จีนกลับมาลงทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 37% ในปี 2023 โดยอินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่เทเม็ดเงินลงทุนไปมากที่สุด ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้จีนกำลังลงทุนในด้านพลังงานและเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอุตสาหกรรม EV เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แสดงให้เห็นว่า ในปี 2023 จีนกลับมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มูลค่ารวมเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 37% นอกจากนี้ โดยจำนวนนี้เป็นสัญญาก่อสร้างประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 14% จากปี 2022
ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยรวมจากทั่วโลก ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียเมื่อปีที่แล้วที่ลดลง 12% สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่ทั่วโลกลดการลงทุนในเอเชีย แต่จีนกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ลงทุนเพิ่มขึ้น
โดยการลงทุนส่วนใหญ่มุ่งไปที่ประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) สอดคล้องกับข้อมูลที่จัดทำโดย Christoph Nedopil ผู้อำนวยการสถาบัน Griffith Asia ที่ระบุว่า การลงทุนของจีนในประเทศที่ไม่ใช่ BRI ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 120 ล้านดอลลาร์ ลดลง 90% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022
Nedopil เปิดเผยกับ Nikkei Asia ว่า “พบแนวโน้มที่น่าสนใจในปี 2023 คือการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งผ่านการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีน”
จีนปักหมุดลงทุนในอินโดนีเซีย-อุตสาหกรรม EV
รายงานระบุว่า ประมาณ 50% ของการลงทุนของจีนไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อน ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้รับการลงทุนจากจีนรายใหญ่ รวมมูลค่าราว 7.3 พันล้านดอลลาร์
โดยดีลสำคัญคือการที่ TikTok เข้าซื้อกิจการ Tokopedia ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย 75% ในราคา 840 ล้านดอลลาร์
ในทางกลับกัน ฟิลิปปินส์ มองโกเลีย เมียนมา ปาปัวนิวกินี ทาจิกิสถาน และตุรกี กลับไม่พบการลงทุนที่เพิ่มขึ้นหรือโครงการก่อสร้างใหม่จากจีนเลย
การลงทุนจากจีนในด้านโลหะและเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว เช่น ลิเธียม และวัสดุแบตเตอรี่ เช่น นิกเกิลสำหรับ EV ก็ปักหมุดอยู่ที่อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และบังกลาเทศ โดยการลงทุนดังกล่าวสูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 130% จากปี 2022
สำหรับการลงทุนที่โดดเด่นในภาค EV ได้แก่ การร่วมทุนระหว่าง Zhejiang Huayou Cobalt และ LG Chem ในเกาหลีใต้ และการตั้งโรงงานของผู้ผลิตรถยนต์จีนในประเทศต่างๆ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย
อ้างอิง: