต่อมาอย่าง ‘Today’s Highlight Island’ ก็ยับเยินอีก
ในช่วงเวลาที่เจ็บปวดท้อแท้ กลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าสำหรับโทริยามะในเวลาต่อมา เพราะมันช่วยสอนอะไรหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับการเป็นสุดยอดนักวาดการ์ตูนในอนาคต หนึ่งในนั้นคือเรื่องการ ‘ฟังคนอื่น’ บ้าง
โทริชิมะ คาซุฮิโกะ พยายามแนะนำให้เขาวาดมังงะเรื่องต่อไปโดยให้มีตัวละครเอกเป็นผู้หญิงบ้าง ซึ่งโทริยามะไม่ซื้อไอเดียสักเท่าไร จนมีการเดิมพันกันเล็กน้อยระหว่างทั้งสอง เพียงแต่หลังจากที่ได้เห็นความสำเร็จในเรื่องต่อมา ‘Tomato the Cutesy Gumshoe’ เขาก็ยอมฟังและวาดตัวละครเอกที่เป็นผู้หญิงขึ้นมาในมังงะเรื่องต่อไปในปี 1980
ตัวละครดังกล่าวคือ โนริมากิ อาราเล่ หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ใส่แว่นหน้าตาน่ารัก ที่เป็นผลงานของ โนริมากิ เซมเบ นักประดิษฐ์สติเฟื่องในเรื่อง ‘Dr. Slump’ มังงะยาวเรื่องแรกในชีวิตของ อากิระ โทริยามะ
เรื่องราวสุดป่วนของเหล่าแก๊ง ทั้งอาราเล่, กัตจัง, โอโบจามะ, ซุปปาแมน (Suppaman อมบ๊วยเค็ม) และ ดร.สลัมป์ เอง ได้รับความนิยมอย่างมาก เรียกว่าเป็นมังงะที่ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น แต่ยังเป็นครั้งแรกที่สามารถบุกไปชนะใจชาวตะวันตกและทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในไทยด้วย
ความสำเร็จนี้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อไปที่กลายเป็นมาสเตอร์พีซอย่าง ‘ดราก้อนบอล (Dragon Ball)’ ที่เริ่มต้นตีพิมพ์ในปี 1984 หลังจากที่ Dr. Slump ได้จบลง
อันที่จริง Dragon Ball ในตอนแรกนั้นเป็นเรื่องราวการผจญภัยที่สนุกสนานของ ซุนโกคู (หรือจะโงกุนตามที่คนไทยเรียกก็ไม่มีปัญหา) ที่บังเอิญได้พบกับ บูลมา หญิงสาวนักผจญภัยที่ออกตามหาลูกแก้วมังกรสีส้มที่มีรูปดาว ซึ่งมีทั้งหมด 7 ลูก ตามตำนานที่บอกว่าหากใครรวบรวมลูกแก้วได้ครบทั้ง 7 ลูกจะสามารถอัญเชิญเทพเจ้ามังกรมาเพื่อขอพรอะไรก็ได้ 1 อย่าง
โดยที่ตัวละครซุนโกคูนั้นมีพื้นฐานจากซุนหงอคง ตัวละครในนิยายอมตะของจีน โดยมีทั้งกระบอง มีหางเหมือนลิง และเก่งกาจทางวิทยายุทธ ขณะที่เรื่องราวเต็มไปด้วยการผจญภัยที่ทั้งสนุกและตลก (ใครจำคำขอพรของตัวละครอูลอนได้บ้าง?) มีธีมของมิตรภาพและความพยายาม ที่แม้โทริยามะจะไม่ได้ตั้งใจคิดถึงขนาดนั้น แต่สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่แฟนๆ ได้ซึมซับโดยไม่ตั้งใจ
ไปๆ มาๆ ยิ่งเรื่องราวดำเนินต่อไปมากเท่าไร ความสนุกและความเข้มข้นก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหลังจากที่เข้าสู่ภาคใหม่ ‘Dragon Ball Z’ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1989 โดยมีการปรับธีมมาเป็นมังงะการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายดีกับฝ่ายร้าย ด้วยพลังและอภินิหารจากจินตนาการของโทริยามะ
ผลงานเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากพลังคลื่นเต่าสะท้านฟ้า (Kamekameha) ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เด็กๆ ทุกคนเชื่อว่าพวกเขาเองก็หัดทำพลังคลื่นเต่าหรือท่าไม้ตายของตัวละครโปรดคนอื่นๆ อย่างเบจิต้า, ซุนโกฮัง, พิคโกโล, คุริลิน, เท็นชินฮัง หรือหยำฉา
โดยที่สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าแค่ความสำเร็จของโทริยามะ
มันคือความทรงจำของโลกใบนี้ด้วย
Pop Culture ยุคใหม่ และพลังคลื่นเต่าทางเศรษฐกิจ
นอกเหนือจาก Dragon Ball แล้ว ยังมีผลงานของ อากิระ โทริยามะ อีกมากมาย โดยเฉพาะในด้านของการออกแบบตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์
