×

สัมภาษณ์พิเศษ Shohei Shigematsu สถาปนิกเบื้องหลังนิทรรศการที่ LV The Place Bangkok

18.03.2024
  • LOADING...

LV The Place Bangkok ของ Louis Vuitton ถือได้ว่าเป็นหนึ่งโปรเจกต์ที่กำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมลักชัวรีในบ้านเราแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นโปรเจกต์ที่ทำให้เห็นว่าแบรนด์ระดับแถวหน้าของโลกเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยที่จะเปิดตัวก่อนนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว เซี่ยงไฮ้ หรือปารีส 

 

โดยภายใต้ Experiential Store อย่าง LV The Place Bangkok สิ่งที่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์คือการที่มีนิทรรศการระยะยาวในชื่อ Visionary Journeys ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าถูกดีไซน์โดยทีมภายในของ Louis Vuitton ที่จะทำตามแพลนที่ถูกเซ็ตมา แต่ในความเป็นจริงแล้วได้สถาปนิกระดับโลกชาวญี่ปุ่น Shohei Shigematsu มาดูแล ซึ่งเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท OMA ที่มีสถาปนิกอย่าง Rem Koolhaas, Reinier de Graaf, Ellen van Loon, Iyad Alsaka, David Gianotten, Chris van Duijn และ Jason Long ซึ่ง Shohei Shigematsu เคยอยู่เบื้องหลังนิทรรศการ Manus x Machina: Fashion in an Age of Technology ของพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ก และตึก Toranomon Hills Station Tower ที่โตเกียว เป็นต้น

 

ล่าสุดที่งานเปิดตัว LV The Place Bangkok ทาง THE STANDARD POP ได้สัมภาษณ์ Shohei Shigematsu แบบเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อจะได้เรียนรู้เบื้องหลังของนิทรรศการ Visionary Journeys พร้อมกับเข้าใจตัวตนและวิสัยทัศน์ของเขามากขึ้น

 

Shohei Shigematsu ที่นิทรรศการ Visionary Journeys ณ LV The Place Bangkok

 

อยากให้คุณเล่าเบื้องหลังการดีไซน์นิทรรศการ Visionary Journeys ของ Louis Vuitton ที่ LV The Place Bangkok

 

ผมว่าทุกคนพอรู้ในระดับหนึ่งว่า Louis Vuitton คืออะไร แต่ในขณะเดียวกันผมเองก็ไม่ชัวร์แบบ 100% ถึงรายละเอียดและประวัติของแบรนด์ที่แน่ชัด ซึ่งพอผมได้ทำนิทรรศการ Visionary Journeys ของ LV The Place Bangkok ก็รู้เลยว่าแบรนด์ Louis Vuitton น่าสนใจมาก แต่ก็จะท้าทายตัวผมเหมือนกัน  เพราะแม้ทุกอย่างจะต้องย้อนกลับไปสู่จุดแรกเริ่มของแบรนด์กับการคิดค้นทรังก์ และกระเป๋า แต่มาวันนี้ Louis Vuitton ถูก Diversify ไปแล้วจนกลายเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ก็ว่าได้ ผมเลยต้องคิดว่าเราจะเล่าทุกแง่มุมอย่างไรให้ครบถ้วน ซึ่งก็ไม่ง่ายเลย

 

มากไปกว่านั้น Louis Vuitton เคยทำนิทรรศการอื่นๆ มามากมาย ซึ่งก็ท้าทายผมอีก แต่ผมก็ตื่นเต้นว่าเราจะใช้ตัวพื้นที่ที่ได้มอบหมายมาอย่างไร และทำให้นิทรรศการออกมาแบบไหนเพื่อสะท้อนตัวตนของแบรนด์ในยุคปัจจุบันที่ทาง Pietro Baccari (ซีอีโอของ Louis Vuitton) กำลังสร้างขึ้นมา และคุณรู้ไหม Baccari โทรหาผมเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอ ซึ่ง Visionary Journeys ไม่ใช่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกสร้างไว้ก่อนที่ผมจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่กลับเป็นกลยุทธ์ที่ผมได้มีส่วนคิดด้วยเพื่อจะช่วย Build Identity ของ Louis Vuitton ในวันนี้และวันข้างหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก

 

แต่ในส่วนระยะเวลาที่ใช้ทำนิทรรศการ Visionary Journeys ตั้งแต่ต้นจนจบนั้นนานขนาดไหน

 

น่าจะประมาณ 1 ปี ซึ่งผมก็รู้สึกนานกว่านั้นเยอะเลยนะ (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้ทำแค่โปรเจกต์นี้ที่กรุงเทพฯ และเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกขั้นตอนจริงๆ ซึ่งก็น่าตื่นเต้นสำหรับสถาปนิกอย่างผม เพราะหลายครั้งเรามักถูกแค่จ้างมาดีไซน์ร้านค้าหรือองค์ประกอบโดยรวมของนิทรรศการเท่านั้น

 

เมื่อคุณได้มาดีไซน์นิทรรศการ กรุงเทพฯ มีอะไรที่แตกต่างจากหัวเมืองใหญ่ เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน หรือโตเกียว

 

ผมว่ากรุงเทพฯ มีพลังงานอยู่ในตัวที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ซึ่งแน่นอนนิวยอร์กหรือลอนดอนก็มี แต่นั่นเป็นเมืองที่ Establish มากๆ และเราก็คุ้นเคยกันดีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่การมาที่กรุงเทพฯ แต่ละครั้งผมกลับรู้สึกว่าเมืองนี้มีพลังงานบางอย่างที่พยายามทำอะไรใหม่ในแบบที่ไม่เหมือนแต่ก่อนและมองไปข้างหน้าอยู่เสมอ ซึ่งพลังงานนี้แหละที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผม

 

อุรัสยา เสปอร์บันด์, แบมแบม กันต์พิมุกต์ และ มาริโอ้ เมาเร่อ ที่นิทรรศการ Visionary Journeys

 

และคุณมีมุมมองอะไรต่อภาพรวมของกรุงเทพฯ ในยุคที่เรากำลังเติบโตไปเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของโลกด้านศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร และลักชัวรี

 

อาจเป็นเรื่องส่วนตัว แต่หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ของผมเกษียณ พวกเขาได้ย้ายมาอยู่ที่หัวหินกว่า 15 ปี ซึ่งพวกเขารักประเทศไทยมาก แต่สำหรับตัวผมเองมองว่ากรุงเทพฯ มีเลเยอร์แบบสามมิติ (Three-Dimensional Layering) กับการยกระดับพื้นดิน มีสะพาน มีทางด่วน มีตึกสูง และมีการใช้พื้นที่ดาดฟ้าเยอะ คล้ายกับที่ฮ่องกงและโตเกียว แต่กรุงเทพฯ Intense กว่า ซึ่งผมชอบมาก

 

ในขณะเดียวกันผมว่าทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีความ Global มากยิ่งขึ้น เชิงพาณิชย์ขึ้น แต่ก็ Sophisticate มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เลยทำให้การ Layering ของเมืองมันมีความผสมผสานส่วนเก่าและส่วนใหม่เข้าด้วยกัน บางพื้นที่ยังมีความ Authentic แบบดั้งเดิม ส่วนบางที่ก็มีความสากลขึ้น ซึ่งถือเป็นความแตกต่างแต่กลับอยู่ร่วมกันได้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่มีเสน่ห์

 

มากไปกว่านั้น เพราะผมได้มาเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่บ่อยมากและมาเองด้วย ผมว่าคนไทยเป็นคนจิตใจดีและมองโลกในแง่ดี แต่พวกคุณก็อยู่ในเมืองที่มีความล้ำสมัย (Futuristic) และดิสโทเปียนิดๆ ด้วยกับตึกสูงและผังเมือง ซึ่งการที่สองสิ่งนี้มาอยู่ด้วยกันได้ ผมว่าทำให้กรุงเทพฯ แตกต่าง

 

ห้อง Collaborations ที่นิทรรศการ Visionary Journeys 

 

ห้อง Iconic Bags ที่นิทรรศการ Visionary Journeys 

 

ความทรงจำแรกของคุณเกี่ยวกับ Louis Vuitton คืออะไร

 

ผมเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแฟชั่นเป็นอะไรที่ไกลตัวผมมากๆ แต่ผมเกิดในปี 1973 และโตมาในยุค 80 ที่เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู ผมเลยเริ่มเห็นหลายคนมีกระเป๋าของ Louis Vuitton

 

แต่มากไปกว่านั้นผมเคยเป็นเพื่อนกับ Virgil Abloh (อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Louis Vuitton Men’s ซึ่งเสียชีวิตในปี 2021) เพราะเขาเคยศึกษาด้านสถาปนิกมาก่อน ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมได้รู้จักแบรนด์ Louis Vuitton มากยิ่งขึ้น

 

คุณคิดว่า Louis Vuitton แตกต่างกับแบรนด์อื่นๆ ที่เคยร่วมงานด้วยอย่างไร

 

ผมว่า Louis Vuitton มีเรื่องราวของ Innovation มาตลอด ตั้งแต่การคิดค้นทรังก์ใส่ของ การทำลวดลายโมโนแกรมที่ถูกจดลิขสิทธิ์ หรือจะเป็นเรื่องของคอลลาบอเรชันที่แม้ทุกวันนี้เกือบทุกแบรนด์ก็ทำกันอย่างบ้าคลั่ง แต่ Louis Vuitton เป็นแบรนด์แรกๆ ที่เริ่มทำและปฏิวัติวงการแฟชั่น เพราะเราได้เห็นการร่วมงานกับแต่ละศิลปินจริงๆ

 

มากไปกว่านั้นผมว่า Louis Vuitton ไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ ‘แบรนด์แฟชั่น’ แล้ว แต่เป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เหมือนกับมีพิพิธภัณฑ์ Fondation Louis Vuitton ที่ปารีส หรือจะเป็น LV The Place Bangkok ที่นี่ ก็ถือว่าเป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

เจเจ กฤษณภูมิ, ริว วชิรวิชญ์ และ ไอซ์ พาริส ที่นิทรรศการ Visionary Journeys 

 

คุณคิดว่าในปี 2024 อะไรคือสิ่งที่นิทรรศการแฟชั่นถือว่ายอดเยี่ยม

 

ผมว่านิทรรศการแฟชั่นที่ดีคือนิทรรศการที่ทางแบรนด์กล้าท้าทายตัวตนของตัวเอง เพราะส่วนมากนิทรรศการแฟชั่นมักพูดถึงความสำเร็จของแบรนด์และเคยทำอะไรมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้กล้าผลักดันกรอบความเป็นไปได้ของตัวเองและบาลานซ์เรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้อย่างลงตัว

 

ประเด็นที่สองคือ ผมว่านิทรรศการแฟชั่นยุคนี้ควรเปิดโอกาสสร้างแพลตฟอร์มที่ผสมผสานหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ศิลปะ ดีไซน์ หรือแม้แต่อาหาร เพื่อทำให้เห็นว่ามันมีมากไปกว่าแค่แฟชั่น พร้อมเป็นการหล่อหลอมสิ่งต่างๆ ในวัฒนธรรมเชิงความคิดสร้างสรรค์ให้มารวมตัวกัน

 

ตอนดีไซน์นิทรรศการนี้ คุณได้นึกถึงการใส่ความ Immersive ของพวกเทคโนโลยีไหม เพื่อให้คนอยากจะมาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

 

ผมไม่อยากให้คนมองว่าเรื่องความ Immersive ต้องมาจากเทคโนโลยีหรือพวกจอ LED ที่อยู่รอบตัวนิทรรศการ เพราะอย่างเช่นกับห้องแรกสุดผมพยายามที่จะผสมผสานสิ่งของที่จับต้องได้ แต่ในรูปแบบใหม่ อย่างพวกทรังก์ใส่ของ เราอยากสร้างมิติใหม่ที่สื่อสารว่ามันไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นเท่านั้น แต่มันก็เบาและแข็งแรงพอที่จะนำมาขึงในอากาศเพื่อสร้างเป็นโค้งทางเดิน โดยเรา Wrap ห้องนั้นด้วยจอ LED ที่ฉายภาพทิวทัศน์ของเมือง ซึ่งผมมองว่ามันคือการหาบาลานซ์ที่เหมาะสม และทำให้เห็นว่าที่จริงแล้วประสบการณ์แบบนี้เราต้องมาเห็นคุณค่าด้วยตาของเราเอง ไม่ใช่จากจอมือถือ

 

เจ้านาย จินเจษฎ์, เฟย์ พรปวีณ์ และ พลอย หอวัง ที่นิทรรศการ Visionary Journeys 

 

แล้วคุณคิดว่านิทรรศการแฟชั่นกับนิทรรศการรูปแบบอื่นแตกต่างกันอย่างไร

 

ผมว่าสุดท้ายแล้วเสื้อผ้าและแฟชั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องอยู่ด้วยและสวมใส่ทุกวัน ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยถ้าเรามองอย่างนิทรรศการศิลปะ มันเป็นอะไรที่แอ็บสแตรกต์กว่า ที่พูดถึงความรู้สึกของตัวศิลปินและแฝงไปด้วยปรัชญาของเขา แต่ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องมาใส่หรือสัมผัส แถมผมมองว่านิทรรศการแฟชั่นมีความท้าทายที่ต้องเพิ่มเรื่อง Credibility และ Storytelling เข้าไปอีกขั้น ที่จะบอกเล่าว่าแต่ละไอเท็มถูกดีไซน์มาในยุคไหนและยุคนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

นิทรรศการของ Louis Vuitton ชื่อ Visionary Journeys ผมเลยอยากรู้ว่า Visionary คนไหนที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตของคุณ

 

มีหลายคนมากๆ แต่ก็ต้องเริ่มด้วย Stanley Kubrick เพราะตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นผู้กำกับมาก แต่ไม่รู้จะเป็นได้อย่างไรในประเทศญี่ปุ่น ผมเลยเลือกเป็นสถาปนิกที่ก็มีความคล้ายกัน เพราะหน้าที่ของคุณคือการสร้างบรรยากาศร่วมกับหลายคนหลายภาคส่วน และมีอีกหลายคนด้วย เช่น Akira Kurosawa หรือจะเป็น Rem Koolhaas ที่เป็นเมนเทอร์ของผม ส่วนถ้าเป็นพาร์ตของแฟชั่นก็มี Rei Kawakubo

 

อยากฝากอะไรกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีคุณเป็นแรงบันดาลใจ

 

ผมว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับการที่มนุษย์ทั่วโลกจะมีโอกาสทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าคุณอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผมแนะนำให้เดินทางไปทุกที่และซึมซับหลากหลายวัฒนธรรมเพื่อที่จะเปิดรับสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยผมรู้นะว่าสมัยนี้หลายคนจะชอบพูดในทำนองที่ว่าคนเราต้องมีแนวคิดเป็นของตัวเอง แต่ผมกลับคิดว่าถ้าคุณเปิดรับมากขึ้นที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น ผมว่าสิ่งนี้แหละจะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของคุณหนักแน่นขึ้น

 

 

ภาพ: Courtesy of Louis Vuitton

FYI
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X