ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนในโลก ก็ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะไม่สามารถรอดพ้นจากการสร้างความเสียหายของมนุษย์ได้ แม้ว่าที่นั่นจะเป็นใต้มหาสมุทรที่ลึกที่สุดในโลกก็ตาม
ล่าสุดมีการค้นพบถุงพลาสติกในบริเวณพื้นที่ที่ลึกที่สุดในโลก หรือร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล 36,000 ฟุต (10,898 เมตร) เป็นการยืนยันถึงการสร้างมลภาวะทางน้ำของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
ถุงพลาสติกดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในขยะ 3,000 ชิ้นที่พบในก้นทะเลจากการดำน้ำกว่า 5,000 ครั้ง โดยทีมสำรวจนานาชาติตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนขยะอื่นๆ ที่พบประกอบด้วย เหล็ก ยางลบ อุปกรณ์ตกปลา แก้ว เสื้อผ้า และสิ่งของอื่นๆ ที่ยังไม่มีการเปิดเผย
ผลสำรวจนี้จัดเก็บในรูปไฟล์ภาพและวิดีโอในคลังข้อมูลเศษขยะใต้ทะเลลึก (Deep-Sea Debris Database) และเพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้
รายงานระบุว่า “มีความกังวลมากขึ้นว่าระบบนิเวศใต้ทะเลลึกได้ถูกทำลายจนเสียหายไปมากแล้ว จากน้ำมือมนุษย์ที่แสวงหาทรัพยากรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งทรัพยากรที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับระบบชีววิทยา โดยที่ความเสียหายมาจากการสำรวจ ขุดเจาะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองต่างๆ”
ดังนั้นจึงน่าวิตกว่าน้ำทะเลอาจเสียหายจากมลภาวะมากกว่านี้ ขณะที่สิ่งมีชีวิตในทะเลมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากขยะมากขึ้น โดยเฉพาะจากถุงพลาสติก
ผลสำรวจพบว่า 89% ของพลาสติกที่พบ เป็นพลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งลงทะเล เช่น ขวดพลาสติก หรือภาชนะพลาสติก
เมื่อปี 2016 เรือสำรวจ Okeanos Explorer ขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) พบความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล โดย 17% ของภาพถ่ายพลาสติกในฐานข้อมูลแสดงให้เห็นถึงการที่สัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากขยะ โดยสัตว์บางตัวถูกพันด้วยถุงพลาสติก หรือเข้าไปติดอยู่ในขยะ
อ้างอิง: