×

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่แจง งบแก้ฝุ่นยังไม่ออก เงินทอนเป็นศูนย์ ชี้ประกาศภัยพิบัติไม่เกิดประโยชน์ต่องบหน่วยราชการ

โดย THE STANDARD TEAM
17.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 มีนาคม) นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ภาพรวมการบริหารสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีถึงสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ใน 2 เดือนแรกเน้นไปที่ในพื้นที่เกษตร ดำเนินการไปแล้วเกือบ 100% ที่ไม่ให้เกิดการเผาเลย

 

สำหรับเดือนมีนาคม ได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปว่าพื้นที่ท้าทายจะถูกเปลี่ยนเป็นป่า โดยจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าอยู่ถึง 90% เกือบ 12 ล้านไร่ ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้เกิดจุดความร้อนในป่ามากขึ้น จึงใช้วิธีดับให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดควันสะสม ซึ่งปีนี้เราสามารถทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลงถึง 70% ทำให้ไม่เกิดการสะสมของกลุ่มควันที่เราผลิตขึ้นเองมาเองซ้ำเติมกับฝุ่นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ทั้งนี้ สิ่งที่เราจะทำต่อไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนหนึ่งที่กระทรวงทรัพย์ฯ จะจัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ, กรมป่าไม้ฯ จ้างคนที่มีอาชีพหาของป่าที่มีความชำนาญเข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่าเกือบ 2,000 กว่าคน ขณะนี้จังหวัดอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบกลางจากรัฐบาล ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงบประมาณ เราก็จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเพิ่ม ดูแลทุกช่องทางการเข้าป่า และเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนถึงฤดูฝน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีผู้กังวลถึงความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณ นิรัตน์ย้อนถามว่าจะเอาอะไรมาไม่โปร่งใส ในเมื่อวันนี้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 ยังไม่ออก เรายังไม่มีเงินใช้ ซึ่งจังหวัดอยู่ระหว่างของบไปยังรัฐบาล เงินยังไม่อนุมัติมา เพราะฉะนั้นเรื่องความไม่โปร่งใส การใช้งบประมาณถือว่าเป็นศูนย์ เพราะยังไม่มีงบให้ใช้ อย่าเพิ่งไปถามหาความไม่โปร่งใสหรือทุจริต

 

“ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้ไม่มีงบเราทุกคนก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ป้องกันการเผา ในเดือนนี้มีการเผาเยอะ เราก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการดับไฟให้เร็วที่สุด ให้เกิดควันน้อยที่สุด ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

 

ส่วนเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจากสถานการณ์ฝุ่น และข้อเรียกร้องงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น นิรัตน์กล่าวว่า หากใครคุ้นเคยจากสถานการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องประกาศภัยพิบัติ คือสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นสถานการณ์ขนาดใหญ่ และระเบียบเงินทดรองราชการของกระทรวงการคลัง ก็เขียนไว้ชัดว่ามีรายการที่ระบุว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง

 

แต่สำหรับภัยที่เป็นฝุ่น PM2.5 ในระเบียบเงินทดรองราชการ กระทรวงการคลัง ไม่มีเขียนไว้ว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากค่าน้ำมันรถเจ้าหน้าที่ ระเบียบเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการประกาศภัยพิบัติเพื่อสู้ฝุ่นไม่เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ จึงไม่มีความจำเป็น หรือมีน้ำหนักมากเพียงพอ หรือเป็นสิ่งจูงใจว่าเราต้องประกาศ เพื่อให้นำเงินมาใช้เพราะไม่เกิดประโยชน์อยู่แล้ว ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข เมื่อพระราชบัญญัติอากาศสะอาดและกฎหมายลูกผ่านออกมา ที่มีการพูดถึงข้อจำกัดของระเบียบเงินทดรองราชการหรืองบฉุกเฉินฯ ที่ท่านว่า เพราะประกาศไปก็ใช้ไม่ได้จริง สำหรับภัยพิบัติฝุ่นจึงจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด และกฎหมายลูกที่จะมีค่าใช้จ่ายออกมา

 

นิรัตน์กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้จังหวัดทำอย่างไรนั้น ขั้นแรกได้ปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอของบกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กรุณาอนุมัติงบกลาง ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลเห็นความจำเป็น ส่วนหนึ่งจะมาจ้างคนไปดูแลป่า ซึ่งทางจังหวัดก็ได้ขออนุมัติงบกลางไปยังคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ เราจะมาเติมเต็มในส่วนที่คนของกระทรวงทรัพย์ฯ ยังจ้างไม่หมด จ้างเพิ่ม และหน่วยงานที่เดินเท้าเข้าป่า น้ำมันรถ ไม่ได้ขอมาซื้อของ หรือซ่อมถนน หรือที่ไปกลัวว่าจะต้องมีเงินทอนต่างๆ

 

“ภัยพิบัติสู้ฝุ่นไม่มีบริษัทไหนมาขายของเพื่อการภัยพิบัติหรอก วัตถุประสงค์คือผมไม่ได้ขอมาซื้อหน้ากากอนามัยใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องเงินทอนต่างๆ ตัดไปได้เลย ผมระวังตัวและไม่อยากยุ่งกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ตั้งใจที่จะดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและอาสาสมัครที่อยู่กับเราเป็น 10,000 คน ให้เป็นกองทัพที่เดินด้วยท้อง มีอาหารให้เขากิน มีน้ำให้เขาแบกขึ้นไป มีเสบียง มีอุปกรณ์ มีไม้ดับไฟ มีรองเท้าที่กันไฟ จึงเป็นค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่านั้น เพื่อให้เขามีกำลังใจ ให้รู้ว่าเราได้ดูแลเขาที่ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไปสำลักควัน ไปเป็นลมแทนเรา” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

 

ส่วนข้อเรียกร้องว่าอยากให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ชี้ว่าเป็นหนึ่งในมติของคณะกรรมการควบคุมไฟป่าจังหวัด ซึ่งเป็นมติของที่ประชุม โดยส่วนตัวตนย้ำตลอดว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการจุดไฟเผาแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อเป็นมติที่ประชุมและมีหลักวิชาการป่าไม้เข้ามาอธิบาย ถ้าไม่ชิงจัดการเชื้อเพลิงไว้ก่อนและเกิดไฟลุกไหม้ ที่มีคนมาแอบจุดนอกเหนือแผน จะลุกไหม้ที่ไร้การควบคุมและจะเกิดไฟแบบแปลงใหญ่ 1,000 ไร่ หรือ 10,000 ไร่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ต้องยอมรับความจริงว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการป่าไม้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องยอมรับ แต่การอนุมัติให้มีการชิงเผาเป็นอำนาจแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น อบต. ไม่เคยมาถึงผู้ว่าฯ แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในช่วงอากาศปิด การระบายอากาศเป็นไปได้น้อย แน่นอนตนจะให้คำแนะนำว่าช่วงนี้ควรงดเว้นก่อน และตนได้ทำหน้าที่นี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตกบกพร่อง

 

ส่วนที่บางคนระบุว่าทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดับไฟเอง ยืนยันว่าตนก็ไปกับน้องทีมเชียงใหม่ที่มีหน้าที่ดับไฟป่า แต่เรียนด้วยความเคารพ การดับไฟป่าเป็นภารกิจที่อันตรายอย่างมาก เขาไม่ให้ผู้ที่ไม่ผ่านการฝึกไปดับไฟกับเขาง่ายๆ ไฟคือไฟร้อน และไม่คุยกับใคร เราไปไม่ถูกที่ไฟกระเด็นเข้าตัว ตนไปในทุกที่ที่น้องๆ ดับไฟอยู่ ไปให้กำลังใจ ส่งเสบียง ถ้าผู้ว่าฯ มีหน้าที่ดับไฟเองแล้วใครจะบริหารสถานการณ์ภาพรวม ใครจะสนับสนุน ใครจะตัดสินใจ ขาดอะไรที่วิทยุร้องขอมา มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะส่งกำลังหน่วยอื่นไปช่วย หรือใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าไปช่วย นี่คือบริหารงานที่ตนได้ทำในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และทำทุกวันไม่มีวันหยุด

 

“ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้ผ่านการฝึกดับไฟป่าที่ต้องใช้ทักษะ ใช้กำลัง ใช้ความอดทน ผมมีหน้าที่สนับสนุนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์กันไฟ รองเท้าทนไฟ หรือสนับสนุนในกรณีที่จุดดับไฟจุดแรกดับไม่ได้ จะส่งชุดอื่นเข้าไปอย่างไร มีหน้าที่ที่จะอำนวยการให้พนักงานดับไฟป่ากว่า 10,000 คนของเชียงใหม่ทำงานได้โดยไม่ติดขัด และดับไฟได้ทุกจุดภายในวันนั้น นี่คือหน้าที่ของตน” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising