จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวหลังวิกฤตโควิดขึ้นมาแตะระดับ 28 ล้านคนในปี 2566 ภาพรวมของอุตสาหกรรมก็ปรับตัวดีขึ้นจนใกล้เข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้ธุรกิจในเครือเซ็นทาราพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหลังจากความกดดันในช่วงที่ผ่านมา
เซ็นทารามีรายได้รวมอยู่ที่ 9,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับปี 2565 และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงิน (EBITDA) มากกว่าปี 2565 อยู่ 83% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของทั้งหมด (RevPAR) เพิ่มขึ้น 19% อยู่ที่ 4,141 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เดินหน้าเปิดโรงแรมใหม่ 5 แห่งในไทยและเวียดนาม รับการท่องเที่ยวฟื้นตัว
- ‘เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า’ โรงแรมแห่งแรกในญี่ปุ่น มีเสิร์ฟอาหารไทยเป็นมื้อเช้า และรถตุ๊กตุ๊กรับ-ส่งสถานีรถไฟ เล็งขยายไปที่ ‘เกียวโต’ ด้วย
ปี 2567 เป็นอีกปีที่ทางบริษัทเชื่อมั่นว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงอีกครั้ง เนื่องจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) จะอยู่ที่ 70-73% และจะมีรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยสูงสุดที่ 4,300 บาท รวมทั้งภาครัฐประเมินว่าจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางมาพักผ่อนในไทยสามารถมีได้มากถึง 35 ล้านคน ส่งผลให้หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างที่พักจำเป็นต้องขยายตัวตามด้วย ทั้งนี้ เป้าหมาย 35 ล้านคนก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลด้วย
“ปัจจัยที่จะทำประเทศไทยได้นักท่องเที่ยวตามเป้าจำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการฟรีวีซ่าก็เป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นสำคัญที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเพิ่ม” ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าว
ด้วยแนวโน้มนี้เครือเซ็นทาราจึงประกาศแผนขยายธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเมื่อคนจากหลายประเทศทั่วโลกกลับมาเดินทางสูงขึ้นอีกครั้ง โดยแผนในปี 2567 คือการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ 6 แห่ง แบ่งเป็นไทย 3 แห่ง สปป.ลาว 2 แห่ง และมัลดีฟส์ 1 แห่ง ดังนี้
- เซ็นทารา ไลฟ์ ละไม รีสอร์ท สมุย
- เซ็นทารา วิลลา เกาะพีพี
- เซ็นทารา ไลฟ์ สุราษฎร์ธานี
- โคซี่ เวียงจันทน์ น้ำพุ
- เซ็นทารา พลูมเมอเรีย รีสอร์ท ปากเซ
- เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์
‘เซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์’ หนึ่งโปรเจกต์สำคัญที่มีกำหนดเปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นโครงการส่วนแรกของเซ็นทาราบนเกาะมาเล อะทอลล์เหนือ โดยสามารถเดินทางเข้าถึงด้วยสปีดโบ๊ตเพียง 30 นาทีจากท่าอากาศยานนานาชาติเวลานา
“มัลดีฟส์เป็นหมุดหมายยอดฮิตที่หนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งน่าจะมีการเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีพฤติกรรมการใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงเป็นกลุ่มที่ช่วยให้ธุรกิจโรงแรมเราเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซัน” กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวถึงศักยภาพของมัลดีฟส์
ในฟากของการลงทุน ปี 2567 เป็นช่วงเวลาที่เครือเซ็นทาราใช้งบลงทุนกับสร้างสินทรัพย์ระยะยาว (CAPEX) มากกว่าปี 2566 ประมาณ 3 เท่า ซึ่งกันย์ย้ำว่าการเพิ่มงบลงทุนคาดว่าจะสามารถทำให้เกิดการเติบโตได้ราว 14-15% จากปีก่อน และมีเป้ารายได้ปี 2567 รวมฝั่งธุรกิจอาหารที่ 29,000 ล้านบาท
“ปีนี้เป็นปีของการสร้าง Future Growth ส่งผลให้การใช้งบลงทุนเพิ่มสูงขึ้นพอสมควร จากเดิมที่ 2,200 ล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็น 6,500-7,000 ล้านบาท” กันย์กล่าวเสริม
สำหรับส่วนของโรงแรมที่เปิดตัวไปแล้วในช่วงกลางปี 2566 อย่าง ‘เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า’ โรงแรมแห่งแรกของเซ็นทารา ณ ประเทศญี่ปุ่น ก็แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีจากผลตอบรับที่ดีตั้งแต่เปิดให้บริการ และในฤดูซากุระที่กำลังจะมาถึงทางโรงแรมก็มียอดจองเข้าพักกว่า 98% จนถึงกลางเดือนเมษายน
อีกหนึ่งประเทศที่เครือเซ็นทาราปักหมุดเอาไว้ก็คือเวียดนาม ที่ ณ ปัจจุบันทำสัญญารับบริการแล้ว 1 โรงแรม และกำลังจะตามมาอีก 8 ราย ซึ่งเหตุผลของการเลือกเวียดนามในสายตาของธีระยุทธให้เหตุผลไว้ว่าความสวยงามและลักษณะภูมิประเทศหลายจุดคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่การพัฒนาเชิงธุรกิจยังน้อยอยู่ ทำให้บริษัทมองว่าสิ่งนี้คือโอกาสที่ต้องคว้าเอาไว้
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่เครือเซ็นทารามั่นใจว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ บริษัทจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 100 แบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลกได้ภายในปี 2570