หนึ่งในนั้นคือการออกแบบตัวละครให้เกมอมตะอย่างซีรีส์ ‘Dragon Quest’ และเกมเหนือกาลเวลาอย่าง ‘Chrono Trigger’ ที่มีตัวละครที่โดดเด่นสะดุดตาและยากที่จะหาใครเลียนแบบสไตล์กับจินตนาการของเขาได้
โดยเฉพาะหนึ่งในตัวละครน่ารักที่ได้รับความนิยมตลอดกาลใน Dragon Quest คือตัวสไลม์ ปีศาจในเรื่องเล่าทางตะวันตกที่มีลักษณะเป็นเมือก ซึ่งโทริยามะเปลี่ยนให้กลายเป็นตัววุ้นหน้าตาน่ารักนุ่มนิ่ม และกลายเป็นหนึ่งในตัวละครที่ได้รับการจดจำมากที่สุด
ขณะที่แรงบันดาลใจจาก Dragon Ball ยังนำไปสู่มังงะที่เดินตามรอยในเวลาต่อมาอย่าง Naruto และ One Piece ซึ่งเรื่องหลังยังคงดำเนินต่ออยู่ในปัจจุบัน ไม่นับแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ อีกมากมายที่เติบโตมากับผลงานของเขา และนำมาสร้างสรรค์ผลงานในแบบของตัวเองต่อมา
เรียกได้ว่ามีผลงานจากปลายปากกาและปลอกปากกาเก่าๆ ที่หากพังโทริยามะก็ไม่ยอมซื้อใหม่ แต่จะซ่อมแล้วซ่อมอีกเพราะถนัดมือมากที่สุด เป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก
พอจะบอกได้ว่าโลกทั้งใบได้รู้จักมังงะญี่ปุ่นก็เพราะ Dragon Ball ซึ่งแม้ Dragon Ball Z ที่เป็นภาคหลักดั้งเดิมจะจบลงตั้งแต่ปี 1996 แล้ว แต่ยังคงมีเรื่องราวภาคต่อที่ได้รับอนุญาตให้สร้างสรรค์ได้ เช่น อนิเมะ หรือภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ รวมถึงมังงะภาคใหม่อย่าง Dragon Ball Super ที่โทริยามะเป็นผู้ควบคุมอีกที
ในทางเศรษฐกิจแล้ว Dragon Ball ถือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่สร้างรายได้กลับมาให้แก่ญี่ปุ่นอย่างมากมายมหาศาล โดยข้อมูลในปี 2022 จาก All Japan Magazine and Book Publishers’ and Editors’ Association ระบุว่า ยอดจำหน่ายมังงะทั่วโลกมีมูลค่าถึง 6.77แสนล้านเยน โดยที่ตัวเลขการเติบโตสูงขึ้นทุกปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากเรื่องฮิตยุคใหม่อย่าง ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer) แต่อีกส่วนก็มาจากผลงานอมตะอย่าง Dragon Ball ด้วย
โดยที่ Dragon Ball เองไม่ได้มีแค่มังงะหรืออนิเมะ แต่แตกยอดออกเป็นผลิตภัณฑ์มากมายทั้งของเล่น เสื้อผ้า ของใช้ ของสะสม ไปจนถึงเกมที่มีการสร้างออกมามากมายหลายภาค ตามเล่นกันแทบไม่ทัน
CBR.com ระบุว่า มูลค่าของ Dragon Ball สูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.31 แสนล้านบาท
เมื่อคิดถึงที่มาที่ไปกับการผจญภัยในชีวิตจริงของ อากิระ โทริยามะ และปลอกปากกาไม้ที่ดูไม่น่ามีราคาอะไรมากมายขนาดนั้นแล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงไม่ต่างอะไรจากพรของเทพเจ้ามังกรที่เขาร้องขอต่อโลกใบนี้
“ขอให้โลกนี้สนุกและสบายใจนะ”
ภาพ: Luciano Gonzalez / Anadolu via Getty Images
อ้างอิง:
- www.economist.com/obituary/2024/03/14/toriyama-akira-was-probably-japans-greatest-manga-master
- www.dw.com/en/japan-manga-to-spearhead-nations-economic-growth/a-65393781?utm_source=pocket_reader
- https://apnews.com/article/314580300a4d4fe0a7b3abd718026a9e?utm_source=pocket_reader
- www.inverse.com/entertainment/akira-toriyama-pop-culture-influence
- สุดท้ายแล้วปลอกปากกาแสนรักนี้ได้หายไปในช่วงปี 2000 ระหว่างที่กำลังปิดจ๊อบผลงานคั่นเวลาสนุกๆ เรื่อง ‘Sand Land’ ซึ่งหลังจากนั้นโทริยามะวาดการ์ตูนน้อยลงอย่างมาก โดยที่ใครถามก็ได้แต่บอกว่า “อ๋อ ขี้เกียจน่ะ”
- เขามักจะวาดตัวเองเป็นหุ่นยนต์สวมชุดแบบญี่ปุ่นและสูบบุหรี่ที่ได้รับการจดจำว่า ‘โทริ’
- ส่วนโทริชิมะ บรรณาธิการจอมเฮี้ยบ ก็ปรากฏตัวในมังงะของเขาด้วยเหมือนกัน แต่เป็นตัวผู้ร้ายตลกๆ!